CRIME

บช.สอท. เตือนภัยออนไลน์ หลอกทำใบขับขี่-ลงทุนทิพย์ ผ่านเพจปลอม

วันนี้ (16 พ.ค. 66) เวลา 10.00 น. พล.ต.อ.สมพงษ์ ชิงดวง ที่ปรึกษาพิเศษ ตร. หัวหน้าคณะทำงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันต้านภัยอาชญากรรมทางเทคโนโลยี แถลงข่าวเตือนภัยว่า ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา มีสถิติการรับแจ้งความคดีออนไลน์ 5 อันดับ ประกอบด้วย อันดับ 1 คดีหลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ อันดับ 2 คดีหลอกลวงให้โอนเงินเพื่อทำงานหารายได้พิเศษ อันดับ 3 คดีหลอกลวงให้กู้เงิน อันดับ 4 คดีข่มขู่ทางทางโทรศัพท์ให้เกิดความกลัวแล้วหลอกให้โอนเงิน และ อันดับ 5 คดีหลอกลวงให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์

สำหรับคดีออนไลน์ที่มิจฉาชีพนำมาหลอกลวงในช่วงนี้ คือ หลอให้โอนเงินทำใบขับขี่โดยไม่ต้องไปสอบที่ขนส่ง และหลอกให้ดาวน์โหลดแอปปลอม “Wish Shop” ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องเตือนให้ประชาชนได้รับทราบ

พล.ต.ต.ชูศักดิ์ ขนาดนิด ผู้บังคับการตรวจสอบและวิเคราะห์อาชญากรรมทางเทคโนโลยี บช.สอท. กล่าวถึงรายละเอียดภัยออนไลน์ที่น่าสนใจและเกิดขึ้นมากในรอบสัปดาห์

เรื่องที่ 1 พบมิจฉาชีพแอบอ้างว่าสามารถทำใบขับขี่ได้โดยไม่ต้องไปสอบที่ขนส่ง โดยมิจฉาชีพจะโพสต์รับทำใบขับขี่ใน Facebook มีหน้าม้ารีวิวว่าสามารถทำได้จริง หลอกให้ผู้เสียหายเพิ่มเป็นเพื่อนในไลน์ แล้วให้ส่งข้อมูลส่วนตัว ชื่อ ที่อยู่ รูปถ่าย และรูปบัตรประชาชน พร้อมเก็บเงินล่วงหน้า และอ้างว่ามีค่าเอกสาร ค่าดำเนินการ ค่าขนส่ง ต้องโอนเงินเพิ่ม สุดท้ายไม่ได้รับใบขับขี่ จนมีผู้เสียหายแจ้งความเข้ามาเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้กรมการขนส่งไม่มีการทำใบอนุญาตขับขี่รถทุกประเภท โดยไม่ต้องมีการสอบ และไม่มีการทำใบอนุญาตขับขี่แบบออนไลน์

นายเสกสม อัครพันธุ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า มีกลุ่มมิจฉาชีพแอบอ้างว่าสามารถทำธุรกรรมกับกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ผ่านทางเพจ Facebook โดยเฉพาะรับทำหรือต่ออายุใบขับขี่รถยนต์ นำรูปตราสัญลักษณ์ ขบ. มาใส่ หรือนำรูปภาพของผู้ที่ได้รับใบขับขี่มาแอบอ้าง หลอกลวงว่าสามารถออกใบขับขี่หรือต่ออายุใบขับขี่โดยไม่ต้องเดินทางไปที่สำนักงานขนส่ง เรียกเก็บค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 1,000 – 6,000 บาท เมื่อผู้เสียหายโอนเงินไปแล้วจะเรียกร้องให้โอนเงินเพิ่มอีกและเงียบหายไป

เรื่องที่ 2 มิจฉาชีพชักชวนให้ลงทุนในแอปพลิเคชันปลอม “Wish Shop” โฆษณาทาง Facebook ชักชวนให้ลงทุนโดยใช้รูปและโปรไฟล์ที่น่าเชื่อถือ ผู้เสียหายหลงเชื่อทักสอบถามมิจฉาชีพคนที่ 1 จึงให้แอดไลน์มิจฉาชีพคนที่ 2 เพื่อแจ้งรายละเอียดการทำงาน ให้ผู้เสียหายโหลดแอปพลิเคชัน Wish ปลอมนอก Play Store สมัครสมาชิก และตั้งชื่อร้าน ให้ทำตามขั้นตอนเริ่มจากลงทะเบียน เลือกสินค้ามาขาย โดยมีเงื่อนไขและจำนวนที่จะทำให้ผ่านภารกิจ และต้องเติมเงินก่อนขายทุกครั้ง ช่วงแรกให้สั่งซื้อสินค้าครั้งละ 3 ชิ้น สามารถถอนเงินทุนและกำไรคืนได้ แต่ช่วงหลังมีเงื่อนไขสินค้าต้องถึงมือลูกค้า และต้องเคลียร์สินค้าทุกชิ้นก่อน จึงจะถอนเงินได้

ผู้เสียหายเริ่มติดปัญหา เช่น ออร์เดอร์ของลูกค้ามีราคาสูงขึ้น ทำให้ต้องเติมเงินเพิ่มขึ้นตามราคาสินค้า หรือมีจำนวนออร์เดอร์ใหม่เข้ามาจำนวนมาก หรือสินค้าไปไม่ถึงมือลูกค้า ผู้เสียหายจึงขอปิดร้าน แต่มิจฉาชีพอ้างว่ามีออร์เดอร์ค้างอยู่ และถ้าปิดหรือถอนเงินจะต้องเสียค่าปิดร้าน จ่ายภาษี 7% ค่าธรรมเนียมโอน 5% ค่าบริการโอนเงิน 15% และ อ้างว่าเงินสะสมในร้านมีจำนวนมากเกิน 2 ล้าน ถูกจำกัดโดยระบบ ต้องโอนยอด 30% เพื่อพิสูจน์ว่าเป็นบัญชีของผู้เสียหาย โดยจะหลอกให้โอนเงินทีละขั้นตอน หากไม่ทันเวลาจะถูกหัก 10% ของยอดเงิน เมื่อโอนเงินแล้ว จึงจะหลอกขั้นตอนต่อไป และทุกครั้งจะหลอกว่าจะโอนเงินคืนทั้งหมด

สำหรับจุดสังเกต สามารถเปรียบเทียบของปลอมและของจริงได้โดยเพจปลอมใช้โลโก้แบบเก่า คะแนน Rating เขียน “Rating” นำโลโก้ Shoppee ผสมใน App Wish และเพิ่มองค์ประกอบต่างๆ ใช้โทนสีส้มเป็นหลักคล้ายกับแอป Shopee และใช้ไอคอนเมนูจากแหล่งอื่น

ปัจจุบันแอปพลิเคชั่น Wish เป็นแพลตฟอร์มช้อปปิ้งออนไลน์จากสหรัฐอเมริกา ยังไม่รองรับการซื้อขายสินค้าในประเทศไทย ไม่นิยมใช้ไลน์ ในการสนทนาแบบข้อความด่วน ฉะนั้นในไลน์จึงไม่มีบัญชี Wish ที่เป็นทางการ เนื้อหาภาษาไทยในแอป และการสนทนาทางไลน์ ใช้การแปลคำจากภาษาต่างประเทศ ทั้งนี้หากต้องการติดตั้งแอปพลิเคชันใด ๆ ควรโหลดและติดตั้งจาก Google Play store หรือ Apple Store เท่านั้น

เรื่องที่ 3 มิจฉาชีพแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่การไฟฟ้านครหลวงหลอกโอนเงิน โดยส่ง SMS แจ้งว่าเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าจดเลขมิเตอร์เกิน ให้ติดต่อเจ้าหน้าที่โดยเพิ่มเพื่อนในไลน์ กับมิจฉาชีพซึ่งใช้ชื่อสำนักงานการไฟฟ้า อ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่ส่งลิงก์มาให้หลงเชื่อและกดลิงก์ เมื่อผู้เสียหายดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน จะเข้าควบคุมเครื่องโทรศัพท์ แล้วโอนเงินออกจากบัญชีผู้เสียหาย

จุดสังเกต คือ มิจฉาชีพจะใช้เว็บไซต์ชื่อ www.xk-line.cc ซึ่งนามสกุลของโดเมนไม่ถูกต้อง มีการไลน์เป็นบัญชีส่วนบุคคล สามารถโทรหากันได้ ใช้โลโก้ กฟน. เหมือนของจริง แต่ใช้ชื่อบัญชี “สำนักงานการไฟฟ้า” สำหรับผู้ที่กำลังตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ มีวิธีป้องกันโดยการไม่เปิดอ่านหรือกดลิงก์ใน SMS แปลกปลอม หรือติดตั้งแอปพลิเคชันที่มิจฉาชีพหลอก ควรตรวจสอบกับการไฟฟ้านครหลวง MEA โดยตรง

พล.ต.อ.สมพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้ดำเนินการตาม พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 (บัญชีม้า) โดยออกหมายจับ จำนวน 264 คดี/268 หมายจับกุม จำนวน 170 คดี/137 คน เจ้าของไปขอปิดบัญชี จำนวน 118 บัญชี ทั้งนี้จากการเตือนภัยออนไลน์มิจฉาชีพแอบอ้างธนาคารส่ง SMS แล้วแนบลิงก์ให้กด กรณีนี้ขอให้ประชาชนตระหนักว่า ปัจจุบันธนาคาร หน่วยงานทางการเงิน งดการส่งลิงก์ทุกประเภท ผ่าน SMS

Related Posts

Send this to a friend