CRIME

เตือนภัยอีเมล์หลอกลวง อ้างเป็นไปรษณีย์ไทย หลอกให้โอนเงินชำระภาษีศุลกากร

เตือนภัยอีเมล์หลอกลวง อ้างเป็นไปรษณีย์ไทย หลอกให้โอนเงินชำระภาษีศุลกากร สุดท้ายหลอกเอาข้อมูลบัตรเครดิตและบริการทางการเงิน สูญเงินเกือบหมดบัญชี

อีเมล์ฟิชชิ่ง อ้างเป็นไปรษณีย์ไทยกลับมาระบาด สร้างความเดือดร้อนอีกครั้ง โดยแอบอ้างใช้โลโก้ไปรษณีย์ไทย และอ้างเป็นฝ่ายบริการลูกค้าแจ้งเตือนครั้งสุดท้ายว่าไม่สามารถนำจ่ายพัสดุได้ เนื่องจากไม่มีการชำระภาษีศุลกากร จำนวนเงินเพียง 36.14 บาท และให้กดยืนยันการจัดส่งพัสดุเพื่อชำระเงินจำนวนดังกล่าว

ผู้เสียหายรายหนึ่งระบุว่า ได้รับอีเมล์นี้ โดยแจ้งว่าเป็นการแจ้งเตือนครั้งสุดท้าย และอีเมล์มีความน่าเชื่อถือ เนื่องจากใช้ชื่อว่าไปรษณีย์ไทย และมีการใช้โลโก้ของไปรษณีย์ไทย รวมถึงมีภาษาที่เป็นทางการ ที่สำคัญ จำนวนเงินไม่มากนักเพียง 36.14 บาท จึงกดลิงค์เพื่อดำเนินการชำระเงิน

แต่หลังจากกรอกข้อมูลต่างๆ กดยินยอม และกดชำระเงินไป พบว่าเงินในบัญชีที่ใช้ในการโอนเงินถูกโอนไปจนหมดบัญชี ไม่ใช่เป็นการชำระเงิน 36.14 บาท และขณะนี้ได้แจ้งธนาคารที่ใช้ในการทำธุรกรรมครั้งนี้ขอให้ยกเลิกการโอนครั้งนี้ แต่อยู่ในระหว่างดำเนินการ

ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า จุดสังเกตของอีเมล์หลอกลวงนี้ และอีเมล์ในลักษณะเดียวกันที่ผู้ใช้ต้องสังเกตให้ดีก่อนดำเนินการใดๆ คือ

1. email address โดยจะเห็นว่า Email Adress ที่ใช้ไม่ใช่ email ของไปรษณีย์ไทย แม้จะตั้งชื่อว่า Thailand Post – ไปรษณีย์ไทย ก็ตาม เนื่องจากชื่อในอีเมล์สามารถตั้งว่าอะไรก็ได้ โดยไม่ต้องเป็นตามความจริง แต่อีเมล์ขององค์กรสามารถปลอมได้ยากกว่า เช่นในกรณีนี้ ชื่ออีเมล์ว่า Thailand Post ไปรษณีย์ไทย แต่ email ที่จริงคือ paula.shand@nhs.net
และยังต้องระวังเพราะในบางกรณีจะมีการตั้งชื่ออีเมล์ให้ใกล้เคียงเช่นอาจใช้ว่า thailandpost@… ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้หลงกลได้ง่าย

ทั้งนี้ สำหรับกรณีนี้ ไปรษณีย์ไทย ไม่ใช้ email ในการติดต่อกับลูกค้า และในการสั่ง หรือส่งสินค้า หรือบริการใดๆ เราก็ไม่ได้กรอกอีเมล์ในการติดต่อกับไปรษณีย์อีกด้วย เมื่อได้รับอีเมล์หลอกลวงดังกล่าว จึงควรตั้งข้อสังเกตไว้ก่อนว่าเป็นอีเมล์หลอกลวง

2. เนื้อหาใน email เป็นภาพที่มีการฝังลิงค์เอาไว้ ไม่ว่าจะกดแตะตรงไหน ก็จะนำไปสู่หน้าที่ให้ชำระเงิน ซึ่งจะบันทึก และนำข้อมูลของเราไปใช้ หรือบิดเบือนจำนวนเงินในการโอนของเรา หรือแม้แต่ล่อลวงให้เรากดยินยอม หรือยืนยันโดยไม่ทันได้สังเกต

กรณีที่เจออีเมล์หลอกลวงในลักษณะนี้ ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่า

  • ให้แจ้งรายงานเป็น phishing หรือ Junk เมล์เพื่อเป็นการป้องกันการได้รับซ้ำอีกแล้วเผลอกด และเพื่อให้ผู้ให้บริการอีเมล์ได้ทราบและกลั่นกรองอีเมล์ในลักษณะนี้อีกทางหนึ่ง
  • ที่สำคัญในยุคที่เราสามารถทำธุรกรรมทุกอย่างออนไลน์ได้ ขอให้ตั้งสติให้ดีก่อนการกดโอน จ่าย หรือกรอกข้อมูลทางการเงินผ่านทางช่องทางที่ไม่คุ้นเคย หรือผ่านทาง url หรือการคลิกลิงค์ที่ไม่ได้รับการตรวจสอบรับรอง
  • นอกจากนี้ยังควรตรวจสอบความปลอดภัยของคอมพิวเตอร์ และการรั่วไหลของข้อมูลเสมอๆ โดยอาจใช้งานโปรแกรมแอนตี้ไวรัสที่ได้รับการยอมรับตรวจสอบหาช่องโหว่ของคอมพิวเตอร์

หากรู้ตัวว่าพลาดกดกรอกข้อมูลไปแล้ว และถูกตัดเงินไป ให้รีบติดต่อธนาคารที่ใช้ทำธุรกรรม เพื่อขอยกเลิกรายการ หรือขออายัดบัตรที่ใช้ไว้ก่อน

Related Posts

Send this to a friend