สมาคมศูนย์การค้าไทย แสดงวิสัยทัศน์การสร้างความยั่งยืนทางสภาพแวดล้อม

วันนี้ (13 ธ.ค. 65) สมาคมศูนย์การค้าไทย (Thai Shopping Center Association) หรือ TSCA ประกาศวิสัยทัศน์ในการ สร้างความยั่งยืนทางสภาพแวดล้อม พร้อมชูบทบาท ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและประเทศอย่างเต็มที่ พร้อมนี้สมาคมฯได้มีมติเป็นเอกฉันท์ ในการลงคะแนนการเลือกตั้งกรรมการบริหารชุดใหม่ และมีการเสนอชื่อและประกาศให้ “ชนวัฒน์ เอื้อวัฒนะสกุล” ดำรงตำแหน่งนายกสมาคม ศูนย์การค้าไทยเป็นสมัยแรกอย่างเป็นทางการ โดยได้มีการกำหนดทิศทางและนโยบายภายใต้โรดแม็พ 3 ปี (2565-2567) เพื่อผลักดันธุรกิจศูนย์การค้าไทย มูลค่าหลายแสนล้านบาทให้กลับมาคึกคัก ท่ามกลางโจทย์และความท้าทายที่เปลี่ยนไป
ทั้งนี้แผนงานโรดแม็พ 3 ปี (2565-2567) ของสมาคมศูนย์การค้าไทยแบ่งออกเป็น 4 แนวคิดได้แก่
1.Springboard effects ศูนย์การค้าเป็น Platform ที่แข็งแกร่ง ทำให้เกิดการจ้างงานกว่า 2.4 ล้านคน / สร้าง Wealth distribution การค้าขาย มีร้านค้าและ SMEs กว่า 120,000 ราย สร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน 750,000 ล้านบาทต่อปี พร้อมผลักดันให้ศูนย์การค้าไทย เป็นจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยวในระดับโลก ขานรับนโยบายรัฐ ผลักดันการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ เพิ่ม Shopping per head มากกว่าเท่าตัว (จากหัวละ 1,200 บาท เป็น 3,000 บาท) จากการจับจ่ายในศูนย์การค้า ซึ่งต่อยอดใน ecosystem ของธุรกิจได้อีก 3 ต่อ ทั้ง ร้านค้าในศูนย์ Outsource และภาคขนส่ง
2.Recovery with synergy เดินหน้าสร้างความแข็งแกร่งในสมาชิกศูนย์การค้า เพื่อฟื้นฟูธุรกิจหลังวิกฤตไปด้วยกัน ด้วยมาตรการรับมือกับภาวะผันผวน ของเศรษฐกิจโลก สำหรับความท้าทายแรกที่ได้ร่วมกันหารืออย่างเร่งด่วน กับคณะกรรมการฯ คือเรื่องการฟื้นฟูธุรกิจ และเศรษฐกิจในภาพรวมภายหลังวิกฤติการณ์โควิด ที่ภาคธุรกิจศูนย์การค้าต่างสูญเสียรายได้ และทุ่มเม็ดเงินช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านค้า และผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆเกือบ 2 แสนล้านบาท
นอกจากรายได้ที่หายไป ธุรกิจศูนย์การค้ายังต้องรับมือ กับภาวะการผันผวนของเศรษฐกิจโลก ที่ส่งผลกระทบให้สถานการณ์ ภาวะเงินเฟ้อของประเทศไทยล่าสุด เมื่อเดือนสิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา ปรับตัวสูงขึ้นถึง 7.86% ถือเป็นสถิติอัตราเงินเฟ้อไทย ที่สูงที่สุดในรอบ 14 ปี นับจากเดือนกรกฎาคมปี 2551 โดยมีสาเหตุหลักมาจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้ราคาน้ำมันและอัตราค่าไฟฟ้าปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก นับเป็นความท้าทายของสมาคม ในช่วงระยะเวลา 3-4 ปีที่ผ่านมา ที่ต้องพัฒนาปรับปรุงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ การบริหารจัดการค่าใช้จ่าย และต้นทุนที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อดูแลช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านค้า และธุรกิจเองให้กลับฟื้นคืนอย่างยั่งยืน
3.Empowering entrepreneurs and SMEs เสริมกำลังคนให้มีความรู้ความสามารถ ในระดับสากล แบ่งปันข้อมูล ประสบการณ์ เพิ่มพูนความรู้ ทักษะ สนับสนุน และส่งเสริมทุก Stakeholder ให้สามารถกลับมาค้าขายได้ คงการจ้างงาน กระตุ้นการลงทุน และช่วยกระจายรายได้ และเพิ่มขีดความสามารถ ในการแข่งขันของร้านค้า และผู้ประกอบการยกระดับคุณภาพการให้บริการ และความเป็นเอกลักษณ์ ของศูนย์การค้าโดยคนไทย
4.Journey to sustainability ผลักดันให้สมาชิกศูนย์การค้าเดินหน้า แผนประหยัดพลังงานทั้งระยะเร่งด่วน และระยะยาว และส่งเสริมนโยบาย NET Zero อย่างยั่งยืน อาทิ การติดตั้งแหล่งพลังงานหมุนเวียน เช่น Solar Rooftop, Solar Street Light, Solar Carport พร้อมใช้ระบบอัจฉริยะอย่าง Motion Sensor Switch สำหรับระบบไฟแสงสว่าง,การร่วมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคในการคัดแยกขยะ ไปจนถึงการเพิ่มพื้นที่สีเขียว และพัฒนาศูนย์การค้าในรูปแบบ Eco-Friendly Mall เพื่อใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องตามมาตรฐาน Green Building ในระดับสากล
ปัจจุบัน สมาคมศูนย์การค้าไทยประกอบด้วยผู้ประกอบการธุรกิจศูนย์การค้าทั้งหมด 13 รายได้แก่ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน), บริษัท เดอะมอลล์ชอปปิ้งคอมเพล็กซ์ จำกัด, บริษัท ซีคอน ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน), บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด, บริษัท รังสิตพลาซ่า จำกัด, บริษัท แพลทินัม กรุ๊ป จำกัด (มหาชน), บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน), บริษัท สยามฟิวเจอร์ดีเวลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน), บริษัท อัลไล รีท แมนเนจเมนท์ จำกัด, บริษัท เฟรเซอร์ พร็อพเพอร์ตี้ โฮลดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท พิริยา พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด, บริษัท อินเด็กซ์ ลิฟวิ่งมอลล์ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท แปซิฟิค พาร์ค ศรีราชา จำกัด