CRIME

ฟันโทษ เจ้าของประมงอวนลากคู่ใช้หนังสือคนประจำเรือปลอม

โทษสถานหนัก “ปรับกว่า 4 ล้าน-เพิกถอนใบอนุญาต-ห้ามทำประมง 5 ปี”

(19 มี.ค. 65) นายบัญชา สุขแก้ว รองอธิบดีกรมประมง แถลงหลังตรวจพบการใช้หนังสือคนประจำเรือสำหรับแรงงานต่างด้าว (Seabook) ปลอม ณ สะพานปลาวราสินธ์ ตำบลแสมสาร อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ว่า เมื่อวันที่ 16 มีนาคมที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ออกปฏิบัติการตรวจกลางทะเลตามแผนปกติ ตรวจพบแรงงานต่างด้าว 11 ราย บนเรือประมงอวนลากคู่ ใช้เอกสารแทน seabook ปลอม

หลังขยายผลตรวจสอบ เจ้าหน้าที่ศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้า – ออก ชลบุรี ตรวจพบการใช้เอกสารปลอมในลักษณะเดียวกันอีกจำนวน 4 ราย จึงออกคำสั่งเรียกเรือประมงกลับเข้าฝั่ง โดยทั้ง 2 กรณี เจ้าหน้าที่ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษและนำผู้ต้องหารวมทั้งของกลาง ส่ง สภ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ดำเนินคดี รวมเรืออวนลาก 2 คู่ (เรือ 4 ลำ) และแรงงาน 15 ราย

ทั้ง 2 กรณี ถือเป็นการกระทำความผิดตามพรก.การประมง พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ตามมาตรา 83 ในฐานความผิด “เป็นเจ้าของเรือใช้แรงงานต่างด้าวทำงานบนเรือโดยไม่มีหนังสือคนประจำเรือ” ต้องได้รับโทษตามมาตรา 153 ปรับ 400,000 – 800,000 บาท ต่อคนประจำเรือหนึ่งคน

สำหรับเจ้าของเรือประมงอวนลากคู่กรณีที่ 1 มีแรงงานต่างด้าวใช้เอกสารปลอม 11 ราย ต้องเสียค่าปรับไม่ต่ำกว่า 4,400,000 บาท ส่วนอวนลากคู่กรณีที่ 2 มีแรงงานต่างด้าวใช้เอกสารปลอม 4 ราย ต้องเสียค่าปรับไม่ต่ำกว่า 1,600,000 บาท และยังมีความผิดฐานปลอมแปลงเอกสารและใช้เอกสารปลอมด้วย ซึ่งกรมประมงจะดำเนินมาตรการทางการปกครอง ด้วยการเพิกถอนใบอนุญาตทำการประมงของเจ้าของเรือ และเจ้าของเรือจะเป็นบุคคลต้องห้ามตามมาตรา 39 ขาดคุณสมบัติในการได้รับใบอนุญาตทำการประมงในรอบถัดไป เป็นเวลา 5 ปี

สำหรับแรงงานภาคประมง มีการประกาศใช้กฎหมายคุ้มครองและสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพและสวัสดิการแรงงานประมง ที่เจ้าของเรือจะต้องดำเนินการอย่างชัดเจน อาทิ ค่าจ้าง เงินตอบแทน หลักประกันสุขภาพ วันหยุดพักผ่อน เวลาทำงาน อาหารน้ำดื่ม ที่พัก ฯลฯ และหากเจ้าของเรือไม่ปฏิบัติตามมีโทษทางกฎหมาย โดยเฉพาะแรงงานต่างด้าวบนเรือประมง ที่จะต้องมีหนังสือคนประจำเรือ (seabook) เพื่อบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวให้อยู่ในระบบที่รัฐสามารถดูแลได้อย่างทั่วถึง เพื่อป้องกันการค้ามนุษย์

Related Posts

Send this to a friend