ภาพรวมครึ่งปีแรก คนไทยต้องการใช้จ่ายมากขึ้น กระตุ้นการใช้จ่าย
สถาบันวิจัยความเป็นอยู่ฮาคูโฮโด อาเซียน (ประเทศไทย) หรือ Hakuhodo Institute of Life and Living ASEAN (THAILAND) จัดทำผลสำรวจฉบับพิเศษเรื่องการคาดการณ์พฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคในประเทศไทยประจำเดือนมิถุนายน พ.ศ.2567 โดยผลสำรวจฉบับพิเศษครึ่งปีแรกนี้ เผยให้เห็นถึงกระแสความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปตามเทรนด์ ทำให้ภาพรวมคะแนนความต้องการในการใช้จ่ายของคนไทยในครึ่งปีแรกมีค่าเฉลี่ยที่สูงขึ้นว่าปีที่ผ่านมา อยู่ที่ 66 คะแนน ขณะที่ช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 64 คะแนน
ผลสำรวจฉบับนี้ เป็นผลสำรวจฉบับพิเศษที่รวบรวมผลรวมจากครึ่งปีแรก ซึ่งภาพรวมมีแนวโน้มที่ดีกว่าปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในเทศกาลต่าง ๆ ที่คนไทยใช้ชีวิตอย่างเต็มที่ผ่านประสบการณ์ใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นเทศกาลตรุษจีน เทศกาลสงกรานต์ และการฉลอง Pride Month ที่จัดขึ้นทั่วประเทศ
ด้วยกระแสใหม่และเทรนด์ใหม่ที่กำลังเป็นที่น่าจับตามอง ธีรเมศร์ นิติจรรยาวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนกลยุทธ์ ให้คำแนะนำกับแบรนด์ต่าง ๆ เพื่อนำไปปรับใช้ให้เข้ากับความต้องการของผู้บริโภคไว้ 3 ข้อใหญ่ ดังนี้
1.BrandFest: Celebrate the values that brand believes in แบรนด์สามารถสร้างโอกาสในการขายได้ด้วยการสร้างเทศกาลประจำแบรนด์ขึ้นมา เพื่อสร้างภาพที่น่าจดจำและเปิดประสบการณ์ใหม่ เพื่อสะท้อนค่านิยมและความเชื่อของแบรนด์ เช่น Equlity Festival มหกรรมลดเท่ากันทั้งร้าน โดยเป็นการส่งเสริมความเท่าเทียม
2.Emphasize Thainess: Set brand’s communication mood & tone with Thai identity การเชื่อมโยงแบรนด์กับคนไทยด้วยความเป็นไทย โดยแบรนด์สามารถเพิ่มคาแรคเตอร์แบบไทย ๆ ให้กับตัวตนของแบรนด์ได้ เช่น ความเป็นมิตร ความใจดีและอารมณ์ดี หรือการเปิดกว้างในการรับสิ่งใหม่ ๆ เช่น การทำ Realtime Marketing Implication เติมลูกเล่นเพิ่มสีสันในการพูดคุยกับแฟนเพจด้วยศัพท์ใหม่ที่ฮิตติดกระแส
3.New wave of Mutelu: Adopt Mutelu to be one of brand’s signature เรื่องมู ๆ เป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่อยู่คู่กับคนไทยสายมูเตลู โดยแบรนด์สามารถเชื่อมโยงเรื่องมู ๆ ให้มาเป็นส่วนหนึ่งของแบรนด์แบบถาวร เช่น Annual Mutelu Trip หรือทริปไหว้ แวะ เที่ยว เสริมความปัง รับนักษัตรใหม่
ผลสำรวจฉบับพิเศษนี้ ยังชี้ถึงมุมมองอินไซด์ของคนไทยผ่านสิ่งใหม่ ๆ ที่ทำให้แนวโน้มหลาย ๆ อย่างของคนไทยมีการปรับเปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็นเทศกาลต่าง ๆ ที่ประเทศไทยจัดขึ้น เพิ่มโอกาสในการท่องเที่ยวและการจับจ่ายของคนไทย รวมถึงข่าวสารบ้านเมืองที่เกิดขึ้นรายวัน มีส่วนช่วยกระตุ้นความสนใจให้กับคนไทยเป็นอย่างมาก กรรณ ทองศรี ผู้จัดการส่วนวางแผนกลยุทธ์ ได้เผยข้อมูลที่น่าสนใจไว้ดังนี้
1.เปิดประสบการณ์ที่มากกว่า ช่วยกระตุ้นคนไทยใช้จ่ายมากขึ้น: ภาพรวมครึ่งแรกของปีกลับมามีสีสันและคึกคักกว่าที่เคย ด้วยโอกาสที่เปิดกว้างมากยิ่งขึ้น ทำให้คนไทยสามารถเอ็นจอยกับประสบการณ์ใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็น กางเกงช้าง ที่กลับมาฮิตจากการโปรโมทของรัฐบาล รวมถึงกระแส Art Toy ที่กำลังเป็นที่นิยมในวงกว้าง ขณะที่คอนเสิร์ตจากศิลปินจากไทย เกาหลี และตะวันตก ที่มาจัดแสดง ส่งผลให้ภาพรวมค่าเฉลี่ยในการช้อปของคนไทยปรับตัวขึ้นมาเป็น 66 คะแนน จาก 64 คะแนน ในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา
2.บรรยากาศสดใส แต่ใจยังสุขไม่สุด ภาพรวมคะแนนความสุขคนไทยทรงตัว ไม่เพิ่ม ไม่ลด: ครึ่งปีแรก ความสุขคนไทยยังทรงตัว ขณะที่ยังมีปัจจัยแฝงที่ทำให้คนไทยมีความสุขไม่เต็มที่ ไม่ว่าจะเป็น ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและสังคม ข่าวสารบ้านเมืองรายวัน ค่าครองชีพที่สูงขึ้น และอากาศที่ร้อนจากปรากฎการณ์เอลนีโญ ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความสุขของคนไทย
3.เทศกาล เป็นโอกาสจับจ่ายสำคัญสำหรับตัวเองและครอบครัว: กว่าครึ่งของคนไทยใช้ช่วงเวลาเทศกาลเป็นโอกาสและเหตุผลพิเศษในการใช้จ่าย โดย 29% เน้นใช้จ่ายเพื่อ self-love และยังมีอีกจำนวนไม่น้อยที่เลือกใช้จ่ายเพื่อ family-love เมื่อแยกเป็นภาพรวมความต้องการใช้จ่ายตามช่วงอายุ พบว่าวัย 40-49 ปี เน้นใช้จ่ายช่วงเทศกาลตามธรรมเนียมประเพณี รวมถึงใช้จ่ายเพื่อคนในครอบครัว ขณะที่วัย 20-29 ปี มีแนวโน้มหยุดพักการใช้จ่ายเพื่อรอจังหวะที่เหมาะสมหรือช่วงโปรโมชัน