‘ชัชชาติ’ ประชุมเตรียมแผนรับมือน้ำท่วม ปี 68 เพิ่มประสิทธิภาพการระบาย
วันนี้ (13 พ.ย. 67) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นัดประชุมเร่งด่วนเพื่อเตรียมรับมือน้ำท่วม ปี 2568 และวางแนวทางการพัฒนาประสิทธิภาพการระบายน้ำโดยงบประมาณปี 2569 ณ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า เขตพระนคร โดยกำชับให้เร่งดำเนินงานตามแผน และให้กำกับดูแลโครงการต่าง ๆ ให้แล้วเสร็จตามระยะเวลา
สำหรับการประชุมวันนี้ สำนักการระบายน้ำได้รายงานสรุปสถานะจุดเสี่ยง รวม 737 จุด ดังนี้
1.จุดเสี่ยงปัญหาน้ำเหนือและน้ำทะเลหนุน 120 จุด
2.ปัญหาน้ำท่วมจากฝนบริเวณถนนสายหลัก (สำนักการระบายน้ำ) 144 จุด
3.ปัญหาน้ำท่วมจากฝนบริเวณถนนสายรอง (สำนักงานเขต) 473 จุด แบ่งเป็นจุดเสี่ยงที่มีมาตรการเร่งด่วน 44 จุด เป็นพื้นที่เอกชนหรือหน่วยงานราชการ 91 จุด อยู่ระหว่างดำเนินการแก้ไข 324 จุด แก้ไขแล้วเสร็จบางส่วน 165 จุด แก้ไขแล้วเสร็จทั้งระบบ 113 จุด
ที่ประชุมยังรายงานถึงโครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม รวม 12 อุโมงค์ ซึ่งแบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ อุโมงค์ระบายน้ำที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ อุโมงค์ระบายน้ำที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง และอุโมงค์ระบายน้ำที่จะก่อสร้างในอนาคต
ประเภทแรก อุโมงค์ระบายน้ำที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ ประกอบด้วย อุโมงค์ประชาราษฎร์ สาย 2 ระบายน้ำ 30 ลบ.ม./วินาที ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 3.5 ตร.กม., อุโมงค์บึงมักกะสัน ระบายน้ำ 45 ลบ.ม./วินาที ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 26 ตร.กม., อุโมงค์คลองแสนแสบ ระบายน้ำ 60 ลบ.ม./วินาที ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 50 ตร.กม. และอุโมงค์คลองบางซื่อ ระบายน้ำ 60 ลบ.ม./วินาที ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 56 ตร.กม.
ประเภทสอง อุโมงค์ระบายน้ำที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง ประกอบด้วย อุโมงค์หนองบอน ระบายน้ำ 60 ลบ.ม./วินาที ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 85 ตร.กม. คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนพฤษภาคม 2569, อุโมงค์คลองเปรมประชากร ระบายน้ำ 60 ลบ.ม./วินาที ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 109 ตร.กม. คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนกุมภาพันธ์ 2571, อุโมงค์คลองแสนแสบส่วนต่อขยาย ระบายน้ำ 30 ลบ.ม./วินาที ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 25 ตร.กม. คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนมิถุนายน 2570 และอุโมงค์คลองทวีวัฒนา ระบายน้ำ 32 ลบ.ม./วินาที ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 60 ตร.กม. คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนกุมภาพันธ์ 2569
ประเภทสาม อุโมงค์ระบายน้ำที่จะก่อสร้างในอนาคต ประกอบด้วย อุโมงค์คลองพระยาราชมนตรี ระบายน้ำ 48 ลบ.ม./วินาที ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 84 ตร.กม., อุโมงค์คลองบางชื่อส่วนต่อขยาย ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 33.6 ตร.กม., อุโมงค์ใต้คลองพระโขนง ระบายน้ำ 20 ลบ.ม./วินาที ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 21 ตร.กม. และอุโมงค์คลองประเวศ ระบายน้ำ 60 ลบ.ม./วินาที ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 30 ตร.กม.
ต่อมารายงานเรื่องแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา กรุงเทพมหานครมีภาพรวมแนวริมแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นระยะทาง 88 กม. โดย 80 กม. เป็นแนวป้องกันของ กทม. และ 3.65 กม. เป็นแนวป้องกันของเอกชนและหน่วยงานราชการ ส่วนอีก 4.35 กม. เป็นแนวฟันหลอ
ผลการดำเนินการแก้ไขปัญหาแนวป้องกันรั่วซึมและแนวฟันหลอ มีโครงการที่แล้วเสร็จและอยู่ระหว่างก่อสร้าง 80 แห่ง ได้แก่ แนวป้องกันของ กทม. ที่รั่วซึม แก้ไขแล้วเสร็จ 45 แห่ง อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 9 แห่ง แนวป้องกันของเอกชนและหน่วยงานราชการ แก้ไขแล้วเสร็จ 1 แห่ง และแนวฟันหลอ แก้ไขแล้วเสร็จ 14 และอยู่ระหว่างการก่อสร้าง 11 แห่ง ที่เหลือเป็นจุดที่ได้รับงบประมาณปี 68 อยู่ระหว่างของบประมาณปี 69 และอยู่ระหว่างสำรวจออกแบบ โดยจุดที่อยู่ระหว่างของบประมาณและยังไม่มีโครงการรองรับ จะเรียงกระสอบทรายป้องกัน
ส่วนพื้นที่รองรับและกักเก็บน้ำ (แก้มลิง) ของกรุงเทพมหานคร มีแก้มลิงที่จัดหาได้แล้ว รวม 37 แห่ง (บึง 33 แห่ง Water Bank 4 แห่ง) ปริมาตรรวมกว่า 13.54 ล้าน ลบ.ม. อยู่ระหว่างก่อสร้าง 3 แห่ง ซึ่งจะแล้วเสร็จในปี 2567 และ 2568 โดยมีปริมาตรรวม 178,000 ลบ.ม. และมีแผนจัดหาเพิ่ม ปีงบประมาณ 2569 จำนวน 9 แห่ง ปริมาตรรวม 502,500 ลูกบาศก์เมตร
ด้านการล้างทำความสะอาดท่อระบายน้ำ ปีงบประมาณ 2567 ท่อระบายน้ำใน กทม. มีความยาวรวม 6,816 กม. แบ่งเป็นท่อในความดูแลของสำนักการระบายน้ำ 2,083 กม. และสำนักงานเขต 4,733 กม. มีแผนล้างท่อเป็นความยาว 4,309.6 กม. ดำเนินงานล้างท่อ 100% ส่วนปีงบประมาณ 2568 ท่อระบายน้ำใน กทม. เพิ่มขึ้น 108 กม. มีแผนล้างท่อ 3,803.6 กม. ปัจจุบันล้างท่อแล้ว 186.5 กม. คิดเป็น 4.9% คงเหลืออีก 3,617.1 กม. คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนพฤษภาคม 2568