HEALTH

คกก.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เห็นชอบ ข้อเสนอขายเหล้าอย่างรับผิดชอบ

วันนี้ (4 ก.ค. 65) นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุม คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ครั้งที่ 2/2565 โดยมีผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบ 4 เรื่องหลัก คือ 1.การจัดกิจกรรมวันงดดื่มสุราแห่งชาติ ปี 2565 โดยพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ ทรงโปรดให้หม่อมหลวงสราลี กิติยากร เป็นผู้แทนพระองค์ในการเป็นประธานเปิดงานในวันที่ 7 กรกฎาคม 2565 ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชัน โดยในปีนี้มีโครงการเชิญ ชวน เชียร์ ลด ละ เลิกเหล้า และเข้าสู่ระบบบำบัดรักษาผ่านคิวอาร์โคดหรือ http://stopdrink.com/kaopansa65/ ซึ่งภายหลังการจัดงานจะมีการมอบโล่ประกาศเกียรติคุณแก่ชมรมอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านระดับจังหวัดที่ชวนประชาชนลงนามผ่านระบบออนไลน์มากที่สุด 10 รางวัล

2.เห็นชอบข้อเสนอเชิงนโยบาย เรื่องการสนับสนุนให้ผู้ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีการขายอย่างรับผิดชอบ โดยมอบคณะอนุกรรมการร่างและแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย พิจารณาการออกกฎหมายในรายละเอียดที่เกี่ยวข้องต่อไป

3.แนวทางการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระดับชาติ ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2565-2570) ลงสู่พื้นที่ มอบคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จังหวัดและกทม. จัดทำแผนและรายงานผลให้ทราบทุก 6 เดือน ซึ่งขณะนี้ แผนปฏิบัติการฯ อยู่ในขั้นตอนเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบ

4.คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีข้อห่วงใยต่อร่าง พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่…) พ.ศ. … หรือร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ที่มีสาระสำคัญคือเปิดให้รายย่อยสามารถผลิตและจำหน่ายสุรา โดยลดเงื่อนไขการขออนุญาตผลิต และให้สามารถผลิตสุราเพื่อบริโภคได้เองโดยไม่ต้องขออนุญาต ว่า คณะกรรมการฯ มีความห่วงใยต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ให้ศึกษาผลกระทบให้ครอบคลุมรอบด้าน เนื่องจากมีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดผู้ประกอบการรายใหม่ในตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะผู้ผลิตรายย่อยเป็นจำนวนมาก รวมทั้งผู้ผลิตเพื่อบริโภคเองภายในครัวเรือน จะทำอย่างไรเพื่อลดปัญหาหรือผลกระทบที่เกิดขึ้นจากนโยบายสุราก้าวหน้า (เสรี) ซึ่งควรต้องมีนโยบายหรือมาตรการที่เหมาะสมมารองรับ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ใช่สินค้าธรรมดา จำเป็นต้องมีการควบคุม เช่น จะทำอย่างไรให้มีมาตรการควบคุมคุณภาพการผลิตเพื่อบริโภคภายในครัวเรือนให้ได้มาตรฐาน ,ให้ความหนาแน่นของจำนวนใบอนุญาตไม่ให้มากจนเกินไป , การพัฒนาหลักเกณฑ์การออกใบอนุญาตฯ ให้มีเงื่อนไขและราคาที่มิให้ออกโดยง่ายจนเกินไป ควบคุมจำนวนใบอนุญาต และผลกระทบที่จะเกิดกับเด็กและเยาวชน

ส่วนกรณีการยกระดับความรับผิดชอบของผู้ขาย โดยเฉพาะร้านที่ขายแบบนั่งดื่ม (ร้านเหล้า ผับบาร์) ที่ประชุมเห็นว่า ควรต้องมีเงื่อนไขเรื่องใบอนุญาต เช่น ผ่านการอบรมเรื่องจริยธรรม สำนึกความรับผิดชอบของผู้ขาย และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และยกเลิกใบอนุญาตได้ เมื่อกระทำผิดหลักเกณฑ์, การพัฒนามาตรการเยียวยาเพื่อลดปัญหาหรือผลกระทบ โดยเฉพาะการจัดตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนการเลิกเหล้า ช่วยเหลือบำบัดฟื้นฟูผู้ติดสุรา และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่งนำรายได้หรือภาษีจากสุรามาใช้ เพื่อสร้างสมดุลทางนโยบาย และการพัฒนาปรับปรุงให้ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีประสิทธิภาพมากขึ้น ป้องกันไม่ให้เกิดปัญหากับบุคคล ครอบครัว ชุมชน และสังคม โดยจะมีการเสนอข้อมูลต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญต่อไป

Related Posts

Send this to a friend