CRIME

ตำรวจสอบสวนกลาง ร่วมกับ อย. บุกทลายโรงงานเครือข่ายจีน ผลิต-จำหน่ายผลิตภัณฑ์สมุนไพรปลอม

กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แถลงผลปฏิบัติถึงกรณีทลายเครือข่ายผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์สมุนไพรปลอม โดยทำการตรวจค้นทั้งหมด 4 จุด ตรวจยึดของกลาง 112 รายการ รวมกว่า 90,000 ชิ้น มูลค่าความเสียหายกว่า 4,000,000 บาท

สืบเนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจกองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคว่ามีผลิตภัณฑ์สมุนไพรปลอมจัดจำหน่าย ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์คนละแบบแต่มีเลขทะเบียนยาเดียวกัน ซึ่งเป็นการแอบอ้างนำเลขทะเบียนตำรับยาของผลิตภัณฑ์อื่นมาใช้

เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. จึงร่วมมือกับ อย. เข้าทำการตรวจค้นสถานที่ผลิต โกดังเก็บสินค้า และสถานที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์สมุนไพรปลอมที่ได้รับการร้องเรียนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และ จ.ปทุมธานี จำนวน 4 จุด ดังนี้

1.สถานที่จำหน่ายย่านประชาราษฎร์บำเพ็ญ 15 เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร พบ นายจิงฉาย สัญชาติจีน โดยตรวจยึดผลิตภัณฑ์สมุนไพรปลอม ผลิตภัณฑ์สมุนไพรอื่นที่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ.2562 และเอกสารที่เกี่ยวข้องในการสั่งซื้อและจัดจำหน่าย จำนวน 36 รายการ รวมกว่า 4,579 ชิ้น

2.สถานที่จำหน่ายย่านประชาราษฎร์บำเพ็ญ 6 เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร พบ นางเบน สัญชาติจีน โดยตรวจยึดผลิตภัณฑ์สมุนไพรปลอม ผลิตภัณฑ์สมุนไพรอื่นที่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ.2562 และเอกสารที่เกี่ยวข้องในการสั่งซื้อและจัดจำหน่าย จำนวน 26 รายการ รวมกว่า 12,807 ชิ้น

3.สถานที่ผลิต และโกดังเก็บสินค้า ภายในโรงงานแห่งหนึ่งในพื้นที่ ต.ลำลูกกา อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี พบ น.ส.พิมพ์พิชชา โดยตรวจยึดผลิตภัณฑ์สมุนไพรปลอม ผลิตภัณฑ์สมุนไพรอื่นที่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ.2562 เอกสารที่เกี่ยวข้องในการสั่งซื้อและจัดจำหน่าย เครื่องซีลพลาสติก จำนวน 1 เครื่อง เครื่องบรรจุ จำนวน 1 เครื่อง ฉลากผลิตภัณฑ์และวัตถุดิบในการผลิต เช่น ขี้ผึ้ง สารสกัดต่าง ๆ ที่เป็นสารตั้งต้นในการผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพรปลอม รวม 14 รายการ จำนวน 64,900 ชิ้น

4.สถานที่ผลิต ในบ้านพักย่านบางบอน กรุงเทพมหานคร พบ น.ส.พิมพ์พิชชา โดยตรวจยึดผลิตภัณฑ์สมุนไพรซึ่งอยู่ระหว่างการผลิตและบรรจุรวม 4 รายการ จำนวน 853 ชิ้น พร้อมอายัดวัตถุดิบในการผลิต เช่น น้ำมันหอมระเหย และผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ผสมแล้วรอการบรรจุ เครื่องบรรจุและหม้อต้ม รวมถึงอุปกรณ์ส่วนควบที่ใช้ในการผลิต 26 รายการ รวม 8,652 ชิ้น

จากการตรวจค้นทั้ง 4 จุด พบผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่เป็นความผิด รวม 27 ยี่ห้อ ประกอบไปด้วย

1.ยาหม่องผสมเสลดพังพอน ตราสมุนไพรไทยสยาม (ปลอม)

2.ยาหม่องผสมเสลดพังพอน ตราหาญตำรับ (ปลอม)

3.ยาหม่องผสมเสลดพังพอน ตราสมุนไพรบัวทอง (ปลอม)

4.ยาหม่องสมุนไพรไทยสยาม ตราเสือสยาม 5 เศียร (ปลอม)

5.ยาหม่องสมุนไพรไทย ตราเสือสยาม 5 ดาว (ปลอม)

6.ยาหม่องเสือสยาม ตราสมุนไพรบัวทอง (ปลอม)

7.ยาหม่องเสือสยาม ตราหาญตำรับ (ปลอม)

8.ยาหม่องเสือสยาม PURE สมุนไพรธรรมชาติ (ปลอม)

9.ยาหม่องสมุนไพร 100 ปี แซ่วู (ปลอม)

10.ยาหม่องสมุนไพร รวม 5 ดาว สูตรร้อน (ปลอม)

11.ยานวดผ่อนคลาย คร๊อกโคไดล์เฮิร์บ บาล์ม (ปลอม)

12.ยาหอมชนะลม ตราเรือใบ (ปลอม)

13.น้ำมันนวด กฤษณา ทิพย์มาตย์ ไม้หอมไทย

14.น้ำมันนวด สมุนไพรสยาม ตราหนุมานหาว 5 ดาว (ปลอม)

15.น้ำมันนวดผา (ปลอม)

16.น้ำมันนวดสมุนไพร Herb

17.น้ำมันนวดสมุนไพร ตราสมุนไพรไทยสยาม (ปลอม)

18.น้ำมันนวดสมุนไพร สมุนไพรธรรมชาติ สกัดจากสมุนไพร 18 ชนิด

19.น้ำมันนวดสมุนไพร ตราสมุนไพรบัวทอง สกัดจากสมุนไพร 18 ชนิด

20.น้ำมันนวดสมุนไพร ตราหาญตำรับ สกัดจากสมุนไพร 18 ชนิด

21.หัวน้ำมันสมุนไพรสกัดเย็น

22.น้ำมันสมุนไพร ตราสมุนไพรบัวทอง

23.ขี้ผึ้งสมุนไพรรวม ตราเสือ (ปลอม)

24.ยานวดผ่อนคลาย คร๊อกโคไดล์เฮิร์บ บาล์ม (ปลอม)

25.ยาสอดกระชับช่องคลอด บริสุทธิ์ (ปลอม)

26.THONG TIGER Massage Palm ยานวดผ่อนคลาย (ปลอม)

27.ยาหอมชนะลม ตราเรือใบ (ปลอม)

การตรวจค้นทั้ง 4 จุด เป็นการตรวจยึดผลิตภัณฑ์สมุนไพรปลอม 38 รายการ ผลิตภัณฑ์สมุนไพรอื่นที่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ.2562 จำนวน 42 รายการ เครื่องจักร รวมถึงอุปกรณ์ส่วนควบที่ใช้ในการผลิตสมุนไพรปลอม และพยานหลักฐานอื่น 32 รายการ รวมทั้งสิ้น 112 รายการ มูลค่าความเสียหายกว่า 4,000,000 บาท

เบื้องต้นพนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปคบ. ได้ดำเนินคดีกับ บริษัทสมุนไพรไทยสยาม จำกัด ในฐานะนิติบุคคล และกรรมการ ทั้ง 3 ราย ในฐานะส่วนตัว ได้แก่ นางสาวพิมพ์พิชชา นายจิงฉาย นายจือคาง ในความผิดฐาน “ร่วมกันผลิตและขายผลิตภัณฑ์สมุนไพรปลอม, ร่วมกันผลิตและขายผลิตภัณฑ์สมุนไพรโดยไม่ได้รับอนุญาต, ร่วมกันผลิตและขายผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับ” โดยผู้ต้องหาให้การรับสารภาพตลอดทุกข้อกล่าวหา

จากการสืบสวนเพิ่มเติมพบว่า เครือข่ายการผลิตสมุนไพรปลอมมีกลุ่มทุนชาวจีนร่วมลงทุน โดยจ้างให้คนไทยเป็นผู้ผลิตเพื่อขายให้นักท่องเที่ยวชาวจีน ใช้เลขทะเบียนตำรับยาของผลิตภัณฑ์อื่นมาใช้กับผลิตภัณฑ์ที่ทำปลอมขึ้น และจะผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพรให้มีคุณลักษณะตามที่นิยมในท้องตลาดโดยไม่ได้มาตรฐานและไม่ผ่านการรับรองจาก อย. จากนั้นส่งร้านค้าที่เจ้าของเป็นคนจีนในพื้นที่ห้วยขวาง และแหล่งท่องเที่ยวในประเทศไทย โดยจะมีมัคคุเทศก์มารับสินค้าไปหลอกขายแก่นักท่องเที่ยวชาวจีน ไม่มีการวางจำหน่ายร้านค้าทั่วไป เพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบจากหน่วยงานราชการ ขายส่งราคาชิ้นละ 20-30 บาท ขายต่อในราคาหลักร้อยถึงหลักพันบาท เริ่มผลิตและจำหน่ายมาแล้วประมาณ 1 ปี

ภก.วีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวย้ำเตือนถึงประชาชนว่า ผลิตภัณฑ์สมุนไพร อาหาร ยา เครื่องสำอาง จะต้องได้รับอนุญาตจาก อย.ก่อนจำหน่าย โดยสามารถดูเลขทะเบียนหรือเครื่องหมาย อย. ได้ที่ฉลากสินค้า ควรซื้อจากร้านค้าที่มีหลักแหล่งแน่นอน กรณีซื้อออนไลน์ให้ซื้อจากร้านค้าที่มีการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ หรือซื้อจากร้านยาที่ได้รับการตรวจวินิจฉัยและจ่ายโดยแพทย์จากสถานพยาบาลของรัฐหรือเอกชนเท่านั้น

พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผบก.ปคบ. กล่าวว่า สำหรับผู้ที่ลักลอบผลิต และขายผลิตภัณฑ์สมุนไพรโดยไม่ได้รับอนุญาต เจ้าหน้าที่ตำรวจจะดำเนินการจับกุมอย่างต่อเนื่อง หากพบจะดำเนินการทางกฎหมายให้ถึงที่สุด

Related Posts

Send this to a friend