ทีมเศรษฐกิจ พปชร.เสนอนายกฯ เร่งแก้หนี้ครัวเรือน หลังหนี้ NPL และ SM พุ่งสูงต่อเนื่อง
ทีมเศรษฐกิจพลังประชารัฐ เสนอนายกฯ เร่งแก้หนี้ครัวเรือน หลังหนี้ NPL และ SM พุ่งสูงต่อเนื่อง ผู้มีรายได้น้อยเสี่ยงถูกยึดรถ-บ้าน แนะร่วมกับธนาคารแฮร์คัทลูกหนี้-ชะลอการยึดทรัพย์
ทีมเศรษฐกิจพรรคพลังประชารัฐ เปิดเผยผลการศึกษาปัญหาหนี้ครัวเรือนในประเทศไทย โดยระบุว่า สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้หนี้ครัวเรือนสูงขึ้นเกือบร้อยละ 91 ของจีดีพี คิดเป็นมูลค่า 16.2 ล้านล้านบาท (ณ ไตรมาสที่ 3/2566) สถานการณ์ดังกล่าวกำลังสั่นคลอนความมั่นคงในครอบครัวคนไทย เนื่องจากตกอยู่ในภาวะชักหน้าไม่ถึงหลัง ไม่มีเงินในการจับจ่ายใช้สอยเพียงพอ เพราะมีภาระหนี้เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หากรัฐบาลไม่เร่งแก้ไขโดยเร็ว นอกจากจะกระทบกับเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศแล้ว ยังเป็นชนวนเหตุให้เกิดปัญหาสังคมตามมารอบด้าน
จากการศึกษาภาวะหนี้ครัวเรือนไทยพบว่า สัดส่วนหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคสูงถึงกว่าร้อยละ 76 ประกอบด้วยหนี้เพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ หนี้สินส่วนบุคคลที่ไม่อยู่ภายใต้การกำกับของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หนี้เช่าซื้อรถยนต์และจักรยานยนต์ หนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้กำกับของ ธปท. หนี้เพื่อการศึกษา ส่วนหนี้เพื่อการลงทุนประกอบอาชีพ และอื่น ๆ คิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 24
สำหรับสถิติของบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (เครดิตบูโร) ในปี 2566 มีหนี้เสียในระบบ 1.05 ล้านล้านบาท สูงกว่าปีก่อนหน้าร้อยละ 6.6 โดยหนี้เสียเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ คือ กลุ่มหนี้สินเชื่อยานยนต์ บัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล นอกจากนี้ ในกลุ่มหนี้ที่จับตาเป็นพิเศษ (SM) หรือหนี้ที่กำลังจะกลายเป็น NPL สูงถึง 6.1 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 17.8 อีกทั้งรายงานของกรมบังคับคดีประเมินว่า จะมีลูกหนี้ถูกพิพากษาให้ชำระหนี้และถูกบังคับคดีราว 1.05 ล้านคดี ทุนทรัพย์รวมกว่า 15 ล้านล้านบาทภายในระยะ 10 ปีข้างหน้า
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาด้านรายได้พบว่า ภายหลังโควิด-19 ยุติลง เกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจมากขึ้น โดยคนมากถึงร้อยละ 50 ไม่สามารถสร้างรายได้กลับมาในระดับเดิม ขณะที่มีคนเพียงร้อยละ 10 ที่สามารถสร้างรายได้สูงกว่าระดับเดิมได้
ผลการศึกษายังชี้ว่า ผู้มีรายได้น้อยคือคนที่มีความเสี่ยงถูกฟ้องร้อง เข้าสู่กระบวนการยึดทรัพย์ และล้มละลายมากที่สุด เนื่องจากมีภาระรายจ่ายและภาระหนี้สูงกว่ารายได้ในสัดส่วนสูงที่สุด โดยกลุ่มรายได้ต่ำกว่า 1.5 หมื่นบาทต่อเดือน จะมีรายจ่ายบวกภาระคืนหนี้คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 138.2 ของรายได้ กลุ่มรายได้ 1.5–3 หมื่นบาทต่อเดือน คิดเป็นร้อยละ 109.4 กลุ่มรายได้ 3–5 หมื่นบาทเดือน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 104.7
ดร.อุตตม สาวนายน ประธานกรรมการนโยบายพรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของไทย อยู่ในระดับเดียวกับประเทศพัฒนาแล้ว เช่น ฮ่องกง เนเธอร์แลนด์ สวีเดน แต่ขีดความสามารถทางการแข่งขันและโครงสร้างเศรษฐกิจไทยไม่ได้อยู่ระดับเดียวกับประเทศเหล่านั้น จึงเสี่ยงที่หนี้ครัวเรือนจะก่อปัญหาทางเศรษฐกิจสูง ต้องแก้ไขโดยด่วนด้วยการยกระดับเป็นวาระแห่งชาติ รัฐบาลต้องจับมือกับธนาคารแห่งประเทศไทย ตลอดจนสถาบันการเงินเอกชน แก้ไขมาตรการที่กำหนดขึ้น และควรขับเคลื่อนภายใต้ 4 แนวคิด ประกอบด้วย
1.ครอบคลุม เข้าถึงประชาชนในทุกพื้นที่ทุกอาชีพด้วยความเป็นธรรมเสมอภาค
2.ครบวงจร เชื่อมโยงการแก้หนี้เดิม เติมทุนใหม่ พร้อมเติมทักษะเพื่อสร้างอาชีพ
3.ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี โดยให้ความสำคัญกับการใช้ AI Data สร้างฐานข้อมูลการจัดการปัญหาหนี้อย่างเป็นระบบ นำมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาคนและชุมชนให้เข้มแข็งต่อการรับมือวิกฤติเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
4.ขับเคลื่อนขบวนการต่อเนื่อง โดยกำหนดมูลค่าหนี้และกลุ่มเป้าหมายชัดเจน พร้อมประเมินผลสัมฤทธิ์ และติดตามความคืบหน้าอย่างใกล้ชิด จัดงบประมาณที่เพียงพอ
“ทีมเศรษฐกิจพรรคพลังประชารัฐ เสนอว่าภาครัฐควรแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนโดยเร่งด่วน เพื่อไม่ให้หนี้ครัวเรือนเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยการแก้ไขจะสำเร็จได้จะต้องทำพร้อมกัน 2 ด้าน คือ การลดหนี้ และสร้างรายได้หรือเม็ดเงินเข้ากระเป๋าประชาชนเพิ่ม” ดร.อุตตม กล่าว
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ประธานกรรมการวิชาการ กล่าวว่า ภาครัฐควรใช้กลไกลบรรษัทบริหารสินทรัพย์ที่มีอยู่จัดตั้งเป็นรูปแบบกองทุนแก้หนี้ภาคครัวเรือน ส่วนเม็ดเงินที่นำมาใช้ สามารถออกมาตรการกระตุ้นให้ธนาคารพานิชย์เข้าร่วมช่วยเหลือลูกหนี้ โดยกระทรวงการคลังต้องทำงานร่วมกับ ธปท. กำหนดนโยบายลดการส่งเงินเข้ากองทุนฟื้นฟู (FIDF) ครึ่งหนึ่งให้กับธนาคาร เหลือ 0.23% ต่อ 6 เดือน เป็นการชั่วคราว 5 ปี และให้นำเม็ดเงินส่วนที่ลดลงมาตั้งกองทุนดังกล่าว และธนาคารจะต้องนำเอากำไรสะสมของตนเข้าร่วมโครงการด้วยไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ของหนี้ที่ลดให้แก่ลูกหนี้ด้วย
ส่วนแนวทางในการช่วยเหลือลูกหนี้ของกองทุน คือ ปรับโครงสร้างหนี้แบบตัดยอดหนี้ (hair cut) โดยกำหนดใช้กับลูกหนี้ที่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อเดือน ส่วนลูกหนี้ที่ธนาคารฟ้องคดีเสร็จสิ้นแล้ว และอยู่ระหว่างบังคับคดียึดบ้าน ยึดหลักประกัน หรืออาจถูกฟ้องล้มละลาย ธนาคารที่เข้าร่วมโครงการต้องยอมสละสิทธิในการฟ้อง ยอมชะลอการยึดหลักประกัน และลดราคาขายประกันเพื่อให้ลูกหนี้มีโอกาสมาซื้อหลักประกันคืน เฉพาะสำหรับลูกหนี้ที่มียอดหนี้ไม่เกิน 3 ล้านบาท
ทีมเศรษฐกิจพลังประชารัฐ เสนอว่าแม้จะปรับโครงสร้างหนี้รวมทั้งมาตรการ hair cut จะต้องทำควบคู่กับการกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างรายได้เข้ากระเป๋าประชาชน ภายใต้ 4 มาตรการ ดังนี้
1.นายกรัฐมนตรี ในฐานะรัฐมนตรีการคลัง ควรหารือกับ ธปท. เพื่อกระตุ้นการลงทุนเอกชน ขยายกำลังผลิต และเพิ่มการจ้างงาน ด้วยการเพิ่มสภาพคล่องเข้าในระบบการเงินและการลดดอกเบี้ย
2.รัฐบาลควรพิจารณาค้ำประกันหนี้ให้ SMEs ที่จะกู้ใหม่ไม่เกิน 3 ล้านบาท ในสัดส่วนสูงเป็นพิเศษชั่วคราว อาจจะถึง 80% ถ้าเป็นโครงการใหม่ที่ธนาคารเห็นว่ามีศักยภาพ และไม่ใช่การกู้หนี้ใหม่ไปเพื่อใช้คืนหนี้เก่า
3.รัฐบาลควรพิจารณาจัดตั้งกองทุน เพื่อร่วมลงทุนในธุรกิจเอกชนตั้งใหม่ที่เน้นนวัตกรรมในสัดส่วนร้อยละ 20 โดยร่วมกับหน่วยงานที่ชำนาญด้านการลงทุน เช่น ตลาดหลักทรัพย์ฯ สมาคมธนาคารไทย เป็นต้น
4.สร้างรายได้เพิ่มเติมหรือลดค่าใช้จ่ายให้เอกชน เช่น สนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ โดยเปิดเสรีการติดตั้งโซล่าร์รูฟท็อป และรับซื้อไฟฟ้าเข้าระบบแบบ “หักกลบลบหน่วย” โดยธนาคารของรัฐเข้าไปสนับสนุนเงินทุนแก่ครัวเรือน รวมทั้ง อบต. และเทศบาล เพื่อจัดทำโซลาร์ฟาร์ม หากมีที่ราชพัสดุใกล้ชุมชน ก็ควรพิจารณาให้ชุมชนเช่าใช้ทำโซลาร์ฟาร์มด้วย