CRIME

รองอธิบดีกรมพินิจฯ ชี้ 70 % ของเด็กที่กระทำผิด เกิดจากครอบครัวแตกแยก

รองอธิบดีกรมพินิจฯ มอง การดูแลเด็กเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อสร้างอนาคตของชาติ ชี้ 70 % ของเด็กที่กระทำผิด เกิดจากครอบครัวแตกแยก ส่วนการแก้โทษในคดีอาญาของเยาวชนให้ต่ำลง ต้องประเมินผลกฎหมาย

วันนี้ (17 ม.ค. 67) ในการแถลงผลงานของหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงยุติธรรม นายโกมล พรมเพ็ง รองอธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน เปิดเผยถึงการดูแลเด็ก และเยาวชน ที่ถูกดำเนินคดีอาญา ระบุว่า ที่ผ่านมา มีการร้องเรียนเรื่องการแสดงออกตามสิทธิเสรีภาพในสาธารณะ หรือการชุมนุมที่กระทำผิดตามมาตรา 112 หรือคดีความมั่นคง ซึ่งกรมพินิจให้ความสำคัญในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับเด็ก เยาวชน และผู้ใหญ่ ที่พยายามจะทำให้เด็กแสดงพฤติกรรมในการต่อต้านบางสิ่งบางอย่าง หรือแสดงออกในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง

โดยขณะนี้เด็ก และเยาวชนที่ถูกดำเนินคดี ม.112 มี 2 ราย ที่อยู่ในสถานพินิจ โดยถูกควบคุมในสถานพินิจ 1 ราย 1 ปี อีกหลาย 6 เดือน ซึ่งทั้งสองรายได้รับการแก้ไข และพัฒนาในด้านการฝึกวิชาชีพในสายสามัญ

นายโกมล กล่าวอีกว่า คิดว่าที่ผ่านมาการดูแลเด็กเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะมองว่าเป็นนโยบายหลักในการสร้างอนาคตของชาติ เด็ก และเยาวชนก็เป็นกำลังหลัก เมื่อผิดพลาด หรือก้าวพลาด เมื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ทางเราก็จะดูแล และคุ้มครอง เปลี่ยนแปลงพฤตินิสัย และทำให้มีอนาคต ซึ่งให้รู้จักเรียนวิชาชีวิต ที่เป็นวิชาที่เยาวชนส่วนใหญ่ขาดความรู้ และประสบการณ์

ส่วนกรณี เด็ก และเยาวชนที่ก่อเหตุตามภาพข่าว ในจังหวัดสระแก้ว ประเด็นนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะสถิติเด็กและเยาวชนที่กระทำผิดส่วนใหญ่ เกิดจากครอบครัวแตกแยกกว่า 70% ส่วนอีก 30% ก็ไม่ใช่ครอบครัวที่อบอุ่น หรือได้ดูแลเด็กที่เหมาะสม

ดังนั้นครอบครัวและชุมชนถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญในการสร้างเด็กและเยาวชนที่มีคุณภาพขึ้นมา ครอบครัวต้องสอดส่องพฤติกรรมของเด็กที่ไม่เหมาะสม ใส่ใจการดูแลและการเลี้ยงดูบุตร มีการแจ้งข่าวสารต่าง ๆ อย่าปล่อยให้เลยเถิดไปถึงการก่ออาชญากรรม

ซึ่งเด็กทั้ง 5 คน ในตอนนี้ ได้รับการควบคุมตัวอยู่ที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน จังหวัดสระแก้ว พนักงานคุมประพฤติกำลังประมวลข้อเท็จจริง และรายงานประวัติของเด็ก ทั้งพฤติกรรมส่วนตัว การศึกษา การประกอบอาชีพ รวมถึงพฤติการณ์เกี่ยวกับคดีเพื่อรายงานส่งศาลพิจารณาต่อไป

ส่วนประเด็นที่สำคัญ คือประชาชนต้องการขอเปลี่ยนแปลงกฎหมาย หรือให้ขยายอายุการรับโทษทางอาญาให้ต่ำลง กฎหมาย ก.ยุติธรรมโดยรัฐสภา เดิมเด็กที่กระทำผิดต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางอาญาต้องอายุ 10-18 ปี ปีที่แล้ว 8 พ.ค.2566 ได้มีการแก้ไข พรบ.เพิ่มเติม ประมวลกฎหมายอาญา ฉบับ 29 พ.ศ.2565 แก้ไขจากอายุ 10 ปี เป็น 12 ปี ที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ขณะนี้อยู่ระหว่างการบังคับใช้ หากจะมีการขอแก้ไขต้องมีการประเมินผลกฎหมายไประยะหนึ่ง เพราะจากการศึกษาทางการแพทย์มองว่าเด็กอายุ 7-12 ปี เป็นเด็กประถมศึกษา ยังไม่มีพัฒนาการด้านร่างกาย การคิดวิเคราะห์แยกแยะถูกผิด หรือควบคุมอารมณ์ไม่ได้ ที่นำไปสู้การก่อความรุนแรงหรือกระทำความผิด ตรงนี้กรมพินิจฯ จึงต้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 12 ปี หากกระทำผิดก็จะเข้าสู่กระบวนการแก้ไขฟื้นฟู ตาม พรบ.คุ้มครองเด็กของกระทรวง พม.ต่อไป

Related Posts

Send this to a friend