กทม.จ่อชง ครม.ยื่น UNESCO ขึ้นทะเบียน ‘ลอยกระทง’ เป็นมรดกทางวัฒนธรรม
กทม.ชวนคนกรุงลอยกระทงดิจิทัล-ออนไลน์ หวังกระทงโฟมเป็นศูนย์ จ่อชง ครม.ยื่น UNESCO ขึ้นทะเบียน ‘เทศกาลลอยกระทง’ เป็นมรดกทางวัฒนธรรม
วันนี้ (11 พ.ย. 67) กรุงเทพมหานคร จัดงานแถลงข่าวเทศกาลลอยกระทงกรุงเทพมหานคร ประจำปี 2567 ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) โดยปีนี้มีการจัดงานทั่วกรุงเทพฯ มากกว่า 140 จุด ซึ่งมีทั้งงานลอยกระทงแบบดั้งเดิม งานลอยกระทงแบบดิจิทัล และงานลอยกระทงแบบออนไลน์
นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานครได้รวบรวมสถานที่จัดงานลอยกระทงทั้งหมดกว่า 140 จุดทั่วกรุงเทพฯ ถือเป็นเมืองที่มีการลอยกระทงเยอะที่สุดในประเทศไทย เพราะมีทั้งแม่น้ำลำคลอง สวนสาธารณะ แหล่งน้ำชุมชน และสถานที่ของเอกชน หัวใจสำคัญในการลอยกระทงคือ “การลอยกระทงตามประเพณี” ซึ่งมีการนำเสนอในระดับโลก ทั้งนี้อยู่ระหว่างการจัดทำข้อมูลเพื่อขอขึ้นทะเบียนเทศกาลลอยกระทง เป็นมรดกทางวัฒนธรรมกับ UNESCO เช่นเดียวกับเทศกาลสงกรานต์คาดว่าจะเสนอต่อ ครม.ภายในวันที่ 31 มี.ค.68
อย่างไรก็ตามในปีที่ผ่านมา กรุงเทพมหานครพยายามประชาสัมพันธ์ให้ใช้กระทงที่ทำมาจากวัสดุธรรมชาติ แต่ทุกปีก็มีการใช้กระทงโฟมหรือกระทงจากวัสดุที่ย่อยสลายไม่ได้ในสัดส่วนที่มากขึ้น แต่จากสถิติปี 60-66 จะเห็นสัดส่วนของกระทงโฟมลดลง โดยปี 66 พบมีกระทงโฟม จำนวน 20,877 ใบ ทั้งนี้นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ตั้งเป้าไว้ว่าปีนี้กระทงโฟมต้องเป็นศูนย์ ซึ่งต้องร่วมมือกับภาคเอกชน และประชาชนด้วย
ขณะที่บริเวณสวนสาธารณะซึ่งเป็นระบบน้ำปิด ต่อให้เป็นวัสดุธรรมชาติก็ยังมีปัญหา โดยเฉพาะขนมปังที่เป็นแป้งและน้ำตาลเมื่อลงไปในแหล่งน้ำที่เป็นระบบปิด จะทำให้ปลาที่เป็นสัตว์เสียชีวิต จนมีคำกล่าวที่ว่า “ลอยหนึ่งคืน ฟื้นฟูสี่เดือน” กรุงเทพมหานครจึงรณรงค์ต่อเนื่องว่า จะต้องรักษาประเพณีควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อมด้วย
ปีนี้จึงริเริ่ม “การลอยกระทงออนไลน์” ผ่านเว็บไซต์ Greener Bangkok เพื่อช่วยลดปริมาณขยะ สามารถเลือกส่งสาธารณะเพื่อหลายกระทงได้มากกว่าถึง 34 แห่ง นอกจากนี้ ยังจะมีเกมให้ประชาชนได้เลือกพื้นที่เก็บกระทง ตั้งแต่เวลา 17.00 น.ของวันที่ 15 พ.ย.67 จนถึงเวลา 00.00 น.ของวันที่ 17 พ.ย.67 ลุ้นรับของรางวัลรักษ์โลก พร้อมกับจะนับว่าเขตใดเก็บกระทงได้มากที่สุด เพื่อให้ประชาชนตระหนักว่าสิ่งแวดล้อมสำคัญไม่แพ้กับการสืบสานประเพณี
“การลอยกระทงดิจิทัล” ให้ประชาชนออกมานอกบ้านเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ลดขยะ ไม่สร้างมลพิษให้กับสิ่งแวดล้อม โดยปีที่แล้วทดลองจัดลอยกระทงดิจิทัลทีีคลองโอ่งอ่าง ซึ่งได้รับความสนใจจากพี่น้องประชาชนจำนวนมาก จนสมาคมการจัดงานอีเวนต์และเทศกาลนานาชาติให้รางวัล Asia Pinnacle Awards สาขา Best Eco – Friendly Festival จึงนำมาขยายผลจัดลอยกระทงดิจิทัล 4 แห่ง ประกอบด้วย Skywalk สี่แยกปทุมวัน ลานคนเมือง คลองโอ่งอ่าง และสวนสันติภาพ
นายศานนท์ ยืนยันว่าการลอยกระทงประเพณีไม่ได้หายไปอย่างที่หลายคนกังวล เพราะการจัดงานลอยกระทงของกรุงเทพมหานครทั้ง 140 จุด เป็นการลอยกระทงแบบประเพณีดั้งเดิม แต่เราอยากสร้างความตระหนักรู้เรื่องสิ่งแวดล้อม จึงจัดให้ลอยกระทงแบบดั้งเดิมผสมกับการลอยกระทงดิจิทัล เพื่อจะได้ไม่ลืมรากเหง้าของวัฒนธรรม โดยคนรุ่นใหม่มักจะพูดถึงเรื่องมากขึ้นทุกปี หากเราไม่รณรงค์สิ่งแวดล้อม การลอยกระทงตามประเพณีอาจได้รับผลกระทบในระยะยาว คนอาจจะไม่ให้ความสำคัญหรือไม่อยากลอยกระทง จึงมีลอยกระทงนี้ดิจิทัลเป็นทางเลือก
นางวรนุช สวยค้าข้าว รองผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร กล่าวถึงมาตรการ 5 ปลอด แบ่งเป็น “3 ปลอดมลพิษ“ ได้แก่ 1.ปลอดขนมปัง ห้ามลอยกระทงขนมปังในสหรือบ่อน้ำภายในสวนสาธารณะของกรุงเทพมหานคร 2.ปลอดวัสดุไม่ธรรมชาติ ไม่ใช้โฟม เข็มหมุด ตะปู ลวดเย็บกระดาษ 3.ปลอดมลพิษอากาศ ลดการเดินทาง ลอยกระทงในสวนสาธารณะใกล้บ้าน ลดการจุดธูป ”2 ปลอดภัย“ ได้แก่ 1. ปลอดภัยจากประทัด โคมลอย พลุ 2.ปลอดภัยจากโป๊ะ-ท่าเรือ