ECONOMY

สนค. แนะ ไทยเร่งพัฒนาการผลิตข้าวคาร์บอนต่ำ ชิงเวียดนามเป็นผู้นำข้าวลดโลกร้อน

สนค. แนะ ไทยเร่งพัฒนาการผลิตข้าวคาร์บอนต่ำ ชิงเวียดนามเป็นผู้นำข้าวลดโลกร้อน หวังไทยรักษาส่วนแบ่งในตลาดข้าวโลก

วันนี้ (8 พ.ย. 67) นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันการผลิตและการค้าภาคเกษตรของไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายภายใต้สถานการณ์วิกฤตสิ่งแวดล้อม ผู้บริโภคต้องการสินค้าที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น สำหรับข้าวซึ่งเป็นสินค้าส่งออกสำคัญ และไทยในฐานะผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลก ควรเร่งปรับตัวและพัฒนาการผลิตเพื่อคว้าโอกาสและช่วงชิงตำแหน่งผู้นำในตลาดข้าวคาร์บอนต่ำหรือข้าวลดโลกร้อน

จากข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทยพบว่า ภาคเกษตรมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นอันดับที่ 2 คิดเป็นร้อยละ 15.23 ของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด รองจากภาคพลังงานที่มีสัดส่วนร้อยละ 69.96 เมื่อพิจารณาเฉพาะภาคเกษตร การปลูกข้าวเป็นกิจกรรมที่มีปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุด มีสัดส่วนถึงร้อยละ 50.58 ของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคเกษตรทั้งหมด จึงมีการส่งเสริมการปลูกข้าวคาร์บอนต่ำ ซึ่งเวียดนามเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวรายสำคัญของโลก ก็มีนโยบายส่งเสริมการปลูกข้าวคาร์บอนต่ำอย่างจริงจัง

ข้าวคาร์บอนต่ำ คือ ข้าวที่ผลิตและแปรรูปด้วยวิธีการและเทคโนโลยีที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ไม่ว่าจะเป็นการทำนาเปียกสลับแห้ง การใช้ปุ๋ยอินทรีย์แทนปุ๋ยเคมี การจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการจัดการเศษวัสดุเหลือใช้จากการเกษตร เช่น ไม่เผาฟางข้าว

ไทยมีการส่งเสริมการผลิตข้าวคาร์บอนต่ำผ่านการดำเนินการต่าง ๆ ทั้งโครงการ Thai Rice NAMA หรือโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดภาวะโลกร้อนจากการทำนาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ตั้งแต่ช่วงเดือนสิงหาคม 2561 – กรกฎาคม 2567 เป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำนาผ่านการส่งเสริมองค์ความรู้ในการใช้เทคโนโลยีที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการสนับสนุนทางการเงิน

ส่วนเวียดนามมีนโยบายรุกตลาดข้าวคาร์บอนต่ำ และพัฒนาการผลิตข้าวคาร์บอนต่ำอย่างรวดเร็ว ซึ่งเวียดนามใช้เทคนิคการปลูกข้าวคล้ายกับไทย เน้นการจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ และลดการใช้สารเคมีในการเพาะปลูก ปัจจุบันเวียดนามผลักดันนโยบาย Net Zero Emission ผลิตข้าวคาร์บอนต่ำเพื่อตอบโจทย์ประเทศคู่ค้ากลุ่มตลาดพรีเมียมที่ใส่ใจเรื่องลดโลกร้อนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นในอนาคต

นอกจากนี้ เวียดนามมีข้อได้เปรียบด้านต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าไทย และเข้าถึงตลาดข้าวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้มากกว่า โดยเฉพาะการมีข้อตกลง FTA กับสหภาพยุโรป ซึ่งมีข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวด จึงอาจทำให้สามารถเจาะตลาดยุโรปได้ดีกว่าข้าวไทย

เมื่อพิจารณาสถิติการส่งออกข้าวระหว่างไทยกับเวียดนามพบว่า มีปริมาณและมูลค่าใกล้เคียงกันมาก ปี 2566 ไทยส่งออกข้าว 8.77 ล้านตัน มูลค่า 5,147.3 ล้านเหรียญสหรัฐ เวียดนามส่งออกข้าว 8.13 ล้านตัน มูลค่า 4,675.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 ไทยส่งออกข้าว 7.45 ล้านตัน มูลค่า 4,833.5 ล้านเหรียญสหรัฐ เวียดนามส่งออกข้าว 6.96 ล้านตัน มูลค่า 4,353.3 ล้านเหรียญสหรัฐ

นายพูนพงษ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า การแข่งขันของตลาดข้าวโลกในปัจจุบันเริ่มให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก ไทยจึงควรมุ่งพัฒนาการผลิตข้าวให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดโลก ด้วยการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านการเกษตร เพื่อยกระดับมาตรฐานสินค้าข้าวให้สูงขึ้น ซึ่งข้าวคาร์บอนต่ำถือเป็นอีกกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้ไทยสามารถรักษาส่วนแบ่งในตลาดข้าวโลก เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร และส่งผลต่อเนื่องไปถึงการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยให้ได้มาตรฐานและเป็นที่ยอมรับในระดับโลก

พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์

Related Posts

Send this to a friend