CRIME

DSI ย้ำ ไม่ได้กลั่นแกล้ง อดีต รมต. และข้าราชการกระทรวงแรงงาน

พัวพันเรียกเก็บหัวคิว แรงงานเก็บผลไม้ที่ฟินแลนด์ พร้อมสอบคดีค้ามนุษย์เพิ่ม หากพยานหลักฐานเพียงพอจ่อ ป.ป.ช.ทันที

วันนี้ (17 ม.ค. 67) ในการแถลงผลงานของหน่วยงานภายใต้กระทรวงยุติธรรม พ.ต.ต.สิริวิชญ์ ชาญเตชะสิทธิกุล ผู้อำนวยการกองคดีการค้ามนุษย์ กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI เปิดเผยถึงกรณีที่กองคดีการค้ามนุษย์ของดีเอสไอ ร่วมกับพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด มีมติให้กล่าวหาอดีตข้าราชการฝ่ายการเมืองระดับรัฐมนตรี และผู้บริหารระดับสูง กระทรวงแรงงานรวม 4 คน ในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 และมาตรา 157 ประกอบมาตรา 83 และมาตรา 86 จากการมีส่วนเกี่ยวข้องกับแรงงานไทยที่ไปทำงานเก็บผลไม้ป่าที่สาธารณรัฐฟินแลนด์ เมื่อปี พ.ศ. 2563 – พ.ศ. 2566

พ.ต.ต.สิริวิชญ์ เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่มีพยานหลักฐานที่ชัดเจนทั้งพยานบุคคล พยานเอกสาร และหลักฐานทางการเงิน ที่ยืนยันว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการเรียกรับผลประโยชน์จากนิติบุคคลและบุคคลในการส่งคนไทยไปทำงานที่สาธารณรัฐฟินแลนด์ เบื้องต้น พบเส้นทางการเงินที่โอนไปยังกลุ่มบุคคล 4 คนรวม 36 ล้านบาท และมีการพิจารณาพยานหลักฐานอย่างรอบคอบ และถี่ถ้วนก่อนการแจ้งข้อกล่าวหา และดำเนินการอย่างตรงไปตรงมา พร้อมยืนยันว่า ไม่ได้มีการกลั่นแกล้งอย่างที่ปรากฏเป็นข่าว ขณะนี้มีหลักฐานที่ตรวจพบเบื้องต้น คือ เส้นทางการเงินที่โอนไปยังกลุ่มบุคคล 4 คนรวม 36 ล้านบาท โดยหลังจากนี้ จะส่งสำนวนในคดีที่เกี่ยวข้องกับความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พิจารณาภายใน 30 วัน

ส่วนข้อกล่าวหาเรื่องการค้ามนุษย์ สมคบ หรือช่วยเหลือมนุษย์ ได้แยกดำเนินคดีเป็นอีกคดีหนึ่ง ยังอยู่ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐาน ซึ่งพนักงานสอบสวนสามารถดำเนินการต่อได้โดยไม่ต้องรอ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ และเป็นอำนาจของกรมสอบสวนคดีพิเศษโดยตรง

ทัังนี้ ยังไม่ได้กำหนดกรอบระยะเวลาที่ชัดเจนในการเรียกผู้ที่ถูกกล่าวหามาให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ ส่วนจะเรียกผู้ถูกกล่าวหาให้เข้ามาให้ข้อมูล หรือรับทราบข้อกล่าวหาหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของพนักงานสอบสวน หากกรมสอบสวนคดีพิเศษมีพยานหลักฐานที่เพียงพอแล้ว ก็สามารถส่งสำนวนไปยัง ป.ป.ช.ให้ดำเนินการต่อได้ทันที

สำหรับที่มีตั้งข้อสังเกตว่า เหตุใดจึงมีการแจ้งข้อกล่าวหาในช่วงนี้นั้น พ.ต.ต.สิริวิชญ์ ชี้แจงว่า เรื่องดังกล่าวได้ดำเนินมาตลอด ตั้งแต่ได้รับเรื่องมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565 และได้มีการรวบรวมพยานหลักฐานผ่านทางกลไกความร่วมมือทางอาญาระหว่างประเทศ ก่อนจะมีการประชุมคณะพนักงานสอบสวน จึงมีมติแจ้งข้อกล่าวหาไปเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ซึ่งการที่มีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องถือเป็นสาเหตุอันดับต้นๆ ของการค้ามนุษย์ เชื่อว่า การดำเนินการในคดีนี้อย่างตรงไปตรงมา และเด็ดขาด จะช่วยยกระดับการแก้ปัญหาค้ามนุษย์ของประเทศไทยได้

ขณะที่ พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ในฐานะรักษาราชการแทนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวถึงกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาซึ่งเป็นข้าราชการระดับสูงได้โต้แย้งจะฟ้องกลับนั้น มองว่า ถือเป็นสิทธิ์ที่สามารถกระทำได้ แต่ยืนยันว่า เจ้าหน้าที่รับผิดชอบในการแจ้งข้อกล่าวหา โดยมีพยานหลักฐานที่เพียงพอในการแจ้งข้อกล่าวหา และเป็นไปกรอบของกฎหมาย

Related Posts

Send this to a friend