กทม. แถลงปิดภารกิจตึก สตง. 15 พ.ค. ส่งมอบพื้นที่ ชี้เป็นภารกิจใหญ่ ที่ต้องร่วมมือกัน
วันนี้ (13 พ.ค. 68) เวลา 11:30 น. ที่กองอำนวยการร่วม นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) แถลงปิดภารกิจการค้นหาผู้สูญหายและรื้อถอนซากอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) อย่างเป็นทางการ โดยระบุว่า กทม. ได้ส่งหนังสือแจ้งการส่งมอบพื้นที่รวม 3 ฉบับ ไปยังหน่วยงานราชการและทหาร, สตง. ในฐานะเจ้าของพื้นที่, และคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้ง (ประกอบด้วย กรมโยธาธิการและผังเมือง และตำรวจพิสูจน์หลักฐาน) กำหนดส่งมอบพื้นที่คืนให้ สตง. ในวันที่ 15 พฤษภาคม เวลา 16:00 น. ส่วนการดำเนินการหลังจากนั้นจะเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
นายชัชชาติ กล่าวว่า แม้ภารกิจหลักของ กทม. จะสิ้นสุดลง แต่ กทม. จะยังคงให้ความช่วยเหลือในพื้นที่หากมีการร้องขอ เช่น เครื่องสูบน้ำ ห้องน้ำ หรือการดูแลความสะอาด พร้อมระบุว่าภารกิจนี้มีเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครกู้ภัยเข้าร่วมปฏิบัติงานเฉลี่ยวันละ 1,100 – 1,200 คน ผู้ว่าฯ กทม. ยังเน้นย้ำว่า ภารกิจครั้งนี้เป็นงานใหญ่ที่ต้องอาศัยความร่วมมือ และแม้จะจบลง ชีวิตก็ต้องดำเนินต่อไป และเชื่อว่าจะต้องเผชิญกับปัญหาที่ต้องร่วมกันแก้ไขอีกในอนาคต
ด้าน รศ. ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ กทม. รายงานความคืบหน้าการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวใน 50 เขต ซึ่งปิดลงทะเบียนไปเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม มีผู้ยื่นเรื่องกว่า 40,000 ราย ส่วนใหญ่เป็นการขอค่าวัสดุซ่อมแซมบ้าน รวมเป็นมูลค่าที่ต้องช่วยเหลือเบื้องต้น 176 ล้านบาท ส่วนค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติงานในพื้นที่ สตง. เฉพาะค่าน้ำมันสำหรับเครื่องจักรกลและรถเครนต่างๆ อยู่ที่ประมาณ 3,000-6,000 ลิตรต่อวัน คิดเป็นค่าใช้จ่ายราววันละ 200,000 บาท หรือประมาณ 10 ล้านบาท ตลอด 50 วัน ยังไม่รวมค่าน้ำมันรถบรรทุก น้ำมันไฮดรอลิก น้ำมันเครื่องปั่นไฟ และค่าซ่อมบำรุงอุปกรณ์ที่เสียหาย ซึ่งคาดว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงมาก
รศ. ทวิดา กล่าวเพิ่มเติมว่า กทม. ได้ขอขยายความช่วยเหลือจากรัฐบาล และปรึกษากรมบัญชีกลางเกี่ยวกับการช่วยเหลือค่าใช้จ่ายด้านน้ำมัน แม้จะได้รับสนับสนุนหลักจาก บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ แต่บางหน่วยงานยังคงมีภาระค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ ยังได้ทำเรื่องขอขยายวัตถุประสงค์การใช้เงินช่วยเหลือ เพื่อพิจารณาความเป็นไปได้ในการมอบเงินตอบแทนหรือชดเชยค่าเสียเวลาให้กับอาสาสมัครภาคเอกชนและกู้ภัย ที่แม้จะมาด้วยใจ แต่ต้องเสียรายได้จากการหยุดงานมาช่วยปฏิบัติภารกิจเกือบ 50 วัน รวมถึงจะพิจารณาช่วยเหลือผู้ประกอบการในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการปิดการจราจรในช่วงแรกด้วย
พล.ต.ต. วาที อัศวุตมางกุร ผู้บังคับการกองพิสูจน์หลักฐานกลาง (บก.พฐก.) รายงานการพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคล ที่สถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ ว่า ได้รับร่างและชิ้นส่วนของผู้เสียชีวิตรวม 89 ราย (ร่าง 80 ราย, ชิ้นส่วน 9 ราย) ปัจจุบันพิสูจน์อัตลักษณ์เสร็จสิ้นแล้ว 86 ราย เป็นชาวไทย เมียนมา กัมพูชา และลาว ยังเหลือชิ้นส่วนที่ไม่สามารถระบุตัวตนได้เนื่องจากรอญาติจากเมียนมา หรือมีปัญหาด้านดีเอ็นเอ ประมาณ 3 ราย โดย พล.ต.ต. วาที ขอให้ญาติไม่ต้องรอที่สถาบันนิติเวชฯ เนื่องจากพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจนครบาล (สน.) บางซื่อ จะเป็นผู้ประสานงานแจ้งให้ทราบเมื่อดำเนินการเสร็จสิ้น ทั้งในส่วนของ 14 ร่างที่รอทยอยส่งมอบ และ 3 ร่างที่เหลือ
ในส่วนของวัตถุพยาน พล.ต.ต. วาที กล่าวว่า ได้เก็บตัวอย่างจากซากอาคารที่ถล่มในทุกโซนที่ กทม. กำหนดเรียบร้อยแล้ว ประกอบด้วยเหล็กเส้น 366 เส้น แท่งคอนกรีต 237 แท่ง รวม 603 รายการ นอกจากนี้ยังเก็บตัวอย่างจากส่วนอาคารที่ไม่ถล่ม เช่น โถงทางเดิน โถงลิฟต์ อีกจำนวนหนึ่ง ทั้งนี้ หลัง กทม. ปิดศูนย์ในวันที่ 15 พฤษภาคม สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะอายัดพื้นที่อาคาร สตง. ที่ถล่ม (ถึง 31 พ.ค.) และพื้นที่กองซากคอนกรีตที่บางซื่อ (ถึง 20 พ.ค.) เพื่อให้กรมโยธาธิการและผังเมืองเก็บตัวอย่างเพิ่มเติม ด้าน น.ส. ฐิตาพรรณ ฉันทโชติ วิศวกรโยธาชำนาญการ กรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวว่า มีแผนจะเก็บตัวอย่างเหล็กเส้นและคอนกรีตคอริ่งเพิ่มเติมจากชิ้นส่วนเสาและบ่อลิฟต์ที่ยังเหลืออยู่ในพื้นที่ สตง. และจากกองซากที่ย้ายไปเก็บไว้บริเวณใกล้ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง