HEALTH

เตือน ผู้ปกครองระวังเด็กจมน้ำหน้าฝน

กรมควบคุมโรค เตือนระวังเด็กจมน้ำช่วงหน้าฝน เหตุจากระดับน้ำเปลี่ยนแปลง ขอบบ่อลื่นหรือมีหญ้าปกคลุม สถิติ กรกฎาคม 61 เดือนเดียว เสียชีวิต 34 ราย เหตุเด็กคิดว่าคุ้นเคยพื้นที่พอ ขอให้ชุมชน โรงเรียน และผู้ปกครอง ช่วยกันระมัดระวังและเตือนเด็กๆ ที่ชวนกันไปเล่นน้ำกันเอง หลังเลิกเรียนหรือวันหยุดเสาร์และอาทิตย์ เนื่องจากช่วงนี้ระดับน้ำเปลี่ยนแปลง มีน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่ ขอบบ่อลื่นหรือมีหญ้าปกคลุม เด็กเสี่ยงตกน้ำและเสียชีวิตได้

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงนี้เป็นฤดูฝน มีฝนตกต่อเนื่องในหลายพื้นที่ อุบัติภัยที่ควรระมัดระวังในช่วงนี้ คือการจมน้ำในเด็ก ซึ่งปัจจัยสำคัญมาจากระดับน้ำในแหล่งน้ำเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม อาจมีความเชี่ยวแรงและมีระดับความลึกมาก มีน้ำท่วมขังในบางพื้นที่ มีหญ้าปกคลุม มองเห็นขอบบ่อไม่ชัดเจน เสี่ยงต่อการพลัดตกหรือลื่นได้ง่าย โดยเฉพาะช่วงหลังเลิกเรียนหรือวันหยุดเสาร์และอาทิตย์ที่เด็กๆ มักชวนกันไปเล่นน้ำกันเอง แต่มีเด็กบางคนที่ไม่ได้ตั้งใจไปเล่นน้ำแต่อาจพลัดตกหรือลื่น เพราะเดินหรือยืนใกล้ขอบบ่อ บางกรณีพบว่าผู้ใหญ่ลงน้ำหาปลาหรือทำกิจกรรมทางน้ำ มักพาเด็กไปด้วยและปล่อยให้เล่นน้ำกันเองตามลำพัง

กรมควบคุมโรค พบว่าข้อมูลในช่วง 10 ปี (ปี 2552-2561) ที่ผ่านมา เฉพาะเดือนกรกฎาคมพบเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จมน้ำเสียชีวิตรวม 572 ราย โดยในปี 2561 ที่ผ่านมา เดือนกรกฎาคมเดือนเดียว มีเด็กจมน้ำเสียชีวิตถึง 34 ราย และจากการสอบถามข้อมูลเชิงลึกของเด็กที่ชวนกันไปเล่นน้ำ พบว่าเด็กส่วนใหญ่จะรู้สึกคุ้นเคยกับแหล่งน้ำที่ไปเล่น โดยไม่ทราบสภาพใต้น้ำหรือระดับความลึกของน้ำที่เปลี่ยนแปลงไปภายหลังฝนตกหรือมีน้ำขังเป็นเวลานาน

นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า ขอให้ชุมชน โรงเรียน ผู้ปกครอง ช่วยกันระมัดระวังและเตือนเด็กๆ เพื่อความปลอดภัยจากการจมน้ำในช่วงหน้าฝน ดังนี้ 

  1. อย่าเดินหรือวิ่งเล่นใกล้ขอบบ่อ เพราะหน้าฝนพื้นบริเวณขอบบ่อนิ่มและมีหญ้าปกคลุม อาจเกิดการลื่นไถลลงน้ำได้
  2. ชุมชนช่วยกันสำรวจแหล่งน้ำเสี่ยง และเฝ้าระวัง จัดทำป้ายเตือน หรือแนวกั้นขอบบ่อ ติดตั้งอุปกรณ์ช่วยคนตกน้ำที่หาได้ง่าย
  3. ไม่ลงเล่นน้ำ แม้จะใกล้บ้านหรือที่คุ้นเคย เพราะระดับน้ำ ความแรงของน้ำและพื้นใต้น้ำ มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เนื่องจากฝนที่ตกลงมา
  4. ผู้ปกครองที่พาบุตรหลานไปตามแหล่งน้ำ เช่น หาปลา เก็บผัก ไม่ควรปล่อยเด็กให้ลงไปในน้ำ
  5. ใช้เสื้อชูชีพ เสื้อพยุงตัว หรืออุปกรณ์ลอยน้ำได้อย่างง่าย (เช่น แกลลอนพลาสติกคล้องเชือกสะพายแล่งให้เด็กติดตัวไว้เสมอ) ทุกครั้งที่ทำกิจกรรมทางน้ำหรืออยู่ใกล้แหล่งน้ำเสี่ยง (ทั้งคนที่ว่ายน้ำเป็นและว่ายน้ำไม่เป็น)

ข้อมูล กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข

ภาพประกอบ Kyle Glenn

Related Posts

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Send this to a friend