CRIME

ตำรวจไซเบอร์ เตือนเพจขายสินค้าปลอมระบาดหนัก แนะตรวจสอบเพจก่อนซื้อ

พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษก บช.สอท. กล่าวว่า จากสถิติการรับแจ้งความผ่านศูนย์บริหารการรับแจ้งความออนไลน์นั้น พบว่า นับตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 65 – 8 ก.ค. 66 มีประชาชนถูกหลอกซื้อขายสินค้าและบริการสูงสุดเป็นลำดับที่หนึ่งกว่า 111,139 เรื่อง คิดเป็น 38.11% ของจำนวนการรับแจ้งความออนไลน์ทั้งหมด และมีความเสียหายรวมกว่า 1,644 ล้านบาท ซึ่งผู้เสียหายหลายรายถูกมิจฉาชีพหลอกลวงขายสินค้าและบริการออนไลน์หลากหลายรูปแบบ ประกอบด้วย

1.ซื้อสินค้าแต่ไม่ได้รับสินค้า

2.ซื้อสินค้าแต่ได้รับสินค้าไม่ตรงกับที่สั่งซื้อ (ได้ไม่ตรงปก)

3.ซื้อสินค้าแต่ได้รับสินค้าที่ไม่มีคุณภาพ หรือมีคุณภาพต่ำ

4.การใช้หลักฐานการโอนเงินปลอมเพื่อหลอกลวงผู้ขาย

ทั้งนี้ มิจฉาชีพจะฉวยโอกาสมองหาสินค้าที่ประชาชนสนใจในช่วงเวลานั้น สร้างเพจเฟซบุ๊กปลอมแล้วตั้งชื่อเพจให้เหมือนหรือคล้ายคลึงกับเพจจริง คัดลอกรูปภาพสินค้า เนื้อหา และโปรโมชัน จากเพจจริงมาใช้ แล้วขายสินค้าในราคาถูกกว่าปกติ ด้วยการการันตีสินค้า รีวิวสินค้าปลอมจากบัญชีอวตาร เมื่อหลอกลวงได้ทรัพย์สินจำนวนมากแล้ว จึงเปลี่ยนชื่อเพจ หลอกลวงขายสินค้าไปเรื่อย ๆ

นอกจากนี้ มิจฉาชีพยังซื้อบัญชีเพจที่มีผู้ติดตามจำนวนมาก หลอกลวงขายสินค้าแก่ประชาชน เช่น หลอกขายทุเรียนในช่วงฤดูกาลผลไม้ หลอกขายเครื่องปรับอากาศช่วงหมอกควันและฝุ่น PM 2.5 หลอกขายแผงโซลาร์เซลล์ช่วงค่าไฟฟ้าสูงขึ้น หลอกเอาเงินค่ามัดจำที่พักในฤดูกาลท่องเที่ยว เป็นต้น

โฆษก บช.สอท. กล่าวเพิ่มเติมว่า การซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ เป็นช่องทางหนึ่งที่มิจฉาชีพฉวยโอกาสเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ หลอกลวงเอาทรัพย์สินของประชาชนโดยมิชอบ จึงประชาสัมพันธ์ พร้อมแนวทางการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ ดังนี้

1.ระมัดระวังการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ หลีกเลี่ยงการซื้อสินค้าที่ไม่มีหน้าร้าน ควรติดต่อซื้อจากบริษัท หรือตัวแทนจำหน่ายโดยตรง

2.ระมัดระวังการซื้อสินค้าราคาถูก ของถูกต้องถูกอย่างมีเหตุผล

3.หากซื้อสินค้าผ่านเพจในเฟซบุ๊ก ต้องระมัดระวังเพจปลอม โดยเพจจริงจะมีผู้ติดตามสูง สร้างขึ้นนานแล้ว มีรายละเอียดการติดต่อร้านชัดเจน สามารถโทรติดต่อสอบถามได้

4.ตรวจสอบความโปร่งใสของเพจว่ามีการเปลี่ยนชื่อมาก่อนหรือไม่ ผู้จัดการเพจอยู่ในประเทศหรือไม่

5.ตรวจสอบว่ามีสินค้าจริงหรือไม่ โดยขอดูภาพหลายมุม สอบถามรายละเอียดสินค้าที่เกี่ยวข้อง ผลิตจากที่ใด เงื่อนไขการรับประกัน วิธีการใช้งาน เป็นต้น

6.ตรวจสอบการรีวิวสินค้า ผู้ที่เคยสั่งซื้อได้รับสินค้าหรือไม่ คุณภาพสินค้าเป็นอย่างไร ควรตรวจสอบตัวตนผู้รีวิวว่าเป็นอวตารหรือไม่

7.ก่อนโอนชำระค่าสินค้า ให้ตรวจสอบประวัติของร้าน และชื่อหมายเลขบัญชีธนาคารที่รับโอนว่ามีประวัติไม่ดีหรือไม่ ผ่านเว็บไซต์ Google, Blacklistseller, chaladohn เป็นต้น

8.เมื่อชำระเงินแล้ว ควรติดตามการจัดส่งจากผู้ซื้อ หรือขอดูหลักฐานการส่งสินค้า เพื่อยืนยันว่าส่งสินค้าให้จริง

9.หากไม่ได้สั่งซื้อสินค้าดังกล่าว ควรปฏิเสธรับสินค้า และห้ามชำระเงิน

10.กดรายงานบัญชี หรือเพจในเฟซบุ๊กปลอม เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้อื่นหลงเชื่อ

11.หากสินค้ามีปัญหา ให้รวบรวมพยานหลักฐาน เช่น ข้อความการสนทนา หลักฐานการชำระเงิน คำสั่งซื้อสินค้า แล้วติดต่อกับผู้ขายให้แก้ไขปัญหา ส่งสินค้าคืน หรือเคลมสินค้าภายในระยะเวลาที่กำหนด

Related Posts

Send this to a friend