CRIME

แถลงจับซิมลงทะเบียนเถื่อนแสนกว่าเลขหมายชี้อาจนำไปก่อคดีหลอกโอนเงิน-เปิดบัญชีฟอกเงินยาเสพติด

ฝยุติธรรม ร่วมดีเอสไอ แถลงจับซิมลงทะเบียนเถื่อนแสนกว่าเลขหมาย ชี้อาจนำไปก่อคดีหลอกโอนเงิน-เปิดบัญชีฟอกเงินยาเสพติด เผย 26 ม.ค.เชิญ กสทช.-ค่ายมือถือเข้าชี้แจง เตรียมเข้มมาตรการ VOIT ช่วยประชาชนหลุดพ้นการถูกหลอกลวง

วันนี้ (24 ม.ค. 65) ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม แถลงข่าวกรณีการจับกุม เครือข่ายขายซิมโทรศัพท์ที่จะทะเบียนแล้วโดยใช้ชื่อบุคคลอื่น โดยมี น.ส.ณัฐธ์ภัสส์ ยงใจยุทธ ผู้ช่วย รมว.ยุติธรรม ว่าที่ร.ต.ธนกฤต จิตอารีย์รัตน์ เลขานุการ รมว.ยุติธรรม นพ.ไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ อธิบดีดีเอสไอ และผู้บริหารดีเอสไอร่วมการแถลงข่าว

นายสมศักดิ์ กล่าวว่ามีประชาชนจำนวนมากร้องขอความช่วยเหลือจาก กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เนื่องจากถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกลวงให้โอนเงิน มูลค่าความเสียหายทั่วประเทศหลายร้อยล้านบาท ความคืบหน้าล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้เร่งช่วยเหลือ ตนจึงได้มอบหมายให้ นพ.ไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ อธิบดีดีเอสไอ สั่งการให้สำนักงานสหวิทยาการคดีพิเศษ สืบสวนเรื่องราวต่างๆ ซึ่งพบว่าเริ่มต้นจากเครือข่ายขายซิมโทรศัพท์ที่ลงทะเบียนแล้ว

จากการสืบสวนและรวมรวมพยานหลักฐานพบว่ามีร้านค้า 2 ร้าน คือ SIM Net unlimiteds (ซิมเน็ต อัลลิมิเต็ด) อยู่กรุงเทพ และ AOcomputer (เอโอ คอมพิวเตอร์) อยู่ที่ อ.ขุนตาล จ.เชียงราย ประกาศขายซิมทุกเครือข่ายทางเวปไซต์ ลาซาด้า และ Shopee โดยทั้งสองร้านมีการนำบัตรประชาชนชาวต่างชาติมาลงทะเบียน ซึ่งเมื่อวันที่ 13 ม.ค. 64 ดีเอสไอ ได้ขอหมายศาลและลงพื้นที่ตรวจค้นทั้ง 2 ร้านพร้อมกัน โดยจุดแรกที่ บ้านพัก เขตคันนายาว กทม. พบซิมที่ลงทะเบียนแล้วและยังไม่ลงทะเบียนรวมกันแสนกว่าหมายเลข เป็นซิมที่ลงทะเบียนโดยบัตรชาวเมียนมาและกัมพูชา 8,500 หมายเลข เจ้าหน้าที่ได้ยึดมาตรวจสอบอีก 10,000 หมายเลข พบว่ามีชื่อคนไทยด้วย

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ในส่วนจุดที่ 2 ที่อ.ขุนตาล จ.เชียงราย เป็นร้านขายโทรศัพท์และอุปกรณ์ ร้านดังกล่าวไม่มีการเก็บซิมสำรองจะใช้การสั่งจองล่วงหน้า ผลการตรวจค้นพบภาพถ่ายบัตรประจำตัวผู้ไม่มีสัญชาติไทยจำนวนมากและไฟล์สั่งซื้อซิมโทรศัพท์ จึงได้รวบรวมหลักฐานทั้งหมดเพื่อสืบสวนต่อไป โดยการสั่งซื้อซิมโทรศัพท์ในลักษณะดังกล่าว อาจจะนำไปใช้ก่อเหตุอาชญากรรม เช่น การเปิดเวปพนัน การหลอกลวงและฉ้อโกงประชาชน แอพพลิเคชั่นปล่อยเงินกู้ และบางส่วนอาจจะเกี่ยวกับการฟอกเงินในขบวนการค้ายาเสพติด เพราะเมื่อมีซิมที่ลงทะเบียนแล้วจะใช้เปิดบัญชีธนาคารผ่านออนไลน์ได้ สำหรับบทลงโทษ ผู้ประกาศขายซิม ผู้ลงทะเบียนและผู้ใช้ อาจมีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (1) และ (2) มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และจะมีการขยายผลเรื่องคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีต่อไปด้วย ซึ่งขณะนี้จะมีมาตรการ VOIT ดำเนินการโดยดีเอสไอ เพื่อช่วยให้ประชาชนหลุดพ้นจากการถูกหลอกลวง

ด้าน นพ.ไตรยฤทธิ์ กล่าวว่า ขณะนี้ดีเอสไอกำลังสอบสวนคดีนี้ โดยได้ทำเป็นคดีพิเศษแล้ว เนื่องจากมีผู้เสียหายจำนวนมาก และในวันที่ 26 ม.ค. นี้เราจะเชิญสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มาชี้แจงถึงการกำกับควบคุม และอาจจะต้องปรับปรุงแก้ไขกฎหมายให้รัดกุมมากกว่านี้ และทางค่ายผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือ รวมทั้งเว็บไซต์ขายของออนไลน์ ต้องชี้แจงถึงการปล่อยซิมออกมาว่ามีขึ้นตอนอย่างไรกับดีลเลอร์ และหลุดออกมาได้อย่างไร โดยจากนี้ไป ดีเอสไอจะสืบสวนติดตามเอาผิดกับกลุ่มมิจฉาชีพอย่างเข้มข้นต่อไป

Related Posts

Send this to a friend