HEALTH

“ร้านยาชุมชน” หัวใจสำคัญลดความแออัดใน รพ.

ดร.ภญ.นพคุณ ธรรมธัชอารี ผู้จัดการงานวิจัย สวรส.ร่วมกับ ผศ.ดร.สมหมาย อุดมวิทิต คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เครือข่ายวิจัย สวรส.เผยข้อมูลล่าสุด เกี่ยวกับ “โครงการวิจัยแนวทางและความเป็นไปได้ ในการถ่ายโอนบริการด้านยาจากโรงพยาบาล สู่ร้านยาในชุมชน” เนื่องจากสวรส.มีเป้าหมายเพื่อศึกษา ความต้องการของประชาชน และแนวทางในการขยายการให้บริการด้านยา จากโรงพยาบาลไปสู่ร้านยาชุมชน ตลอดจนประเมินต้นทุนจากการขยายรูปแบบการให้บริการดังกล่าว ซึ่งข้อเสนอจากงานวิจัย จะช่วยสนับสนุนให้เกิดการให้บริการในระดับปฐมภูมิ ที่มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น และส่วนหนึ่งเพื่อลดการรับ และแพร่เชื้อโควิด-19 ในโรงพยาบาล ซึ่งการรับยาที่ร้านยา นับเป็นทางเลือกที่ประชาชน ยังสามารถได้รับการดูแลสุขภาพที่มีคุณภาพ

ดร.ภญ.นพคุณ กล่าวว่า “การรับยาที่ร้านยา นอกจากช่วยสนับสนุน เรื่องการลดความแออัดในโรงพยาบาลแล้ว ยังเพิ่มความสะดวกให้กับผู้ป่วย ด้วยบทบาทการดูแลสุขภาพ ของเภสัชกรร้านยา ซึ่งถือว่าเป็นการจัดการให้เกิดระบบ ที่มีการใช้ทั้งทรัพยากรและบุคลากร ในระบบสุขภาพอย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพ เพราะเภสัชกรไม่ใช่เป็นแค่เพียงคนขายยาเท่านั้น แต่เป็นผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านยา ที่สามารถให้คำแนะนำ เพื่อให้เกิดการรักษาและดูแลสุขภาพอย่างถูกต้อง เพราะฉะนั้นการกระตุ้นให้เกิด การใช้ศักยภาพให้เต็มที่ของเภสัชกรที่ร้านยา สามารถช่วยลดภาระของบุคลากรในโรงพยาบาล และลดความแออัดในโรงพยาบาลได้เป็นอย่างดี แม้ปัจจุบันเภสัชกรที่ร้านยาจะมีความตื่นตัว และพัฒนาบทบาทด้านการบริบาล ทางเภสัชกรรมมากขึ้นแล้วก็ตาม แต่ข้อมูลเชิงประจักษ์ จากงานวิจัยจะช่วยสนับสนุน ให้การพัฒนา เชิงระบบในเรื่องต่างๆ มีความเป็นไปได้ของการนำไปปรับปรุง แนวทางการดำเนินงานที่เกี่ยวข้อง และสามารถตอบโจทย์ปัญหาที่เป็นอยู่ได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งงานวิจัย “แนวทางและความเป็นไปได้ ในการถ่ายโอนบริการด้านยาจากโรงพยาบาลสู่ร้านยาในชุมชน” เป็นอีกหนึ่งงานวิจัยที่ สวรส. มีเป้าหมายเพื่อศึกษาความต้องการของประชาชน และแนวทางในการขยายการให้บริการด้านยาจากโรงพยาบาลไปสู่ร้านยาชุมชน

ตลอดจนประเมินต้นทุนจากการขยายรูปแบบการให้บริการดังกล่าว ซึ่งข้อเสนอจากงานวิจัยจะช่วยสนับสนุนให้เกิดการให้บริการ ในระดับปฐมภูมิที่มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น ดังนั้นหัวใจหนึ่งที่สำคัญของการพัฒนาแนวทาง การให้บริการด้านยาที่ร้านยาชุมชนคือ การรู้ถึงความต้องการของประชาชน รวมทั้งปัจจัยและสาเหตุที่ส่งผล ต่อการตัดสินใจให้ประชาชนมารับยาที่ร้านยา ตลอดจนการประเมินต้นทุน ที่เกิดขึ้นกับร้านยาที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งข้อมูลดังกล่าวถูกสะท้อนผ่านงานวิจัย

ด้าน ผศ.ดร.สมหมาย ให้ข้อมูลว่า “ปัจจุบันร้านยาชุมชนมีบทบาท การให้บริการมากกว่าการจำหน่ายยา โดยมีการให้บริการทางด้านสุขภาพ เช่น การชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง วัดความดันโลหิต เป็นต้น นอกจากนี้ บางร้านยามีการจัดทำสมุดบันทึกประวัติผู้ป่วย,ช่วยคัดกรองโรคเบื้องต้น, จ่ายยากรณีที่อาการไม่รุนแรง,ให้คำแนะนำเรื่องการคุมกำเนิด และจ่ายยาแทนโรงพยาบาล เพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาล เช่น เบาหวาน ความดันสูง ส่วนความต้องการในการรับบริการของประชาชน จากการสำรวจผู้ใช้บริการจำนวน 255 ราย ในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล พบว่าส่วนใหญ่พบปัญหาความแออัดในโรงพยาบาล โดยร้อยละ 84.30 เป็นการรอพบแพทย์นาน และ
ร้อยละ 74.10 เป็นการรอรับยานาน”

สำหรับพฤติกรรมการใช้บริการร้านยา ผู้รับบริการส่วนใหญ่มีการไปร้านยา 2-3 เดือนต่อครั้ง และมักไปร้านยาที่ใกล้บ้าน/ใกล้ที่ทำงานเป็นหลัก ด้านความต้องการบริการเพิ่มเติมจากร้านยา บริการที่ต้องการสูงสุดคือ การตรวจคัดกรองโรคเบื้องต้น รองลงมาคือการดูแลและรับยาต่อเนื่อง ในโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง และการดูแลฉุกเฉินด้านต่างๆที่เกี่ยวกับยา รวมไปถึงการฉีดวัคซีน นอกจากนี้ ผู้ใช้บริการกว่าร้อยละ 80 มีความต้องการไปรับยาที่ร้านยา แต่ร้อยละ 75 ยังไม่ทราบรายละเอียดของโครงการรับยาที่ร้านยา ส่วนปัจจัยที่ทำให้ประชาชน มีแนวโน้มจะมารับยาที่ร้านยาคือ ปัญหาความแออัดและการรอรับยา เป็นเวลานานที่โรงพยาบาล การมีร้านยาใกล้บ้านเข้าร่วมโครงการขั้นตอนไม่ยุ่งยากและสะดวก ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย

“สำหรับการขยายบริการด้านยาของร้านยาชุมชน และต้นทุนที่เกิดขึ้น ทั้งนี้จากการสัมภาษณ์เภสัชกรร้านยาชุมชน เครือข่ายองค์กรที่เกี่ยวข้อง อาทิ สภาเภสัชกรรม สมาคมร้านยา และสมาคมเภสัชกรรมชุมชน เจ้าหน้าที่และผู้บริหารโรงพยาบาล ที่เข้าร่วมโครงการรับยาที่ร้านยา พบว่าทุกกลุ่มที่สัมภาษณ์มีความเห็นตรงกันว่า รูปแบบการให้บริการที่ร้านยา ที่สามารถถ่ายโอนหรือจัดเป็นบริการเสริมจากโรงพยาบาลมาสู่ร้านยาในชุมชน ได้แก่ 1.การวัดความดัน 2.การวัดระดับน้ำตาลในเลือด 3.การจัดส่งยาถึงบ้าน 4.การให้คำปรึกษาเกี่ยวกับเรื่องยาและดูแลการจัดยาให้เหมาะสมกับผู้ป่วย 5.การอธิบายผลข้างเคียงของยา และการติดตามอาการไม่พึงประสงค์ของยา 6.การให้คำปรึกษาผ่านอีเมล/โทรศัพท์/ช่องทางอื่นๆ 7.การตรวจคัดกรองโรคเบื้องต้น 8.การรักษาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง

ส่วนแนวทางในการดำเนินโครงการรับยาที่ร้านยา ที่น่าจะเกิดประโยชน์กับทุกฝ่ายมากที่สุดคือ การที่ร้านยาเป็นผู้จัดซื้อยา สำรองยา และจ่ายยาให้กับผู้ป่วย แล้วเบิกค่าใช้จ่ายจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ตามเกณฑ์ที่ สปสช. กำหนด เนื่องจากโมเดลนี้ช่วยลดต้นทุนค่าขนส่งยาของโรงพยาบาลแม่ข่าย และร้านยามีความคล่องตัว ในการบริหารจัดการ แต่อย่างไรก็ดี ภาครัฐควรเจรจากับบริษัทตัวแทนจำหน่ายยา ให้ร้านยาสามารถซื้อยาในราคาเท่ากับที่โรงพยาบาลจัดหา กรณีต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ร้านยาชุมชนทุกร้านที่สำรวจ เห็นตรงกันว่าต้นทุนค่าเสียโอกาส ซึ่งหมายถึงรายได้ที่หายไปของร้านยา ที่มาจากเวลาในการให้บริการที่เพิ่มขึ้น อยู่ในช่วง 6.25-10.42 บาท/คน/ครั้ง ตามขนาดและทำเลของร้านยา ทั้งนี้ในภาพรวมภาครัฐอาจสนับสนุนค่าเสียเวลาในการให้คำปรึกษาและให้บริการ กรณีรวมค่ายาด้วย ประมาณ 187.50-312.50 บาท/คน/ครั้ง กรณีไม่รวมค่ายา จ่ายเฉพาะค่าคัดกรองและให้คำปรึกษา ประมาณ 65.00-109.50 บาท/คน/ครั้ง ทั้งนี้ตัวเลขการประเมินดังกล่าว เป็นการประเมินที่คิดจากกำไรที่หายไปร้อยละ 35 ของร้านยา

“ส่วนรูปแบบการให้บริการของร้านยาชุมชน ควรขยายบริการโดยทำหน้าที่ เป็นหน่วยคัดกรองและให้คำปรึกษา โดยบริการที่ควรให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกๆ คือการคัดกรองโรคเบื้องต้น เช่น ปวดหัว ตัวร้อน โรคผิวหนัง ตลอดจนโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และการดูแลฉุกเฉินต่างๆ ที่เกี่ยวกับยา นอกจากนี้ควรมีการประชาสัมพันธ์ ให้ประชาชนรับรู้เรื่องการให้บริการที่ร้านยา โดยเฉพาะในกลุ่มที่ประสบปัญหาการรอรับยา เป็นเวลานานที่โรงพยาบาล โดยควรย้ำให้เห็นว่า คุณภาพยาที่จะได้รับจากร้านยาที่เข้าร่วมโครงการ มีคุณภาพไม่แตกต่างกับยาที่ได้รับจากโรงพยาบาล และยังช่วยให้ประชาชนประหยัดเวลา สามารถทำได้โดยง่ายและมีขั้นตอนไม่ยุ่งยาก ในอนาคตหากมีการพัฒนาระบบ การจัดการของร้านยาให้ตอบสนอง ความต้องการของประชาชนมากขึ้น มีการเชื่อมต่อเป็นเครือข่าย กับโรงพยาบาลอย่างเป็นระบบ และมีการกระจายตัวของร้านยาอย่างเหมาะสม คาดว่าจะนำไปสู่การการพัฒนา ระบบสุขภาพปฐมภูมิที่เข้มแข็ง และส่งผลให้ประชาชนได้รับความสะดวก ได้รับบริการที่มีคุณภาพ ปลอดภัย ดีทั้งต่อสุขภาพและดีต่อใจ”

Related Posts

Send this to a friend