ECONOMY

พาณิชย์ เผย ผลดัชนีค่าครองชีพโลกปี 2567 ไทยอยู่อันดับ 94 ต่ำกว่าปี 2566

พาณิชย์ เผย ผลดัชนีค่าครองชีพโลกปี 2567 ไทยอยู่อันดับ 94 ต่ำกว่าปี 2566 ชี้เป็นผลจากดัชนี้สินค้าอุปโภคบริโภค-ราคาอาหาร ลดลง

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวถึงดัชนีค่าครองชีพ (Cost of Living Index) ทั่วโลกช่วงต้นปี 2567 ของ Numbeo ซึ่งเป็นเว็บไซต์ฐานข้อมูลด้านค่าครองชีพโลกที่มีชื่อเสียง คำนวณจากค่าใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภค เช่น ค่าอาหาร ค่าเดินทาง เสื้อผ้าและรองเท้า กีฬาและสันทนาการ และค่าสาธารณูปโภค (ไม่รวมค่าเช่าที่อยู่อาศัย) โดยเปรียบเทียบกับดัชนีค่าครองชีพของเมืองนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ซึ่งใช้เป็นฐานอยู่ที่ร้อยละ 100

สำหรับผลการจัดทำดัชนีค่าครองชีพล่าสุดพบว่า ดัชนีค่าครองชีพของไทยอยู่ที่ร้อยละ 36.0 ซึ่งต่ำกว่าดัชนีเมืองนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ที่เท่ากับร้อยละ 100 อยู่อันดับที่ 94 จาก 146 ประเทศทั่วโลก ซึ่งอยู่ระดับต่ำ ลดลงจากอันดับที่ 79 จาก 140 ประเทศทั่วโลก ในปี 2566 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการลดลงของดัชนี้สินค้าอุปโภคบริโภคที่จำหน่ายในร้านขายของชำ (Groceries Index) และดัชนีราคาอาหารในร้านอาหาร (Restaurant Price Index)

ทั้งนี้ Groceries Index อยู่ที่ร้อยละ 41.0 ลดลงจากร้อยละ 42.0 ในปี 2566 ซึ่งใช้สินค้าในตะกร้าในการคำนวณดัชนีฯ เช่น เนื้อสัตว์ นม ไข่ ขนมปัง ผัก และผลไม้ โดยสินค้าในตะกร้าดังกล่าวมีน้ำหนักมากที่สุดในการใช้คำนวณดัชนีฯ ราคาปรับลดลง และมีทิศทางที่สอดคล้องกับราคาสินค้าในกลุ่มอาหาร ทั้งเนื้อสัตว์ และผักและผลไม้ ที่ใช้คำนวณอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยในปี 2567 (ม.ค.-ก.พ.)

ส่วน Restaurant Price Index อยู่ที่ร้อยละ 18.4 ลดลงจากร้อยละ 21.0 ในปี 2566 ซึ่งใช้สินค้าในตะกร้าในการคำนวณดัชนีฯ เช่น เซ็ตอาหารฟาสต์ฟู้ด เบียร์ท้องถิ่น เบียร์นำเข้า และน้ำอัดลม นอกจากนี้ ยังมีสินค้าในหมวดการเดินทาง เสื้อผ้าและรองเท้า กีฬาและสันทนาการ และสาธารณูปโภค ที่นำมาใช้คำนวณดัชนีค่าครองชีพ ซึ่ง Numbeo ไม่ได้เผยแพร่ข้อมูลตัวเลขดัชนี

สำหรับประเทศที่มีค่าครองชีพสูงที่สุดในโลก 3 อันดับแรก ได้แก่ อันดับ 1 เบอร์มิวดา สูงถึงร้อยละ 133.6 ชะลอตัวจากร้อยละ 141.8 ในปี 2566 อันดับ 2 สวิตเซอร์แลนด์ ร้อยละ 112.2 ชะลอตัวจากร้อยละ 114.2 ในปี 2566 และอันดับ 3 หมู่เกาะเคย์แมน ร้อยละ 111.7 จากร้อยละ 103.4 ในปี 2566

ส่วนประเทศที่มีค่าครองชีพต่ำที่สุดในโลก 3 อันดับแรก ได้แก่ อันดับ 1 ปากีสถาน อยู่ที่ร้อยละ 18.5 จากร้อยละ 18.0 ในปี 2566 เนื่องจากเผชิญปัจจัยท้าทายต่าง ๆ ทั้งปัญหาหนี้สินที่อยู่ระดับสูง การคอร์รัปชัน และความไม่มั่นคงทางอาหาร อันดับ 2 ไนจีเรีย อยู่ที่ร้อยละ 19.3 ลดลงจากร้อยละ 30.9 ในปี 2566 และอันดับ 3 ลิเบีย อยู่ที่ร้อยละ 21.2 ลดลงจากร้อยละ 24.2 ในปี 2566 ซึ่งลิเบียมีความเปราะบางทางการเมือง มีความเสี่ยงด้านความปลอดภัยระดับสูงสุด

เมื่อพิจารณาประเทศในกลุ่มอาเซียนพบว่า ดัชนีค่าครองชีพของไทยอยู่ที่ร้อยละ 36.0 สูงเป็นอันดับที่ 5 จาก 9 ประเทศที่ถูกจัดอันดับ โดยค่าครองชีพของไทยสูงกว่าฟิลิปปินส์ (ร้อยละ 33.6 อันดับ 104 จาก 146 ประเทศทั่วโลก) เวียดนาม (ร้อยละ 30.8 อันดับ 113) มาเลเซีย (ร้อยละ 30.5 อันดับ 115) และอินโดนีเซีย (ร้อยละ 28.5 อันดับ 126) ขณะที่ค่าครองชีพของไทยต่ำกว่ากัมพูชา (ร้อยละ 38.5 อันดับ 88) เมียนมา (ร้อยละ 38.6 อันดับ 87) บรูไน (ร้อยละ 50.5 อันดับ 48) และสิงคโปร์ ซึ่งมีค่าครองชีพสูงสุดในอาเซียน (ร้อยละ 81.9 อันดับ 7 ของโลก ลดลงจากร้อยละ 85.9 ในปี 2566)

นายพูนพงษ์ กล่าวสรุปว่า ระดับค่าครองชีพของไทยเมื่อเทียบกับ 146 ประเทศทั่วโลก ยังอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ คาดว่าสาเหตุมาจากมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐที่มีอย่างต่อเนื่อง ทั้งสินค้าในกลุ่มพลังงาน (ค่าไฟฟ้า น้ำมันเชื้อเพลิง แก๊สหุงต้ม) และสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการครองชีพ นอกจากนี้ ยังมีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการเพื่อลดต้นทุนการผลิต รวมทั้งมาตรการเพิ่มรายได้ และการขยายโอกาสในการประกอบอาชีพ

อย่างไรก็ดี แม้สถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก รวมถึงไทยยังมีโอกาสเติบโตได้ แต่ยังมีปัจจัยท้าทายหลายด้าน ทั้งนโยบายการผลิตและส่งออกของผู้ผลิตน้ำมันรายสำคัญ ความขัดแย้งทางภูมิศาสตร์ รวมถึงมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐของไทยที่จะสิ้นสุดลง ซึ่งอาจกระทบให้ค่าครองชีพของไทยเพิ่มสูงขึ้นได้ ดังนั้น ผู้บริโภครวมถึงผู้ประกอบการควรเตรียมรับมือกับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้น โดยวางแผนทางการเงินอย่างรัดกุม ประหยัด และพอเพียง ส่วนผู้ประกอบการ ควรพิจารณาประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการลดต้นทุน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

Related Posts

Send this to a friend