BANGKOK

กทม. จัดเสวนาเตรียมพร้อมรับมือแผ่นดินไหว หากเกิดในพื้นที่

วันนี้ (22 ก.พ. 66) กทม. จัดเสวนาวิชาการ “แผ่นดินไหวตุรกี กทม. พร้อมแค่ไหน” เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชน เกี่ยวกับความปลอดภัยของประชาชน และความปลอดภัยของโครงสร้างอาคารหากเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว โดย รศ.ดร.วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดงาน และ รศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นผู้ดำเนินการเสวนา

รศ.ดร.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ วิศวกรอาชีพ นักธรณีวิทยาอาชีพ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธา สาขาวิศวกรรมปฐพีและฐานราก คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ประเทศตุรกีตั้งอยู่ในตำแหน่งที่เสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่เนื่องจากอยู่บริเวณรอยต่อของแผ่นเปลือกโลก ซึ่งประเทศไทยไม่ได้อยู่ในตำแหน่งตามแนวรอยต่อของแผ่นเปลือกโลก แต่ก็ได้รับแรงสั่นสะเทือนจากบริเวณใกล้เคียง อีกทั้งหลายพื้นที่ใน กทม. ยังมีภาวะดินอ่อน

รศ.ดร.สุทธิศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ประเทศไทยมีกลุ่มรอยเลื่อนที่กรมทรัพยากรธรณีสำรวจแล้วว่ามีพลังจำนวน 16 กลุ่มรอยเลื่อน หากพิจารณาจากกรุงเทพเป็นจุดศูนย์กลาง รอยเลื่อนที่ใกล้ที่สุดคือที่เจดีย์สามองค์ จ. กาญจนบุรี ซึ่งแม้จะมีระยะทางที่ห่างไกลจาก กทม. แต่ภาวะดินอ่อนในพื้นที่กทม. ก็สามารถรับรู้จากแรงกระทำจากพื้นที่ห่างไกล และขยายสัญญาณบางอย่างเพื่อทำให้อาคารบางประเภทตอบสนองมากกว่าปกติ โดยเฉพาะอาคารสูง ๆ

ศ.ดร.นคร ภู่วโรดม อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้าน Structural Mechanics and Structural Dynamics กล่าวว่า ปัจจัยของความรุนแรงที่เกิดจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวคือ 1. อาคารที่ตั้งอยู่บนดิน ซึ่งมีการโยกตัวที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับความสูงและลักษณะเฉพาะของแต่ละอาคาร 2. ลักษณะของดิน ทั้งจากจุดที่เกิดแผ่นดินไหวโดยตรง และจุดที่ได้รับผลกระทบ รวมถึง กทม. ที่มีภาวะดินอ่อน

ศ.ดร.นคร กล่าวเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้าปี 2550 อาคารจำนวนมากใน กทม. ไม่ได้รับการออกแบบสำหรับต้านทานแผ่นดินไหว แต่ก็มีความสามารถในการต้านทานในระดับหนึ่ง เนื่องจากต้องออกแบบให้ต้านทานแรงลม แต่ก็ไม่สามารถต้านทานแผ่นดินไหว 100% ซึ่งก็ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนในปัจจุบัน ว่าอาคารกลุ่มใดในกรุงเทพที่ไม่สามารถต้านทานแผ่นดินไหว จึงเสนอว่า ควรมีแนวทางบางอย่างในค้นหาอาคารใน กทม. ว่าอาคารใดมีความเสี่ยงสูง แล้วจึงปรับปรุงอาคารเหล่านั้น เพราะไม่ใช่ทุกอาคารที่มีความเสี่ยงสูง

ดร.ธนิต ใจสอาด วิศวกรโยธาชำนาญการพิเศษ หัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนาอาคาร ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาคาร (ศ.วอ.) สำนักควบคุมและตรวจสอบอาคาร กรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายที่บังคับให้อาคารเก่าได้รับการปรับปรุง แต่ก็มีกฎหมายที่มีลักษณะจูงใจให้เจ้าของอาคารเก่าที่อยู่ในพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว สามารถดัดแปลงหรือเสริมความมั่นคงแข็งแรงของโครงสร้างได้ โดยยังให้สิทธิ์ในเรื่องของกฎหมายเก่าที่เคยได้รับอยู่ ทั้งในเรื่องของพื้นที่ ระยะร่น และอื่น ๆ

นายภุชพงศ์ สัญญโชติ หัวหน้าสถานีดับเพลิงและกู้ภัยลาดยาว กทม. และเป็นหนึ่งในทีมการค้นหาและกู้ภัยในเขตเมือง (Urban Search and Rescue; USAR) จากประเทศไทย ที่ปฎิบัติภารกิจร่วมสนับสนุนให้ความช่วยเหลือผู้ประสบเหตุแผ่นดินไหวที่ประเทศตุรกี กล่าวถึงประสบการณ์ที่ไปช่วยเหลือผู้ประสบเหตุแผ่นดินไหวที่ประเทศตุรกี ว่า หลักการสำคัญในการทำงานของ USAR คือต้องค้นหาสิ่งมีชีวิตโดยวิเคราะห์จากกายภาพภายนอกก่อน จะยังไม่เข้าไปในพื้นที่โดยตรง หลังจากนั้นจึงนำคนเข้าไปในจำนวนน้อย ๆ เพื่อให้เกิดความเสี่ยงน้อยที่สุด หรือใช้สุนัข อย่างเซียร่า และ ซาฮาร่า ที่มีน้ำหนักตัวเบา เข้าไปสำรวจตามซากปรักหักพัง และช่วยดมกลิ่นเพื่อหาสิ่งมีชีวิต

Related Posts

Send this to a friend