จับเรือประมงเวียดนามลอบทำประมงในพื้นที่ “เกาะโลซิน”
ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ภาค2 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ออกปฏิบัติงานป้องกันและปราบปรามเรือประมงรุกล้ำเข้ามาในราชอาณาจักรไทย ตรวจพบเรือประมงสัญชาติเวียดนามจำนวน 1 ลำ พร้อมลูกเรือ 5 คน ขณะลักลอบเข้ามาคราดปลิงทะเลในน่านน้ำไทย บริเวณระยะ 13 ไมล์ทะเล ในพื้นที่ อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี จึงเข้าแสดงตัวจับกุมเรือพร้อมลูกเรือทั้งหมด ก่อนนำมาสอบสวนที่ท่าเทียบเรือศูนย์ปราบปรามประมงทะเลปัตตานี เพื่อขยายผลและส่งดำเนินคดี
การจับกุมครั้งนี้ เป็นการจับกุมในพื้นที่เขตเศรษฐกิจจำเพาะ จึงได้ตั้งข้อกล่าวหาผู้กระทำความผิดไว้ 3 ข้อหา คือ
1) ใช้เรือประมงไร้สัญชาติทำการประมงในเขตการประมงไทย ตาม พ.ร.ก.การประมง พ.ศ.2558 มาตรา 10
2) ร่วมกันทำการประมงพาณิชย์โดยไม่มีใบรับอนุญาตทำการประมง ตาม พ.ร.ก.การประมง พ.ศ.2558
3) ทำการประมงในเขตการประมงไทยโดยทำหน้าที่เป็นผู้ควบคุมเรือโดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.ก.ว่าด้วยสิทธิการประมงในเขตการประมงไทย พ.ศ.2482
ทั้งนี้ ราชกิจจานุเบกษา ได้ออกประกาศกฎกระทรวง กำหนดให้บริเวณเกาะโลซิน ต.บ้านน้ำบ่อ อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี เป็นพื้นที่คุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. 2565 โดยได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาแล้วเมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2565 จะมีผลบังคับใช้วันที่ 28 ก.ค.นี้ หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
เกาะโลซิน ถือเป็นพื้นที่คุ้มครองทรัพยากรทางทะเลแห่งที่ 2 ต่อจากพื้นที่เกาะกระ จ.นครศรีธรรมราช โดยช่วงที่ผ่านมา พบอวนประมงขนาดใหญ่ขาดติดบริเวณแนวปะการัง จนสร้างความเสียหายรุนแร เกิดปะการังฟอกขาวและปะการังซีดจาง ขณะที่พื้นที่โดยรอบเกาะโลซิน พบปะการังหลากหลายชนิด เป็นแหล่งอาศัยของฉลามวาฬ และปลาอีกกว่า 116 ชนิด และหอยอีกกว่า 54 ชนิด
กฎกระทรวงดังกล่าวได้กำหนดบริเวณพื้นที่บังคับไว้ 2 บริเวณ กำหนดกิจกรรมที่ห้ามดำเนินการแตกต่างกัน โดยบริเวณที่ 1 คือแผ่นดินบนเกาะโลซินและพื้นที่ทะเลรอบเกาะเนื้อที่ประมาณ 1 ตารางกิโลเมตร ระยะทางห่างรอบเกาะจากฝั่งประมาณ 500 เมตร ห้ามก่อมลพิษ ห้ามกระทำความเสียหายต่อปะการัง สัตว์น้ำ ซากปะการัง กัลปังหา ห้ามทอดสมอเรือ ห้ามประกอบการประมง ห้ามก่อสร้าง ห้ามนำสัตว์หรือพืชจากที่อื่นเข้าไปในบริเวณ และห้ามขุดเจาะและทำเหมืองแร่
ส่วนบริเวณที่ 2 เป็นพื้นที่ในทะเล ห่างจากเกาะประมาณ 6 กิโลเมตร เนื้อที่รวมประมาณ 143 ตารางกิโลเมตร ห้ามก่อมลพิษ ห้ามกระทำการที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อแนวปะการัง สัตว์ทะเล และซากปะการัง ห้ามขุดเจาะและทำเหมืองแร่ ห้ามถมทะเลและขุดลอกร่องน้ำ และทำประมงยกเว้นการใช้เบ็ดมือ ส่วนกิจกรรมอื่นๆ เช่น การดำน้ำและการท่องเที่ยว กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) จะกำหนดแนวทาง มาตรการ และแผนการบริหารจัดการในพื้นที่หลังจากนี้