HEALTH

กรมอนามัย เผยโลกเผชิญกับสถานการณ์ด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม กระทบการใช้ชีวิต

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า สถานการณ์สภาพแวดล้อมของโลกที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เกิดภาวะฉุกเฉิน สาธารณภัย และภัยพิบัติรุนแรงมากขึ้น กระทบต่อความเป็นอยู่และสุขภาพของประชาชน โดยไทยได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง อุทกภัย และภัยความร้อนจากอุณหภูมิที่สูงขึ้น

ช่วงเดือนเมษายน ที่ผ่านมานี้ จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีอุณหภูมิสูงสุดถึง 44.6 องศาเซลเซียส ซึ่งสูงสุดในประเทศไทย เกิดภาวะเจ็บป่วยทั้งลมแดด และร่างกายขาดน้ำจำนวนมาก นอกจากนี้ พบฝุ่นละอองขนาดเล็กหรือ PM2.5 ที่มีค่าเกินมาตรฐานในหลายจังหวัด และมีระยะเวลาเกิดมลพิษที่ยาวนานมากขึ้น

นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อว่า ปัญหาด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมที่ไทยต้องเผชิญอย่างต่อเนื่องคือ ปัญหาขยะ ทั้งจากประชาชนที่ใช้บริการเดลิเวอรี่มากขึ้น เกิดขยะจากบรรจุภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งปริมาณขยะอันตรายที่มีแนวโน้มสูงขึ้นจากการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาทดแทนของเดิม เกิดเป็นซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้า

กรมอนามัยจึงเตรียมความพร้อมรับมือการดำเนินงานด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมโดยใช้หลัก 2P2R ในการจัดการด้านการแพทย์และสาธารณสุขสำหรับกรณีภัยพิบัติและสาธารณภัย ประกอบด้วย

1) P: Prevention and Mitigation การป้องกันและลดผลกระทบ โดยเพิ่มระบบป้องกันและลดความเสี่ยงภัยสุขภาพที่อาจส่งผลกระทบต่อภาวะเจ็บป่วย หรือเสียชีวิต เช่น การสร้างห้องปลอดฝุ่นในครัวเรือนหรือชุมชน การยกพื้นหรือใช้วัสดุป้องกันน้ำท่วม เป็นต้น

2) P: Preparedness การเตรียมกำลังคนที่มีความรู้ ศักยภาพในการสนับสนุนการจัดสุขาภิบาล สุขอนามัย และอนามัยสิ่งแวดล้อมในช่วงเกิดภัยพิบัติ

3) R: Response การตอบโต้หรือเผชิญเหตุ สนับสนุนเจ้าหน้าที่ด้านส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม เน้นการเฝ้าระวังความเสี่ยง การปนเปื้อนเชื้อโรค สารเคมีในสิ่งแวดล้อม แหล่งอาหาร แหล่งน้ำที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนทั้งในชุมชนที่ประสบภัย และภายในศูนย์อพยพจากภัยพิบัติ

4) R: Recovery การฟื้นฟูหลังเกิด เน้นทบทวน และปรับปรุงระบบอนามัยสิ่งแวดล้อมที่เสียไปจากภัยพิบัติ เช่น ระบบประปา ระบบบำบัดน้ำเสีย ระบบเฝ้าระวังเฝ้าระวัง และจัดสภาพแวดล้อมสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ให้กลับสู่ภาวะปกติ

Related Posts

Send this to a friend