CRIME

ตร.ไซเบอร์ เตือนภัยมิจฉาชีพ อ้างเป็นเจ้าหน้าที่สรรพากร หลอกประชาชนช่วงยื่นภาษีประจำปี

วันนี้ (24 ม.ค. 66) พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษก กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) ประชาสัมพันธ์เตือนภัย มิจฉาชีพแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ฉวยโอกาสใช้สถานการณ์ต่างๆ สร้างความน่าเชื่อ มาก่อเหตุหลอกลวงประชาชนผ่านสื่อสังคมออนไลน์ในรูปแบบต่างๆ

โดยช่วงเดือน ม.ค. – มี.ค. ของทุกปี เป็นช่วงเวลาที่ประชาชนจะยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด.90/91) มิจฉาชีพก็จะฉวยโอกาสในช่วงเวลาดังกล่าว แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่กรมสรรพากร ติดต่อไปยังประชาชนหลอกลวงด้วยวิธีการต่างๆ ได้แก่ โทรศัพท์เข้ามาหลอกลวงเป็นขบวนการ (แก๊งคอลเซ็นเตอร์) หรือส่งข้อความสั้น (SMS) หลอกให้กดลิงก์แอดไลน์เพิ่มเพื่อน แล้วให้ติดตั้งโปรแกรมของกรมสรรพากรปลอม หรือแอปพลิเคชันกรมสรรพากรปลอม หรือให้กรอกข้อมูลส่วนตัว และข้อมูลทางการเงิน

โดยอ้างเหตุผลต่างๆ เช่น เพื่อเป็นการตรวจสอบรายได้ของท่าน หรือแจ้งเตือนให้ท่านชำระภาษี หรือให้ทำการยกเลิกเสียภาษีจากโครงการคนละครึ่ง หรืออ้างว่าสามารถช่วยเหลือไม่ให้เสียภาษีย้อนหลังได้ ผ่านแอปพลิเคชันกรมสรรพากรปลอมดังกล่าว นอกจากนี้แล้วมิจฉาชีพยังมีการใช้สัญลักษณ์ของสรรพากร และเอกสารราชการปลอม เพื่อสร้างความน่าเชื่อถืออีกด้วย

โฆษก บช.สอท. กล่าวเพิ่มเติมว่า รูปแบบการหลอกลวงในลักษณะดังกล่าวมิจฉาชีพจะใช้วิธีการเดิมๆ เพียงแต่ปรับเปลี่ยนเนื้อเรื่องไปตามสถานการณ์ หรือวันเวลาให้เข้ากับสถานการณ์ในช่วงนั้นๆ เช่น ช่วงที่มีภัยพิบัติธรรมชาติ ก็อาจจะสร้างเรื่องมาหลอกรับเงินบริจาค หรือช่วงที่มีข่าวการชำระค่าปรับจราจร ก็จะสร้างเรื่องมาข่มขู่ว่าถ้าไม่ชำระจะถูกออกหมายจับดำเนินคดี มิจฉาชีพมักจะอาศัยความไม่รู้ ความโลภ ความกลัว ของประชาชนเป็นเครื่องมือในการหลอกลวง จึงขอฝากไปยังภาคประชาชนช่วยแจ้งเตือนซึ่งกันและกัน หรือรายงานไปยังหน่วยงานรัฐ หากพบแอปพลิเคชันปลอม หรือลิงก์ปลอมน่าสงสัย เพื่อลดการตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ โดยมีแนวทางการป้องกัน ดังนี้

1.เมื่อรับโทรศัพท์ หรือได้รับข้อความ ให้ท่านตั้งสติ ตรวจสอบให้ดีว่าเป็นหน่วยงานของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐจริง หรือไม่ โดยตรวจสอบจากหมายเลขคอลเซ็นเตอร์ (Call center) จากหน่วยงานนั้นๆ เป็นหลัก 2.โดยปกติ หน่วยงานภาครัฐไม่มีนโยบายที่จะติดต่อประชาชนทางโทรศัพท์หรือ การส่งข้อความสั้น (SMS) หากมีการติดต่อ ให้ขอรายละเอียดที่เกี่ยวข้องไว้เพื่อติดต่อกลับหน่วยงานนั้นๆ ด้วยตนเอง

3.ไม่กดลิงก์ หรือติดตั้งโปรแกรม หรือแอปพลิเคชันที่ผู้อื่นส่งมาให้โดยเด็ดขาด แม้จะเป็นโปรแกรมที่รู้จักก็ตาม โดยหากต้องการใช้งานขอให้ทำการติดตั้งผ่าน App Store หรือ Play Store เท่านั้น 4.ไม่ติดตั้งโปรแกรมจากแหล่งที่ไม่น่าเชื่อถือ รวมถึงไม่กดโฆษณา หรือหน้าต่าง (Pop-up) ปลอม (Adware) บนเว็บไซต์ที่เข้าเยี่ยมชมเพราะอาจเสี่ยงต่อการฝัง หรือติดตั้งมัลแวร์จากมิจฉาชีพ

5.หลีกเลี่ยงการกดลิงก์ที่ส่งต่อกันมาผ่านสื่อสังคมออนไลน์ และให้ตรวจสอบทุกครั้งก่อนที่จะติดตั้ง 6.ไม่โอนเงิน หรือทำธุรกรรมใดๆ ผ่านแอปพลิเคชันผ่านลิงก์ หรือผ่านคิวอาร์โค้ด (QR Code) โดยเฉพาะอย่างยิ่งบัญชีธนาคารที่ใช้ชื่อของบุคคลธรรมดา และ 7.ไม่กรอกข้อมูลส่วนตัว ข้อมูลทางการเงินใดๆ ลงในลิงก์ หรือแอปพลิเคชันที่เข้ามาในลักษณะดังกล่าวโดยเด็ดขาด

Related Posts

Send this to a friend