HEALTH

โรคเบาหวาน รู้จักสังเกตเป็นรับมือได้ดีกว่า

ศูนย์อายุรกรรม (Internal Medicine Center) โรงพยาบาลนวเวช เผยข้อมูลเรื่อง “เบาหวาน” โรคที่เกิดจากภาวะน้ำตาลในเลือดสูง มีโอกาสเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย พร้อมกันนี้ได้แนะวิธีปฏิบัติตัวเองเพื่อรับมือกับโรคเบาหวาน ทั้งในกลุ่มของผู้ที่แสดงอาการและไม่แสดงอาการ หรือแม้แต่ผู้หญิงตั้งครรภ์ ที่เป็นเบาหวานขณะท้อง ที่ไม่รู้วิธีในการดูแลตัวเอง เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถดูแลสุขภาพ และชะลอการเกิดโรค ด้วยแนวทางการปฏิบัติที่สามารถทำด้วยตัวเองได้

เราอาจจะทราบดีว่า 1 ใน 11 ของคนบนโลกนี้ หรือ 463 ล้านคน เป็นโรคเบาหวาน แต่อาจจะมีมากกว่าครึ่งที่ไม่รู้ตัวว่าเป็นโรคเบาหวาน และยังมีคนที่อยู่ในภาวะก่อนโรคเบาหวานอีกจำนวนมาก ซึ่งคาดการณ์ว่าในอีก 25 ปีข้างหน้า จะมีคนเป็นโรคเบาหวานถึง 700 ล้านคน

ส่วนอาการของโรคเบาหวานนั้น สำหรับผู้ที่ไม่รู้ว่าตัวเองเป็นโรค “เบาหวาน” เพราะอาจจะไม่มีอาการของโรคที่ชัดเจน แต่เป็นอาการของโรคแทรกซ้อน ที่เกิดทั้งแบบเฉียบพลัน หรือแบบเรื้อรังโดยไม่รู้ตัว ซึ่งคนที่เป็นโรคเบาหวานมักมีอาการดังต่อไปนี้

1.ปัสสาวะบ่อย หิวน้ำบ่อย

2.หิวบ่อย น้ำหนักลด อ่อนเพลีย

3.แผลหายยาก

4.ผิวหนังแห้ง คันตามผิวหนัง ติดเชื้อราง่าย

5.เป็นฝีตามตัว

6.สายตาผิดปกติ มีอาการตาพร่า

7.ชาปลายมือปลายเท้า หรือมีอาการของโรคเส้นประสาทเสื่อม

8.ปวดขา ปวดเข่าบ่อย ๆ

9.อารมณ์แปรปรวน โมโหง่า

หากพบว่ามีอาการดังกล่าว ควรพบแพทย์เพื่อตรวจอย่างละเอียด เพื่อการรักษาและดูแลตนเองอย่างถูกวิธี สาเหตุของโรคเบาหวาน เป็นภาวะที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง อันเนื่องมาจากการทำงานของอินซูลินบกพร่อง ทำให้ร่างกายไม่สามารถดูดซึมน้ำตาล ไปใช้เป็นพลังงานได้อย่างเต็มที่ จึงมีน้ำตาลสะสมอยู่ในเลือดเป็นปริมาณมาก ซึ่งหากปล่อยทิ้งไว้จะทำให้อวัยวะต่างๆ เสื่อมสภาพ และเกิดภาวะแทรกซ้อนจนเป็นเหตุ ให้เสียชีวิตก่อนเวลาอันควร อย่างไรก็ตามคนทั่วไปมักคิดว่า คนที่มีญาติเป็นโรคเบาหวาน และคนที่มีน้ำหนักตัวเกินเท่านั้นที่เป็นเบาหวาน แต่ความจริงทุกคนมีโอกาสเป็นโรคเบาหวานได้ โดยสามารถแบ่งตามชนิดได้ดังนี้

1.โรคเบาหวานชนิดที่ 1 เป็นชนิดที่ไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่มีความเกี่ยวเนื่องกับระบบภูมิคุ้มกัน และเซลล์ที่ผลิตอินซูลินในตับอ่อนทำงานผิดปกติ มักเกิดในเด็กและวัยรุ่น พบประมาณร้อยละ 5-10 ของผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน

2.โรคเบาหวานชนิดที่ 2 มีสาเหตุจากพันธุกรรมและการใช้ชีวิตประจำวัน พบมากในผู้ที่น้ำหนักตัวเกินเกณฑ์ปกติ ผู้ที่อายุมากกว่า 45 ปี ผู้ที่มีพ่อแม่พี่น้องเป็นโรคเบาหวาน ผู้ที่มีความดันโลหิตสูง คอเลสเตอรอลสูง หรือไตรกลีเซอไรด์สูง ผู้ที่มีเชื้อสายแอฟริกันอเมริกัน ละตินอเมริกา อะลาสกา หมู่เกาะแปซิฟิก อเมริกันเอเชีย ผู้ที่มีปัญหาทางกายภาพ และผู้ที่มีภาวะก่อนการเป็นโรคเบาหวาน พบประมาณร้อยละ 95 ของผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน

ส่วนโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ เนื่องจากร่างกายมีการสร้างฮอร์โมน จากรกหลายชนิดที่มีฤทธิ์ต้านการทำงานของอินซูลิน มักพบในผู้ที่มีน้ำหนักเกิน อายุมากกว่า 25 ปี เคยเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ เคยให้กำเนิดบุตรที่น้ำหนักมากกว่า 4 กิโลกรัม มีคนในครอบครัวเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 และผู้ที่อยู่ในกลุ่มที่มีอาการของโรคถุงน้ำรังไข่ (PCOS) ซึ่งหลังจากคลอดบุตรแล้ว คุณแม่ยังมีความเสี่ยงที่จะเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 เพิ่มขึ้นร้อยละ 40

แนวทางรักษาการรักษาผู้ป่วยโรคเบาหวาน ให้ได้ผลและมีประสิทธิภาพจะต้องเป็น “แผนการรักษาเบาหวานแบบองค์รวม” กล่าวคือ การดูแลโรคเบาหวานไปพร้อมกันกับโรคร่วม ทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจของผู้ป่วย สังคมของผู้ป่วย (ญาติ เพื่อน ที่ทำงาน สิ่งแวดล้อม ความเป็นอยู่ วิถีชีวิต ความเครียด) ด้วยเหตุนี้จึงต้องมีการตระเตรียมทีมแพทย์ ที่มีความรู้และประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวาน ทั้งแพทย์และพยาบาลที่ดูแลรักษาโรคเบาหวาน และผู้ชำนาญการสาขาอื่นๆ ซึ่งเป็นโรคร่วมที่เกี่ยวข้อง อย่างเช่น จักษุแพทย์ แพทย์โรคหัวใจ แพทย์โรคประสาทสมอง แพทย์โรคไต ทันตแพทย์ นักโภชนาการ เภสัชกร นักกายภาพผู้ชำนาญการเท้า นอกจากนี้ผู้ป่วยจะต้องดูแลปฏิบัติตนตามที่ทีมแพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด

โดยโรคเบาหวานแต่ละชนิดจะมีวิธีรักษาที่แตกต่างกันไป ดังนี้

1.โรคเบาหวานชนิดที่ 1 ต้องใช้อินซูลินซึ่งเป็นยาฉีดเท่านั้น เพื่อทดแทนอินซูลินที่ร่างกายไม่สามารถผลิตได้

2.โรคเบาหวานชนิดที่ 2 ใช้การควบคุมอาหารการออกกำลังกายและการใช้ยา เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ให้สูงเกินเกณฑ์ปกติ โดยปัจจุบันมีการวิจัยและค้นคว้ายาเบาหวานใหม่ๆ จำนวนมาก ทั้งยารับประทานและยาฉีดที่ไม่ใช่อินซูลิน ซึ่งมีผลข้างเคียงต่อการเกิดน้ำตาลในเลือดต่ำและน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นน้อยมาก ช่วยลดน้ำหนัก และเกิดผลดีต่อหัวใจด้วย ทำให้ประสิทธิภาพการรักษาเบาหวานดีมากขึ้น และเกิดผลข้างเคียงน้อยลง

นอกจากนี้โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ใช้การปรับอาหารและออกกำลังกาย ซึ่งต้องได้รับการดูแลรักษาจากแพทย์อย่างใกล้ชิด การดูแล การควบคุมอาหารหรือโภชนบำบัด และการออกกำลังกายเป็นประจำเป็นการดูแลตัวเองในชีวิตประจำวัน ช่วยรักษาโรคเบาหวานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยั่งยืน “คาร์โบไฮเดรต” หรืออาหารจำพวกแป้งและน้ำตาล เป็นอาหารที่ควรจำกัดการรับประทานในแต่ละวัน เนื่องจากจะส่งผลให้ระดับน้ำตาลเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงควรเลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ตัวอย่างเช่น ผัก ผลไม้ชนิดที่ไม่หวานหรือมีดัชนีน้ำตาลต่ำ ธัญพืช โปรตีนจากปลาและสัตว์ปีก ไขมันชนิดดี เช่น น้ำมันมะกอก

การป้องกันโรคเบาหวานนั้น สามารถป้องกันหรือชะลอการเกิดได้ ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน ทั้งการควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ลดการบริโภคแป้งและน้ำตาล ออกกำลังกายสม่ำเสมอ อย่างไรก็ตามการตรวจสุขภาพ และตรวจโรคเบาหวานอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยลดความรุนแรงของโรค เพราะยิ่งเข้าสู่ระบบการดูแลรักษาได้เร็ว การดูแลรักษาย่อมได้ประสิทธิภาพ ลดความเสี่ยงของโรคแทรกซ้อน และใช้เงินในการรักษาต่ำกว่า โดยสรุป โรคเบาหวาน แม้ว่าในทางการแพทย์การรักษาให้หายขาด 100 เปอร์เซ็นต์สามารถทำได้ยาก แต่การดูแลตนเองโดยการควบคุมอาหาร และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้อาการของโรคดีขึ้น สามารถลดโรคแทรกซ้อน และสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติสุขได้เช่นกัน

Related Posts

Send this to a friend

Thailand Web Stat