กรมการแพทย์ แนะผู้สูงอายุระวังโรคข้อเข่าเสื่อม ส่วนหนุ่มสาวควรปรับพฤติกรรม

วันนี้ (7 ธ.ค. 65) นายแพทย์ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เผยข้อมูลเกี่ยวกับโรคข้อเข่าเสื่อมในผู้สูงอายุซึ่งมักพบได้บ่อย ที่ควรให้ความสำคัญเรื่องนี้ เพื่อดูแลผู้สูงอายุให้ถูกวิธี เนื่องจากผู้สูงวัยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับวัยที่สูงขึ้นมักมีการเสื่อมถอยของร่างกาย จึงทำให้เกิดโรคข้อเข่าเสื่อมได้ง่าย ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง อาจเพิ่มระดับความรุนแรงของโรค และมีผลกระทบกับชีวิตประจำวันได้
นายแพทย์ณัฐพงศ์ กล่าวว่า “โรคข้อเข่าเสื่อมเป็นโรคที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ ที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โรคข้อเข่าเสื่อมเกิดจากการเสื่อมสภาพของเนื้อเยื่อรอบข้อ และการแคบของช่องระหว่างเข่า เนื่องจากการสูญเสียกระดูกอ่อนข้อเข่า ทำให้เกิดอาการปวดเข่า หัวเข่าบวมแดง เข่าตึงยึด มีเสียงในเข่า ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ เช่น การเดิน ลุกนั่ง ขึ้นลงบันได หากไม่ได้ทำการรักษาอาจเพิ่มระดับความรุนแรงของโรค และเพิ่มความเสียหายของข้อเข่า
บางรายที่มีอาการรุนแรงอาจอาจทำให้ขาโก่งผิดรูปได้ และสิ่งที่น่ากังวลเพิ่มขึ้นคือเมื่อเกิดอาการเจ็บปวดมาก ก็ยิ่งทำให้ต้องลดการเคลื่อนไหว เมื่อลดการเคลื่อนไหวก็ยิ่งทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแออาจทำให้ร่างกาย มีภาวะแทรกซ้อนของโรคต่างๆตามมาได้เช่นกัน ปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดโรคข้อเข่าเสื่อมนั้น มีหลายปัจจัย อาทิ พฤติกรรมที่สะสมจากการใช้ข้อเข่า ที่ไม่ถูกต้องตั้งแต่วัยหนุ่มสาว น้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น อายุที่มากขึ้นทำให้การซ่อมแซมกระดูกลดลง เป็นต้น”
นายแพทย์ทัศนชาติ จิตรีธาตุ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี 2 (รังสิต) กล่าวว่า “สำหรับระดับอาการของโรคข้อเข่าเสื่อมนั้น เริ่มแรกจะมีอาการเจ็บปวดข้อเล็กน้อย มีอาการตึงของข้อเข่าเมื่อเปลี่ยนท่าทาง หัวเข่ามีเสี่ยงจาการเสียดสีของกระดูก แนะนำให้รีบพบแพทย์ตั้งแต่ระยะเริ่มแรกและเมื่อกระดูกอ่อนเริ่มสึกกร่อนมากขึ้น เกิดเสียงในเข่าเพิ่มขึ้น มีอาการหมอนรองกระดูกเสียหายมากขึ้น และกล้ามเนื้อมีความแข็งแรงลดลง ทำให้เกิดการเจ็บปวดมากขึ้น
หากปล่อยโดยไม่มีการเข้าพบแพทย์ เพื่อทำการรักษาจะยิ่งเพิ่มความรุนแรงของโรค กระดูกเริ่มหลุดร่อน มีรอยแตกมากขึ้น เกิดกระดูกงอกขนาดใหญ่จำนวนมากในบริเวณข้อเข่า กล้ามเนื้อรอบเข่าอ่อนแรงช่องแคบในเข่าชิดติดกัน จะทำให้มีอาการเจ็บปวดมาก ข้อเข่าผิดรูป ขาโก่งออก เข่าบวมโต ดังนั้นขอเน้นย้ำว่าควรเข้าพบแพทย์ทันที ที่มีอาการข้อเข่าเสื่อมในระยะเริ่มแรก สำหรับการรักษานั้นมีหลายวิธีขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของโรค มีทั้งการใช้ยารักษาเพื่อควบคุมอาการของโรค การฉีดยารักษา การทำกายภาพบำบัด และการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม”
