CRIME

ยสท.เร่งปราบปรามบุหรี่ผิดกฎหมาย ห่วงรัฐสูญเสียรายได้

นายภูมิจิตต์ พงษ์พันธุ์งาม ผู้ว่าการการยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) ล่าสุด เร่งปราบปรามบุหรี่ผิดกฎหมาย หลังจากปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ ตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 และ พ.ศ. 2564 ส่งผลให้บุหรี่ในประเทศราคาปรับสูงขึ้นจากเดิมมาก โดยบุหรี่ตราที่ขายในราคา 51 บาท ปรับขึ้นเป็น 60 บาท และ 66 บาท กระทั่งทำให้การลักลอบนำบุหรี่ผิดกฎหมาย ทั้งบุหรี่ปลอมเครื่องหมายการค้าของ ยสท. และบุหรี่หนีภาษี ซึ่งมีราคาถูกกว่าบุหรี่ในประเทศหลายเท่าตัว เข้ามาจำหน่ายในประเทศเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้จึงเป็นห่วงรัฐสูญเสียรายได้มหาศาล พร้อมกันนี้เดินหน้าธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่เหลือจากการใช้ประโยชน์ อันเนื่องจากปัจจุบันการแพร่ระบาด ของบุหรี่ปลอม และการสูบบุหรี่ที่น้อยลง โดยเปิดให้เช่าพื้นที่อสังหาริมทรัพย์ จำนวนกว่า 2,000 ไร่ ใน 15 จังหวัด เพื่อสร้างรายได้ที่ยั่งยืน

นายภูมิจิตต์ กล่าวว่า ภายหลังการปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ ตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 และ พ.ศ. 2564 ส่งผลให้บุหรี่ในประเทศราคาปรับสูงขึ้นจากเดิมมาก โดยบุหรี่ตราที่ขายในราคา 51 บาท ปรับขึ้นเป็น 60 บาท และ 66 บาท ด้วยปัจจัยด้านราคาที่ปรับสูงขึ้น ทำให้มีการลักลอบนำบุหรี่ผิดกฎหมาย ทั้งบุหรี่ปลอมเครื่องหมายการค้าของ ยสท. และบุหรี่หนีภาษี ซึ่งมีราคาถูกกว่าบุหรี่ในประเทศหลายเท่าตัว เข้ามาจำหน่ายในประเทศเป็นจำนวนมาก สวนทางกับนโยบายปรับเพิ่มภาษียาสูบ เพื่อลดการบริโภคยาสูบในประเทศ”

“ทั้งนี้ ยสท.ได้รับผลกระทบจากการถูกละเมิด ทรัพย์สินทางปัญญาตราเครื่องหมายการค้า ตั้งแต่ พ.ศ. 2541 จนถึงปัจจุบัน มีการลักลอบนำเข้าบุหรี่ ปลอมเครื่องหมายการค้าของ ยสท.จากประเทศเพื่อนบ้าน ที่มีแนวชายแดนติดกับประเทศไทย ซึ่งร้านค้าปลีกลักลอบนำไปจำหน่ายปะปนกับบุหรี่จริง และขายในราคาเท่ากับบุหรี่จริง แม้ว่า ยสท.ได้ทำจุดตรวจสอบที่ซองบุหรี่เพื่อให้ผู้บริโภคใช้ในการตรวจสอบ แต่ไม่สามารถสื่อสารโดยตรงไปยังผู้บริโภคได้ ด้วยข้อจำกัดตามพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 ทำให้ผู้บริโภคจำนวนมากไม่ทราบข้อมูล และตกเป็นเหยื่อในการบริโภคบุหรี่ปลอม สำหรับบุหรี่หนีภาษีราคาถูก ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคเป็นอย่างมากโดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งการค้าบุหรี่หนีภาษีทำเป็นขบวนการใหญ่ เปิดร้านจำหน่ายอย่างเปิดเผย ไม่เกรงกลัวกฎหมาย หากไม่ดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน และจริงจัง จะทำให้ธุรกิจการค้าบุหรี่หนีภาษี เติบโตขยายตลาดการเข้าถึงผู้บริโภคได้ง่ายขึ้น และรัฐจะสูญเสียรายได้อย่างมหาศาล ส่วนผู้ค้ายาสูบถูกกฎหมายทั้งระบบ ก็จะได้รับผลกระทบอย่างหนักหน่วง”

ยสท.มีหน่วยงานที่ทำหน้าที่ ป้องกันปราบปรามบุหรี่ผิดกฎหมาย คือ สำนักป้องกันบุหรี่ผิดกฎหมาย มีคณะอนุกรรมการกำกับดูแลบริหาร การป้องกันและปราบปรามบุหรี่ผิดกฎหมาย ซึ่งแต่งตั้งจากผู้แทนหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วยกรมสรรพสามิต กรมศุลกากร ทหาร ตำรวจ ปปง. กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย และผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อกำกับควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิด ซึ่ง ยสท. ตระหนักถึงปัญหาและพิษภัยของบุหรี่ปลอม และพยายามแก้ไขมาโดยตลอด แต่ปัญหายังคงทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะผู้ค้าสามารถเข้าถึงและซื้อบุหรี่ปลอมมาจำหน่ายได้หลากหลายช่องทาง โดยเฉพาะช่องทางออนไลน์ และการส่งสินค้าผ่านระบบโลจิสติกส์ ซึ่งผู้บริโภคและร้านค้าสามารถเข้าถึงบุหรี่ผิดกฎหมายได้ง่าย สะดวกและรวดเร็ว ทำให้ตกเป็นเหยื่อในการบริโภคบุหรี่ปลอม ที่เจือปนสารนอกเหนือการควบคุม ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ขณะที่บุหรี่เครื่องหมายการค้าของ ยสท. นั้น มีฝ่ายวิจัยและพัฒนา ซึ่งทำหน้าที่วิเคราะห์สารประกอบต่างๆ เป็นประจำทุกเดือน เพื่อตรวจสอบสารที่ต้องห้าม”

ผู้ว่าการ ยสท. กล่าวว่า ปัญหาการแพร่ระบาดของบุหรี่ผิดกฎหมาย บุหรี่หนีภาษี บุหรี่ปลอม การแข่งขันทางการค้าในอุตสาหกรรมบุหรี่ต่างชาติ และจำนวนผู้สูบบุหรี่ที่น้อยลง ตามนโยบายรัฐและกระแสโลก ทำให้ ยสท.ได้รับผลกระทบจากยอดจำหน่ายที่ลดลง ยสท.จึงได้มีการนำทรัพย์สินประเภทอสังหาริมทรัพย์มาจัดหาประโยชน์ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการสร้างรายได้ เพิ่มอย่างยั่งยืน โดยปัจจุบัน ยสท. มีแปลงที่ดินจำนวน 150 แปลงที่เป็นกรรมสิทธิ์ เพื่อใช้ดำเนินการตามวัตถุประสงค์ ในเขตพื้นที่ 15 จังหวัด รวมพื้นที่ทั้งสิ้น 6,003 ไร่ 3 งาน 26 ตารางวา ได้แก่ กรุงเทพมหานคร พระนครศรีอยุธยา เชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ มหาสารคาม เพชรบูรณ์ สุโขทัย ขอนแก่น ร้อยเอ็ด หนองคาย นครพนม และบึงกาฬ ซึ่งคณะกรรมการ ยสท. (บอร์ด) มีมติให้นำอสังหาริมทรัพย์ ที่เหลือจากการใช้ประโยชน์ ตามภารกิจหลักและมีศักยภาพนำมาจัดหาประโยชน์สร้างรายได้”

“โดยนำมาให้เช่า จำนวนกว่า 2,000 ไร่ จากทั้งหมด 6,003 ไร่ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการวิเคราะห์ศักยภาพอสังหาริมทรัพย์ของ ยสท.ที่มีปัจจัยทั้งภายใน ภายนอก โอกาส และอุปสรรค โดยจะต้องประสานองค์ความรู้ต่างๆ เพื่อให้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ได้ตามเป้าหมาย สอดคล้องทั้งสภาพแวดล้อม บริบทของเมือง และความต้องการในเชิงธุรกิจ ก่อนนำมาจัดประโยชน์ต่อไป นอกจากนี้ ยสท. กำลังพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ และการแสดงผลข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ด้วยโปรแกรมภูมิสารสนเทศ (Supermap) เพื่อสนับสนุนกิจกรรม ที่เกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์ของ ยสท. โดยมีเป้าหมายเพื่อจัดระเบียบฐานข้อมูลด้านภาษี ประกันภัย ข้อมูลแปลงที่ดิน ข้อมูลทรัพย์สิน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการวางแผนผังระบบ และจัดการข้อมูลแยกส่วน แยกประเภทตามผู้ใช้งาน คาดว่าจะสามารถใช้งานระบบได้เต็มรูปแบบ ภายในเดือนเมษายน 2566 นี้”

Related Posts

Send this to a friend