HEALTH

คลินิก Smart NCD บริการลดยาและหยุดยา สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน-ความดันโลหิต รพ.บ้านตาขุน จ.สุราษฎร์ธานี

ได้รับเสียงชื่นชมในการรับมือ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน และโรคความดันโลหิต จนขยายผลไปสู่ 6 รพ.ชุมชนใน จ.สุราษฎร์ธานี ให้เข้ามาศึกษาดูงานเพื่อนำไปปรับใช้ สำหรับ “คลินิก Smart NCD” ที่ตั้งอยู่ใน รพ.ตาขุน จ.สุราษฎร์ธานี ที่ให้บริการลดยา และหยุดยา สำหรับผู้ป่วยเบาหวานและความดันโลหิต ภายใต้หลักที่คิดว่า “คนไข้เป็นเจ้าของสุขภาพ และจัดการสุขภาพด้วยตัวเอง” ที่ไม่เพียงก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง พฤติกรรมการใช้ชีวิต ที่เป็นสาเหตุของการเกิด 2 โรค NCD ดังกล่าว แต่ยังช่วยให้ผู้ป่วยสามารถควบคุมโรค ให้อยู่ในระดับสงบได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่พึ่งยา ที่สำคัญคลินิกแห่งนี้ ยังได้รับการสนับสนุน โดยสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย และกระทรวงสาธารณสุข

ที่มาของ “คลินิก Smart NCD” เกิดจากความร่วมมือของ บริษัท โรช ไดแอกโนสติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด แผนกธุรกิจเบาหวาน ได้ร่วมสนับสนุน รพ.บ้านตาขุน ในโครงการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผ่านระบบการจัดการภาวะเบาหวาน แบบบูรณาการเฉพาะบุคคล หรือ Personalised Diabetes Management (iPDM) โดยเครื่องมือดิจิทัลแพลตฟอร์ม ของโรช ไดแอกโนสติกส์ฯ ที่ชื่อว่า “โรช ไดอะบี-ทีส แคร์” ตั้งแต่ปี 2562 กระทั่งประสพความสำเร็จ และก่อตั้งเป็นคลินิกดังกล่าว ในปี 2563และประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดังกล่าว ในการดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวาน จนถึงปัจจุบัน

นพ. เอกพล พิศาล ผู้อำนวยการ รพ.บ้านตาขุน จ.สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า “สำหรับ คลินิก Smart NCD ใช้มาตรการที่ผสมผสานการศึกษา และการตรวจระดับน้ำตาลในเลือด จากเครื่องมือดิจิทัลที่สามารถดาวน์โหลดข้อมูล เชื่อมต่อกับเครื่องมือดิจิทัลแพลตฟอร์ม ที่ชื่อว่า “โรช ไดอะบี-ทีส แคร์” (Roche Diabetes Care) หรือซอฟแวร์ทางการแพทย์ สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ โดยมีเป้าหมายในการจัดการ ภาวะเบาหวานเฉพาะบุคคล ช่วยอำนวยความสะดวกในการสื่อสาร ระหว่างผู้ป่วย และบุคลากรทางการแพทย์ได้ เพื่อวางแผนการรักษาผู้ป่วยโรคเบาหวาน ที่นำมาสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ ที่ยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งทำให้โรคสงบ และนำมาสู่การลดและหยุดยาโรคเบาหวาน และโรคความดันโลหิตได้ในที่สุด”

ผู้อำนวยการ รพ.บ้านตาขุน บอกอีกว่าการรักษาโรคเบาหวานแบบเดิม โดยเฉพาะการที่แพทย์นัดผู้ป่วยมาพบทุกๆ 3 เดือน จากนั้นให้เจาะเลือด และนำยากลับไปรับประทาน ซึ่งจะทำให้ใช้เวลาในการตรวจพบโรคเบาหวาน นานขึ้นประมาณ 10 ปี ซึ่งจะทำให้ตับอ่อนของผู้ป่วยสูญเสียไปแล้วกว่า 50 % จึงจะรู้ว่าป่วย ซึ่งถือว่าเป็นโมเดลการรักษาโรคเมื่อ 30 ปีที่แล้ว แต่ปัจจุบัน คลินิก Smart NCD ได้นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย หรือที่เรียกกันว่าแพลตฟอร์ม “โรช ไดอะบี-ทีส แคร์” (Roche Diabetes Care) หรือซอฟแวร์ทางการแพทย์ ทั้งนี้จะทำให้แพทย์สามารถเช็คได้ว่า ค่าน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเป็นอย่างไร เพื่อนำมาซึ่งการวางแผนรักษา และดูแลสุขภาพได้ทันท่วงที และเป็นไปด้วยความยั่งยืน

อุปกรณ์เครื่องตรวจระดับน้ำตาลในเลือด ทำงานร่วมกับแพลตฟอร์ม โรช ไดอะบี-ทีส แคร์ อย่างไร?

นพ. เอกพล กล่าวว่า “เนื่องจากเครื่องตรวจระดับน้ำตาลในเลือด เป็นเครื่องมือดิจิทัลที่สามารถดาวน์โหลดข้อมูล เกี่ยวกับผลเลือดของผู้ป่วย ผ่านการเจาะเลือด และผลข้อมูลจะไปโชว์อยู่ที่หน้าจอมอนิเตอร์ ของแพลตฟอร์ม “โรช ไดอะบี-ทีส แคร์ดังกล่าว ซึ่งแพทย์มองเห็นค่าน้ำตาลในเลือดของผู้เช่น หากค่าน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วย ตอนเย็นสูงกว่าตอนเช้า ผมก็จะพูดคุยกับคนไข้ โดยการเสนอแนวทาง ของการรักษาโรคเบาหวานได้แก่ 1.แนะนำให้คนไข้เมื่อกินข้าวเสร็จแล้ว ให้เดินมากขึ้นกว่าเดิม หรือ ขยับร่างกายด้วยการทำกิจกรรมต่างๆ มากขึ้น 2.ลดข้าวเย็นลง 3.ลดการบริโภคข้าวมื้อกลางวันลงอีก หากต้องการกินข้าวเย็นมากกว่าปกติ 4.เพิ่มยาโรคเบาหวานตอนเช้า เนื่องจากผลเลือดตอนเย็นสูง ทั้งนี้ผมจะถามคนไข้ว่า เขาจะเลือกแบบไหน เพื่อให้เข้าวงจรของชีวิตของผู้ป่วยแต่ละคน”

“หรือแม้แต่หากตรวจพบค่าน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วย ระหว่างวันจันทร์กับวันอังคารต่างกัน เช่น ค่าผลเลือดวันจันทร์อยู่ที่ 170 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ส่วนค่าผลเลือดวันอังคารอยู่ที่ 94 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ดังนั้นการให้ยารักษาโรคเบาหวาน ในวันที่ค่าน้ำตาลลดลง หรือวันอังคาร จึงไม่ใช่การกินยาเบาหวาน เช้า กลางวัน หรือ เย็น เหมือนวันจันทร์ เป็นต้น ดังนั้นหลักของการรักษาโรคเบาหวานของ คลินิก Smart NCD จึง ถูกออกแบบโดยเฉพาะคนไข้ โรคเบาหวานแต่ละคน”

ผู้อำนวยการ รพ.บ้านตาขุน อธิบายอีกว่า สาเหตุที่ผู้ป่วยตรวจพบว่า น้ำตาลในเลือดตอนเย็นสูงกว่าตอนเช้า ส่วนหนึ่งเกิดจากไลฟ์สไตล์ของคนใต้ ที่มักจะรับประทานอาหาร 2 มื้อ เนื่องจากกินข้าวมื้อแรกตอนประมาณบ่ายโมง เพราะตอนเช้าจะดื่มน้ำชา หรือ น้ำร้อนและออกไปกรีดยาง จึงทำให้กินข้าวมื้อแรกตอนบ่ายโมง นั่นจึงทำให้ค่าน้ำตาลในเลือดตอนเช้าไม่สูงมาก ส่วนมื้อที่สองนั้นจะรับประทานอาหารเย็นเวลา 18.00 น.-19.00 น.จึงทำให้ค่าน้ำตาลในเลือดตอนเย็น สูงกว่าตอนเช้า เพราะรับประทานอาหารเย็น มากกว่าตอนเช้าที่ดื่มเพียงน้ำ

แอปพลิเคชั่น My Sugr ทำงานอย่างไร? ในกรณีที่ผู้ป่วยอยู่ในพื้นที่ห่างไกล เดินทางมา รพ.ไม่สะดวก

นอกจากนี้หากผู้ป่วยไม่สะดวกวอล์คอิน มาที่ รพ. เพื่อนำเครื่องเจาะเลือด ที่เป็นเครื่องมือดิจิตอล เพื่อดาวน์โหลดข้อมูล ไปเชื่อมต่อกับหน้าจอมอนิเตอร์ ของแพลตฟอร์ม “โรช ไดอะบี-ทีส แคร์” เพื่อให้แพทย์วินิจฉัยแล้วที่ รพ.แล้ว สามารถดาวน์โหลด แอปพลิเคชันที่ชื่อว่า My Sugr” ของบริษัท บ.โรช ไดแอกโนสติกส์ฯ โดยแอปพลิเคชั่นนี้จะทำงานร่วมกับ เครื่องเจาะเลือดดิจิตอล ที่ทาง รพ. ให้ผู้ป่วยนำกลับบ้านดังนี้

1.ตั้งแต่การบันทึกค่าน้ำตาลในเลือด พร้อมกับกำหนดรูปแบบมื้ออาหาร

2.ประเมินค่าน้ำตาลเฉลี่ยสะสม

3.แปลผลแบบต่อเนื่องด้วยกราฟ

4.แบบทดสอบต่างๆ ที่ช่วยกระตุ้นให้คุณเข้าใจการดูแล โรคเบาหวานด้วยตัวเอง

5.สามารถแชร์ข้อมูลสุขภาพหรือผลเลือด ไปยังแพลตฟอร์ม “โรช ไดอะบี-ทีส แคร์” เพื่อให้แพทย์วินิจฉัย ที่ รพ.ได้เช่น และมีการโทรศัพท์ไปพูดคุย เพื่อนำมาซึ่งการปรับพฤติกรรมของคนไข้ เปลี่ยนมารับประทานข้าวกล้อง แทนข้าวขาว และหลังจากกินข้าวแล้ว ผู้ป่วยต้องหมั่นเดิน หรือขยับร่างกายให้มากที่สุด เป็นต้น

ผลสำเร็จของ คลินิก Smart NCD เกิดขึ้นได้จากอะไร? และนำไปสู่การลด-หยุดยาเบาหวาน และยาความดันโลหิตสูงได้อย่างไร?

นายมิไฮ อีริเมสซู Cluster Head Asia Emerging Market โรช แผนกธุรกิจเบาหวาน กล่าวว่า “การจับมือระหว่างผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ดูแล และผู้ให้บริการด้านการดูแลสุขภาพ เป็นสิ่งสำคัญสำหรับการตัดสินใจในการรักษา โดยที่เรากำลังใช้แนวทางร่วมกัน และเน้นให้ผู้ป่วย เป็นศูนย์การผ่านการจัดการของ Personalised Diabetes Management (iPDM) หรือ การจัดการภาวะเบาหวาน แบบบูรณาการเฉพาะบุคคล เพื่อเป็นการสร้างโครงสร้าง การดูแลสุขภาพที่ยั่งยืน พร้อมให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานในประเทศไทย ได้รับการดูแลอย่างพึงพอใจ”

นายมิไฮ อธิบายอีกว่าเนื่องจากสถิติของผู้ป่วยโรคเบาหวาน ในประเทศไทย คิดเป็นสัดส่วนอยู่ที่ประมาณ 6 ล้านคน หรือ ใน 10 คนมีผู้ป่วยโรคเบาหวาน 1 คน ดังนั้นในผู้ป่วยโรคเบาหวานแต่ละคน จึงไม่สามารถรักษาแบบเดียวกันได้ ดังนั้นทางโรชฯ จึงได้ร่วมมือกับพันธมิตร อย่าง รพ.บ้านตาขุน โดยนำผลิตภัณฑ์ดิจิทัล และโซลูชั่นที่ทันสมัย ซึ่งต้องอาศัยบุคลากรทางการแพทย์ ที่มีความรู้ความเข้าใจ เพื่อช่วยให้การนำมาใช้ รักษาผู้ป่วยโรคเบาหวานมีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของผู้ป่วย ทั้งนี้เพื่อให้ รพ.ขนาดเล็กสามารถ รักษาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ได้เทียบเท่ากับ รพ.ใหญ่ในกรุงเทพฯ และนอกจาก รพ. บ้านตาขุน ยังได้ขยายการนำแพลตฟอร์มนี้ โรช ไดอะบี-ทีส แคร์ ไปยัง รพ.ชุมชมอีก 6 รพ.ใน จ.สุราษฎร์ธานี และกำลังขยายโปรเจ็คนี้ไปทั่วประเทศ

สำหรับผลการดำเนินงาน ที่ผ่านมาของคลินิก Smart NCD ของ รพ. บ้านตาขุน นับว่าน่าประทับใจเป็นอย่างยิ่ง โดยมีผู้เข้ารับบริการที่คลินิก แล้วกว่า 3,170 คน และสามารถลดยาได้กว่า 1,450 คน และหยุดยาได้กว่า 370 คน รวมถึงมีผู้ป่วยลดน้ำหนัก รวมกันอย่างต่อเนื่องกว่า 16,500 กิโลกรัม และสามารถลดมูลค่าการใช้ยาได้กว่า 799,000 บาท

นพ. เอกพล บอกอีกว่าหัวใจหลักในการดำเนินงาน ของคลินิก Smart NCD คือการให้คนไข้ที่เป็นเจ้าของสุขภาพ ได้เลือกวิธีในการดูแลสุขภาพของตัวเอง โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต ที่สอดคล้องกับชีวิตประจำวันแล้ว การที่แพทย์คอยให้กำลังใจ และต่อรองกับผู้ป่วยโรคเบาหวานให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่น้อย จนกระทั่งนำไปสู่ผลลัพธ์ ของการปรับลดยาและหยุดยาในที่สุด เช่น หากวันไหนที่ตรวจค่าน้ำตาลแล้ว พบว่าผู้ป่วยมีระดับน้ำตาล อยู่ที่ไม่เกินมาตรฐานคือ ประมาณ 94 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ก็จะพูดคุยกับคนไข้ว่า อยากให้วิ่งหรือออกกำลังกายแบบนี้ทุกวัน หรือออกกำลังกาย เหมือนเมื่อวานที่น้ำตาลในเลือดต่ำ อยู่ที่ 94 มิลลิกรัม/เดซิลิตรได้หรือไม่?

“ทั้งนี้หากคนไข้ทำตาม และทำให้ผลตรวจเลือด ในวันถัดลดลงกว่าเดิม แม้จะเพียงเล็กน้อย หมอก็จะให้กำลังใจ โดยการบอกกับคนไข้ว่า หากปฏิบัติตัวตามขั้นตอนดังกล่าวได้ต่อเนื่อง หรือค่าน้ำตาลดต่ำลง จนอยู่ในระดับปกติ ต่อไปจะปรับลดการกินยาลงเรื่อยๆ จนกระทั่งนำไปสู่การลดการกินยาเบาหวาน ที่ต้องควบคู่ไปกับการ หันมารับประทานข้าวกล้อง แทนข้าวขาว หรือแต่การเพิ่มการออกกำลังกาย หรือมีกิจกรรมทางกาย เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อให้คนไข้มีกำลังใจ และมองเห็นผลดีของการดูแลตัวเอง”

“ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่แค่เป็นการให้กำลังใจผู้ป่วย แต่ทว่ายังช่วยสร้างความมั่นใจ และเป็นการสอนให้คนไข้เรียนรู้ว่าอันที่จริงแล้ว การกินแบบไหนที่มีปัญหา ต่อสุขภาพของตัวเอง ดังนั้นผู้ป่วยจะเรียนรู้และลดละเลิกพฤติกรรม ที่ทำให้เกิดโรคเบาหวานได้ตัวเอง แม้ว่าบางคนจะทำได้ล่าช้ากกว่าผู้อื่น แต่ในที่สุดก็สามารถลด การกินยาเบาหวานลง และนำมาซึ่งการหยุดได้” นพ.เอกพล กล่าว

ระยะเวลาในการช่วยผู้ป่วยลด-หยุดยารักษาโรคเบาหวานนานแค่ไหน?

ผู้อำนวยการ รพ.บ้านตาขุน บอกอีกว่า “ที่ผ่านมาทีมบุคลากรของ คลินิก Smart NCD ใช้เวลาในการช่วยผู้ป่วยโรคเบาหวาน โดยเฉพาะโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ซึ่งเกิดจากน้ำหนักตัวที่มาก สามารถลด และกระทั่งหยุดการรับประทาน ยารักษาโรคเบาหวานลง อยู่ที่ประมาณ 6-12 เดือน เนื่องจากผู้ป่วยเบาหวานทุกคน ไม่สามารถหยุดยาโรคเบาหวานได้ โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเบาหวานกลุ่มที่ 1 หรือต้องฉีดยาเบาหวานตลอดชีวิต เนื่องจากตับอ่อนของผู้ป่วยโรคเบาหวานกลุ่มที่ 1 ถูกทำลาย จนไม่สามารถผลิตอินซูลีนได้เอง”

หลักการลดและงดรับประทาน ยารักษาโรความดันโลหิต แตกต่างหรือคล้ายกับผู้ป่วยโรคเบาหวานอย่างไร?

ในส่วนผู้ป่วยกลุ่มโรคความดันโลหิต ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าป่วยโรคความดันโลหิตสูง ที่เข้าร่วมโครงการกับ คลินิก Smart NCD ก็จะได้รับ 1.เครื่องตรวจระดับน้ำตาลในเลือด (เพื่อตรวจน้ำตาลในเลือด เช่นเดียวกับผู้ป่วยโรคเบาหวาน) 2.เครื่องวัดความดันกลับไปวัดที่บ้าน 3.สมุดบันทึกความดันโลหิต รวมถึงกิจกรรมทางกาย ทั้งนี้เมื่อมาพบแพทย์ที่ รพ. ตามกำหนด ก็จะได้รับคำแนะนำในการดูแลสุขภาพ คล้ายกับผู้ป่วยโรคเบาหวาน คือการปรับเปลี่ยนการบริโภคอาหาร ที่กระตุ้นความดันโลหิต และการออกกำลังกาย ที่สอดคล้องชีวิตประจำของแต่ละคน

เช่น บางคนวิ่ง บางคนเดินออกกำลังกายให้มากขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องเดินวันละประมาณ 1 หมื่นก้าว เนื่องจากบางคนมีข้อจำกัดเรื่องปวดหัวเข่า ก็สามารถเดินวัน 1,000-2,000 ก้าวเป็นต้น หรือทำเท่าที่ผู้ป่วยทำได้ เพื่อลดอาการบาดเจ็บ หรือผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงบางราย ที่ทาง รพ. ให้ยืมนาฬิกานับก้าวมาใช้ที่บ้าน ควบคู่กับการลดการบริโภคอาหาร ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง ทั้งนี้หากปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด ก็สามารถลดยาโรคความดันโลหิตสูงได้เช่นกัน

Related Posts

Send this to a friend

Thailand Web Stat