CRIME

รมว.ยุติธรรม แถลงยึดทรัพย์เครือข่ายยาเสพติด ‘ทุน มิน หลัด’

รมว.ยุติธรรม แถลงยึดทรัพย์เครือข่ายยาเสพติดรายสำคัญ ย้ำ ประชาชนต้องตื่นรู้ เร่ง ขยายผลตรวจสอบ

วันนี้ (2 พ.ย. 65) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานการแถลงผลยึดทรัพย์เครือข่ายยาเสพติดรายสำคัญ ทุน มิน หลัด (Tun Min Latt) และแถลงผลงานการยึดทรัพย์สินคดียาเสพติด รอบ 1 เดือน โดยมี นายวิชัย ไชยมงคล เลขาธิการ ป.ป.ส. นายปิยะศิริ วัฒนวรางกูร รองเลขาธิการ ป.ป.ส. และ พล.ต.ต.โชคชัย งามวงศ์ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ร่วมแถลงผลปฏิบัติขยายผล ยึด อายัดทรัพย์สินเครือข่ายรายสำคัญ ในพื้นที่ 6 จังหวัด รวมมูลค่าทรัพย์สินกว่า 2,000 ล้านบาท ณ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.)

นายสมศักดิ์ ระบุว่า สืบเนื่องจากได้จับกุมคดียาเสพติดในปี 2562 – 2565 ทั้ง 5 คดี ทั้งยาบ้า ล้านเม็ด ไอซ์ และเฮโรอีน โดยได้ขยายผลเพิ่มเติม ยึดทรัพย์สินในระยะแรกกว่า 500 ล้านบาท ต่อมาขยายผลไปต่อที่ ทุน มิน หลัด ชาวต่างประเทศ และเป็นเครือข่ายยาเสพติดรายสำคัญ โดยกลุ่มของ ทุน มิน หลัด มีบริษัทที่เกี่ยวข้อง 3 บริษัท และอาศัยการตั้งชื่อที่ใกล้เคียงกัน เราได้ยึดนาฬิกาหรู กระเป๋าแบรนด์เนมในการดำเนินการระยะแรก แต่วานนี้ (1 พ.ย. 65) มีการเข้ายึดทรัพย์สินเพิ่มเติม

อีกทั้งยังมีผู้ต้องหาที่หลบหนีหมายจับอยู่ 2 ราย คือนายพันณรงค์ ขุนพิทักษ์ และ นางสาวกัลยวีร์ ธีระประภาวงศ์ ที่ยังหลบหนีหมายจับ ซึ่งเป็นผู้ถือครองทรัพย์สินหลักของกลุ่มนิติบุคคล เป็นที่ดิน และอสังหาริมทรัพยในพื้นที่ อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน ต.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ และในจ.สงขลา รวมมูลค่าทรัพย์สินที่ยึดได้ทั้งหมด 1,858 ล้านบาท

“ขณะนี้มีประมวลกฎหมายยาเสพติด ประชาชนหรือข้าราชการต้องตื่นได้แล้ว ไม่ใช่ให้แค่ส่วนกลางตื่น จังหวัดต่าง ๆ ต้องตื่นเพราะมีรางวัลให้ผู้ที่แจ้งเบาะแสจนจับกุมได้ ได้ส่วนแบ่งเงิน 25% จากทรัพย์สินที่ยึดได้ภายในระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี”

นายสมศักดิ์ ระบุต่อว่า ตนเองเชื่อมั่นในวิธีการตัดเส้นทางทางการเงิน เพื่อยับยั้งกระบวนการค้ายาเสพติด และระยะเวลาที่ยังเหลือของรัฐบาลชุดนี้ก็จะทำให้เห็นว่ามีการจับกุม ขยายผลเพิ่มเติมมากขนาดไหน

เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่ค.ร.ม. ประกาศทิศทางชะลอสารตั้งต้น นายสมศักดิ์ ระบุว่า เริ่มต้นชะลอตั้งแต่วันนี้ ถ้าจะส่งออกต้องให้กรมแรงงานทำเอกสารให้เรียบร้อย แจ้งผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งสารตั้งต้นอย่างโซเดียมไซยาไนด์ อาจถูกส่งออกไปเป็นสารตั้งต้นในการผลิตสารเสพติดในประเทศเพื่อนบ้าน และมีการพูดคุยกับประเทศในแถบแม่น้ำโขงเพื่อให้ช่วยกันเฝ้าระวัง

Related Posts

Send this to a friend