DSI เข้าแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติม แชร์ลูกโซ่ – พ.ร.บ.ขายตรงฯ กับ 18 บอสดิไอคอน
DSI เข้าแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติม “แชร์ลูกโซ่ – พ.ร.บ.ขายตรงฯ“ 18 บอส ’ดิไอคอนกรุ๊ป‘
วันนี้ (11 พ.ย. 67) เวลา 08:30 น. เจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เดินทางเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร เพื่อเตรียมแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมกับผู้ต้องหาทั้ง 18 คน ในคดีบริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด ในความผิดตาม พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 มาตรา 4, 5 (แชร์ลูกโซ่) และ พ.ร.บ.ขายตรง และตลาดแบบตรง พ.ศ.2545 มาตรา 19, 20
ร.ต.อ.วิษณุ ฉิมตระกูล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เปิดเผยว่า วันนี้จะมีการแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมกับผู้ต้องหาในความผิดตาม พ.ร.ก.กู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน (แชร์ลูกโซ่) และ พ.ร.บ.ธุรกิจขายตรงและการตลาดแบบตรง หลังจากที่ก่อนหน้านี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติส่งสำนวนข้อหาฉ้อโกงประชาชน และข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จนกระทั่งดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษ และมีการสอบปากคำสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และ สคบ. เกี่ยวกับพฤติกรรมในการดำเนินกิจการของบริษัทดิไอคอนกรุ๊ป จนพบข้อเท็จจริงเพิ่มเติม จนนำมาสู่การที่ดีเอสไอ มีมติในการแจ้งข้อกล่าวหาบอสทั้ง 18 ราย และนิติบุคคลเพิ่มเติม
ส่วนการเข้ามาแจ้งข้อกล่าวหาในวันนี้ มีการประสานกับ ผบ.เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และ ผอ.ทัณฑสถานหญิงกลางแล้ว ในการจัดสรรผู้ต้องหาเข้ามาพบเจ้าหน้าที่เพื่อแจ้งข้อกล่าวหา ซึ่งจะต้องทีมทนายในการร่วมสืบสวนสอบสวน ซึ่งทางดีเอสไอได้มีการประสานไว้แล้วเช่นกัน
ร.ต.อ.วิษณุ ยืนยันว่าการจะแจ้งข้อหาแชร์ลูกโซ่ มีองค์ประกอบความผิดตามที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และ สคบ. ให้ข้อเท็จจริงกับพนักงานสอบสวน เช่น การประกอบกิจการเป็นลักษณะผิดกฎหมาย ไม่สามารถที่จะนำเงินมาจ่ายผลประโยชน์ตอบแทน หรือนำเงินมาหมุนเวียนจ่ายจริงหรือไม่ โดยมีการสอบสวนไปถึงแผนประทุษกรรม งบการเงิน การวิเคราะห์เส้นเงิน ข้อมูลคอมพิวเตอร์หลังบ้าน จนเห็นภาพรวมของคดี เป็นการรวบรวมหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความผิดผู้ต้องหา
ส่วนที่ฝั่งผู้ต้องหาต่อสู้ว่า มีสินค้าอยู่ ก็เป็นสิทธิ์ผู้ต้องหาที่จะแก้ข้อกล่าวหา ซึ่งหากทนายฝ่ายนั้นมีข้อเท็จจริงตรงไหนที่มีประโยชน์ ดีเอสไอก็พร้อมรับฟัง
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ประเด็นการสอบสวนกลุ่มบอสดารา และบอสคนอื่น ๆ จะแตกต่างกันหรือไม่เพราะว่าลักษณะพฤติกรรมไม่เหมือนกันนั้น ร.ต.อ.วิษณุ มองว่า ทั้งหมดมีกระบวนการของการแบ่งหน้าที่กันทำ ซึ่งแม้ว่าทุกคนอาจจะไม่ได้เข้าองค์ประกอบความผิดพร้อมกัน แต่เมื่อเป็นการแบ่งหน้าที่กันทำ ก็ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าหน้าที่ของแต่ละคน เมื่อรวมกันแล้วมีวัตถุประสงค์เดียวกันในการกู้ยืมเงินเพื่อเป็นการฉ้อโกงประชาชน