CRIME

ดีเอสไอ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจค้นขบวนการนายหน้าชาวต่างชาติ จัดหาหญิงรับจ้างตั้งครรภ์แทน

เมื่อวันศุกร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ 2564 กรมสอบสวนคดีพิเศษ โดย กองคดีการค้ามนุษย์ และกองกิจการต่างประเทศและคดีอาชญากรรมระหว่างประเทศ ร่วมกับ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กรมกิจการเด็กและเยาวชน กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ชุดปฏิบัติการพิเศษ ศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดกองทัพเรือ หน่วยสืบสวนเพื่อความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ (Homeland Security Investigations: HSI) ประจำสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ณ กรุงเทพมหานคร และองค์กรพัฒนาเอกชน ได้ร่วมกันตรวจค้นสถานที่ซึ่งเกี่ยวข้องกับขบวนการนายหน้าชาวต่างชาติจัดหาหญิงรับจ้างตั้งครรภ์แทน
 
สืบเนื่องจากเมื่อเดือนกันยายน 2563 โรงพยาบาลรามาธิบดีได้รับเด็กทารกเพศชาย อายุ 4 เดือน เข้ารับการรักษา เนื่องจากได้รับบาดเจ็บมีเลือดออกในสมอง โดยแพทย์สันนิษฐานว่า ทารกดังกล่าวถูกเขย่าอย่างรุนแรง จึงจำเป็นที่จะต้องติดต่อมารดาตามสูติบัตรของทารกดังกล่าว เพื่อขอรับถ้อยคำถึงเหตุดังกล่าว ซึ่งปรากฏต่อมาว่า มารดาตามสูติบัตรของทารกดังกล่าวมีภูมิลำเนาอยู่จังหวัดเพชรบูรณ์ โดยให้การสารภาพว่า เป็นหญิงที่รับตั้งครรภ์แทน ไม่ได้ใช้ไข่ของตนเอง โดยตกลงกับนายหน้า เพื่อรับจ้างตั้งครรภ์แทนชาวต่างชาติซึ่งตนเองไม่เคยพบหรือรู้จักมาก่อน โดยตกลงที่จะรับเงินค่าจ้าง จำนวนประมาณ 450,000 บาท โดยรวมค่าใช้จ่ายประจำเดือน เดือนละ 15,000 บาท แต่ไม่รวมค่าใช้จ่ายที่จะใช้สำหรับไปพบแพทย์หรือค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการรักษาพยาบาล
โดยนายหน้าจะเป็นผู้นัดหมายไปตรวจสุขภาพ ณ สถานพยาบาลเอกชน การทำหนังสือเดินทาง จัดการการเดินทาง จัดหาที่พัก พาไปใส่ตัวอ่อน ณ ประเทศเพื่อนบ้าน และนายหน้ายังเป็นผู้จ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลทั้งหมดที่เกิดขึ้น ซึ่งข้อมูลเบื้องต้นทราบว่าหญิงดังกล่าวจะต้องเดินทางไปคลอดเด็กที่เกิดจากการตั้งครรภ์แทน ณ สาธารณรัฐประชาชนจีน แต่เนื่องจากเกิดสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จึงจำเป็นที่จะต้องคลอดเด็ก ณ สถานพยาบาลเอกชนในกรุงเทพมหานคร และนายหน้าได้มารับตัวเด็กไปทันทีหลังจากพ้นการพักฟื้นในสถานพยาบาล
 
จนกระทั่งได้รับการติดต่ออีกครั้งเมื่อเด็กคนดังกล่าวเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล เนื่องจากอาการบาดเจ็บในสมองตามข้อเท็จจริง
 
ทั้งนี้ การดำเนินการให้มีการตั้งครรภ์แทนดังกล่าวเป็นไปเพื่อประโยชน์ทางการค้า ตลอดจนมิได้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด จึงเป็นการต้องห้ามตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. 2558 พนักงานสืบสวนได้ดำเนินการสืบสวนขยายผลกรณีดังกล่าว ปรากฏข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่า มีกลุ่มขบวนการที่มีลักษณะแบ่งแยกหน้าที่จัดการในด้านต่าง ๆ ซึ่งต่อมาสืบทราบว่ามี สถานที่ที่อาจนำเด็กที่คาดว่าจะเกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ (การตั้งครรภ์แทน) โดยเป็นการต้องห้ามตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. 2558 เช่นเดียวกัน โดยเด็กจำนวน 2 คนดังกล่าว ถูกเลี้ยงในสถานที่ปิด เพื่อรอการส่งมอบไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีนต่อไป และยังพบข้อมูลจากการสืบสวนเกี่ยวกับธุรกรรมทางการเงินที่เกี่ยวข้องของขบวนการนายหน้าดังกล่าวนี้อีกด้วย
 
การบูรณาการสืบสวน ได้ร่วมกันสืบสวนกรณีดังกล่าว ล่าสุด เมื่อวันศุกร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ 2564 ได้ร่วมกันเข้าตรวจค้นสถานที่ซึ่งเกี่ยวข้องกับขบวนการดังกล่าว จำนวน 9 จุด โดยสามารถช่วยเหลือเด็กทารก จำนวน 2 คน ซึ่งเป็นเด็กที่เกิดจากการรับจ้างตั้งครรภ์เชิงพาณิชย์ (อายุ 6 เดือน และ 8 เดือน) ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และพบเป้าหมายที่เป็นแม่รับจ้างอุ้มบุญ และเอกสารสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการอุ้มบุญหลายรายการ ซึ่งเกี่ยวข้องกับหญิงที่รับจ้างอุ้มบุญอีกจำนวนมาก โดยจะได้ขยายผลต่อไป

Related Posts

Send this to a friend