CRIME

งานวิจัยพบเด็กไทยถูกล่วงละเมิดทางเพศทางออนไลน์แต่ไม่รู้จะบอกใคร และไม่กล้าแจ้งความ กลัวถูกตำหนิ ประณาม

Disrupting Harm เผย เด็กที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศทางออนไลน์ในประเทศไทยเกือบครึ่งไม่รู้จะขอความช่วยเหลือจากที่ไหน โดย 10 – 31% ของเด็กไม่กล้าเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นให้ใคร เหตุกลัวถูกโทษ ถูกตำหนิ และอาจเกิดบาดแผลทางจิตใจซ้ำสองระหว่างกระบวนการ พบเกือบ 10% ของเด็กอายุ 12- 17 ปี ที่ใช้อินเทอร์เน็ตในไทยถูกแสวงหาประโยชน์ทางเพศทางออนไลน์

Disrupting Harm เป็นโครงการวิจัยแบบองค์รวมและเป็นนวัตกรรม โดยได้สนับสนุนให้องค์การเอ็คแพท องค์การตำรวจอาชญากรรมระหว่างประเทศ (หรืออินเตอร์โพล) และศูนย์วิจัยอินโนเซนติขององค์การยูนิเซฟ จัดทำวิจัยใน 13 ประเทศ ในภูมิภาคแอฟริกาตะวันออกและแอฟริกาใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจว่าเทคโนโลยีดิจิทัลเอื้ออำนวยต่อการแสวงประโยชน์และการล่วงละเมิดเพศต่อเด็กอย่างไร

ทั้งนี้ประเด็นสำคัญในรายงานที่ Disrupting Harm ประเทศไทยค้นพบคือ เด็ก และผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเด็กไม่แจ้งเหตุการล่วงละเมิดทางเพศทางออนไลน์ โดยในปีที่ผ่านมา จำนวน 10-31% ของเด็ก (อายุ 12 – 17 ปี) ซึ่งถูกแสวงประโยชน์และล่วงละเมิดทางเพศทางออนไลน์ไม่เปิดเผยประสบการณ์ลักษณะดังกล่าวของตนต่อผู้อื่น และมีเพียง 1-3% เท่านั้นที่รายงานเหตุการณ์ดังกล่าว

งานวิจัยพบว่า อุปสรรคใหญ่คือเด็ก ไม่รู้จะไปขอความช่วยเหลือที่ไหน ไม่รู้ว่าควรบอกใคร หรือไปบอกที่ไหน และเมื่อรายงานไปเด็กกลับได้รับความอับอาย ถูกตำหนิ และเกิดความรู้สึกที่ทำให้พวกเขาไม่ต้องการเปิดเผยเรื่องราว

จากการสัมภาษณ์เด็กผู้เสียหาย เด็กบางคนรู้สึกว่าพวกเขาไม่ได้ถูกมองว่าเป็นผู้เสียหาย แต่เป็นผู้รับผิดชอบต่อการล่วงละเมิดทางเพศและการแสวงหาประโยชน์ทางเพศทางออนไลน์ซึ่งพวกเขาต้องกล้ำกลืนฝืนทน และเด็กๆ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่าพวกเขาเชื่อว่าเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายและสาธารณชนมีมุมมองเช่นนั้นต่อพวกเขา อีกทั้งผู้เสียหายยังคงต้องเผชิญหน้ากับผู้กระทำความผิดในศาล เด็กๆ ที่เข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีเล่าถึงความทุกข์ทรมานใจ ที่ต้องนั่งอยู่ในห้องพิจารณาคดีและเผชิญหน้ากับผู้กระทำความผิด

แม้ว่ากระบวนการที่เป็นมิตรกับเด็ก เทคนิคการสืบสวนสอบสวนที่มีผู้เสียหายเป็นศูนย์กลาง และการระบุตัวผู้เสียหายได้ถูกกำหนดให้เป็นมาตรฐานแนวปฏิบัติในประเทศไทยแล้ว แต่ในทางปฏิบัติกลับไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไป

ในปีที่ผ่านมาพบว่า 9% ของเด็กที่ใช้งานอินเทอร์เน็ตในประเทศไทย อายุ 12-17 ปี ซึ่งมีจำนวนประมาณ 400,000 คน ตกเป็นผู้เสียหายจากการถูกแสวงประโยชน์และละเมิดทางเพศทางออนไลน์ ซึ่งรวมถึง
การแบล็คเมลเด็กให้เข้าร่วมกิจกรรมทางเพศ หรือได้รับเงิน สิ่งของเพื่อแลกเปลี่ยนในการร่วมกิจกรรมทางเพศโดยมีเด็กกว่า 76% ที่ได้รับข้อเสนอดังกล่าวผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งส่วนใหญ่จากทวิตเตอร์ ตามด้วยเฟซบุ๊ก และติ๊กต๊อก ตามรายงานส่วนมากแล้วผู้กระทำความผิดเป็นบุคคลที่เด็กรู้จัก ส่วนบุคคลที่เด็กไม่รู้จักมีเพียงประมาณ 1 ใน 5 ของกรณีที่เกิดขึ้น

เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น Disrupting Harm ในประเทศไทย แนะนำให้มีการดำเนินงานอย่างเร่งด่วนในด้านการศึกษา และส่งเสริมให้ดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ดังนี้

  1. รัฐบาลไทยควรแต่งตั้งหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งของรัฐให้เป็นศูนย์กลางในการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขการแสวงประโยชน์และล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางออนไลน์ เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานดังกล่าวเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในการดำเนินงาน พร้อมทั้งจัดให้มีการอบรมด้านเทคนิคที่เกี่ยวข้องแก่พนักงานอัยการ ผู้พิพากษา/เจ้าพนักงานตุลาการศาล ทนายความ เจ้าหน้าที่ศาล เจ้าหน้าที่คุ้มครองเด็ก บุคลากรทางการแพทย์ และเจ้าหน้าที่ส่วนหน้าที่ให้ความช่วยเหลือทางสังคม และครู เพื่อช่วยส่งเสริมความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทของแต่ละหน่วยงานในกรณีของการแสวงประโยชน์และล่วงละเมิดทางเพศเด็กทางออนไลน์
  2. ดำเนินการไม่ให้การพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องเพศเป็นสิ่งที่ควรประณาม และดำเนินงานปรับโครงการด้านการศึกษาและการสร้างความตระหนักรู้ที่มีอยู่เกี่ยวกับการแสวงประโยชน์และล่วงละเมิดทางเพศจากเด็ก เพื่อสร้างความเข้าใจแก่ประชาชนทั่วไป รวมถึงบทบาทของเทคโนโลยีที่อาจเอื้ออำนวยให้เกิดการแสวงประโยชน์และการล่วงละเมิดดังกล่าว

Related Posts

Send this to a friend