กทม.ร่วมกับ ภาคีเครือข่าย สร้างแพลตฟอร์ม เติมเต็ม พัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กเปราะบาง
วันนี้ (8 มิ.ย. 66) กรุงเทพมหานคร ร่วมกับ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนานโยบาย (สวน.) จัดงาน “การจัดการร่วมของทุกภาคส่วน เติมเต็มคุณภาพชีวิตเด็ก ให้พัฒนาได้ตามศักยภาพ” เพื่อแถลงผลสัมฤทธิ์ของความร่วมมือ การสร้างสรรค์นวัตกรรมแพลตฟอร์ม “เติมเต็ม: นวัตกรรมพลิกโฉมบริการคุณภาพชีวิตเด็กเปราะบาง”
ทั้งนี้เพื่อสร้างและขยายข่ายงานความร่วมมือ กับหน่วยบริการต่างๆ ในการทดสอบและพัฒนา “ศูนย์รังสรรค์นวัตกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็ก” และขยายผลความร่วมมือ กับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ในระยะถัดไป โดยมีแนวคิดดำเนินการทดสอบ เพื่อขยายผลแพลตฟอร์มเติมเต็ม ให้ครอบคลุม 6 โซน ครบทั้ง 50 เขต
นายชัชชาติ กล่าวว่า “เด็กคือทรัพยากรที่สำคัญของกรุงเทพมหานคร เป็นเจ้าของเมืองและเป็นผู้ขับเคลื่อนเมืองในอนาคต การเติบโตในสภาพแวดล้อมนี้ จำเป็นต้องมีผู้ใหญ่ดูแลอย่างรอบด้าน ปัจจุบันมีเด็กที่อยู่ในสภาวะขาดแคลน หรือมีปัญหาต่างๆทั้งการศึกษา ที่อยู่อาศัย การปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง สุขภาพกายและสุขภาพจิต การขาดสารอาหารและอื่นๆมากมาย ล้วนแต่เป็นประเด็นที่สลับซับซ้อน ซึ่งข้อมูลความต้องการเหล่านี้ หากสามารถส่งผ่านไปยังหน่วยงาน หรือผู้ที่ต้องการให้ความช่วยเหลือได้อย่างถูกต้อง และเป็นไปอย่างต่อเนื่องยั่งยืน จะทำให้เด็กได้รับความช่วยเหลือจากทั้งภาครัฐและเอกชนอย่างครอบคลุม”
สำหรับ “แพลตฟอร์มเติมเต็ม : นวัตกรรมพลิกโฉมบริการคุณภาพชีวิตเด็กเปราะบาง” เป็นการจัดความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ร่วมภาคส่วน ภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง กทม.DGA สสส.และ สวน.ผ่านการจัดกระบวนการร่วมศึกษา ในรูปแบบของ “ศูนย์รังสรรค์นวัตกรรม (Innovation Sandbox)” ภายใต้โครงการพัฒนาแพลตฟอร์ม การบริการแบบแบ่งปันข้อมูลเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต (ระยะที่ 1) กลุ่มเด็กและเยาวชนในครอบครัวเปราะบาง ของกรุงเทพมหานคร ให้สามารถแสดงผลเชิงประจักษ์ ในการประยุกต์ใช้แนวคิด และแนวทางดำเนินการเพื่อการดูแลและคุ้มครองป้องกันเด็ก ตั้งแต่ระยะแรกปรากฏของภัยคุกคาม
มุ่งเน้นให้เห็นถึงผลประจักษ์ ในการคุ้มครองป้องกันเด็ก ต่อการถูกละเมิดสิทธิ์ ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 ตลอดจนให้ตอบสนองต่อนโยบาย การขจัดความยากจน และพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จากผลลัพธ์ดังกล่าวทำให้เกิด การรวมพลังของทุกภาคส่วน ที่เกี่ยวข้องเพื่อจะขยายผล ความร่วมมือที่จะเป็นประโยชน์ กับการดูแลกลุ่มเด็กและเยาวชนในครอบครัวเปราะบาง ได้อย่างครอบคลุม โดยความร่วมมือกับพม.เพื่อให้เกิดกระบวนการจัดบริการทางสังคม ที่ดำเนินการได้แบบไร้ตะเข็บ และการขยายผล Sandbox ออกไปยังในพื้นที่ต่างๆใน 4 ภูมิภาคของประเทศไทย จะเกิดขึ้นในระยะถัดไป
“กรุงเทพมหานครมีเด็กเกิดใหม่ ปีละประมาณ 70,000 คน ในจำนวนนี้จะมีเด็กที่อยู่ในกลุ่มเปราะบาง และด้อยโอกาสอย่างน้อยปีละ 20,000 คน เกิดเป็นโจทย์ว่าจะทำอย่างไร ที่จะเข้าถึงเด็กกลุ่มนี้และทำให้เด็กกลุ่มนี้ เข้าถึงความช่วยเหลือที่เหมาะสม ซึ่งการดำเนินการช่วยเหลือต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อไม่ให้เด็กเหล่านี้ถูกลืม กรุงเทพมหานครและภาคีเครือข่าย จึงได้ร่วมมือกันในการคิดพัฒนาแพลตฟอร์ม สำหรับเก็บข้อมูลและประเมินผลต่าง ๆ เพื่อดูแลเด็กที่อยู่ในกลุ่มเปราะบาง ของกรุงเทพมหานคร โดยความร่วมมือในวันนี้ถือเป็นก้าวแรกที่สำคัญและจะมีก้าวต่อๆไป ในการดูแลคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชน อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ขอขอบคุณทุกภาคส่วน ที่ช่วยกันพัฒนาแพลตฟอร์ม “เติมเต็ม” ขึ้นมา ถือเป็นการลงทุนที่ไม่ได้ใช้ทรัพยากรเยอะ แต่ได้ผลมหาศาล เพราะเด็กจะมีการพัฒนามากในช่วงแรก หรือระหว่าง 0-6 ขวบ ถ้าเราดูแลเขาอย่างดี ให้เขาได้รับการพัฒนาที่เหมาะสมและมีคุณภาพ เขาก็จะเป็นคนที่มาช่วยขับเคลื่อนเมืองต่อไปในอนาคต แต่หากเรารอให้เด็กโต แล้วค่อยไปดูแลก็อาจจะสายเกินไป”
สำหรับข้อกังวลว่าการขยายผลให้ครบ 50 เขต ภายใน 5 ปี จะนานเกินไปหรือไม่ ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า “เป็นเรื่องไม่น่ากังวล เพราะหัวใจของ “ดิจิทัล” คือขยายผลได้ง่าย หากเราทำต้นแบบสำเร็จ การจะขยายผลไปจนครบ 50 เขต ก็จะสามารถทำได้ภายในระยะเวลาไม่นาน ดังนั้นต้องทำต้นแบบให้มีประสิทธิภาพก่อน เพื่อให้มั่นใจว่าต้นแบบที่ทำนั้น สำเร็จและปัญหาต่างๆ ได้รับการแก้ไขอย่างแท้จริง ในเบื้องต้นเรามีระบบ Sandbox ของโรงเรียนอยู่ ก็จะนำมาเชื่อมโยงกัน เพราะอนาคตเด็กในกลุ่มเปราะบาง จะต้องส่งต่อเข้าสู่ระบบการศึกษาปกติ”
ทั้งนี้ตัวอย่างของแพลตฟอร์ม ที่ทำสำเร็จและเปลี่ยนวิธีการทำงาน ของระบบราชการ คือ Traffy Fondue ซึ่งปัจจุบันมีเรื่องร้องเรียนกว่า 300,000 เรื่อง ทุกเรื่องสามารถเห็นได้โดยไม่ตกหล่น และติดตามได้ว่ามีความคืบหน้าในการแก้ไขอย่างไร ดังนั้นแพลตฟอร์มเติมเต็มนี้ อนาคตจะไม่ใช่แค่เรื่องเด็กและเยาวชน แต่จะสามารถขยายผลไปยังเรื่องอื่นๆ เช่น คนพิการ คนไร้บ้าน และกลุ่มเปราะบางอื่นๆต่อไป เพื่อให้ประชาชนทุกคน อยู่อย่างมีศักดิ์ศรีได้รับสิทธิเท่าเทียมกัน
นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงพม.กล่าวว่า “พม.รับดูแลคนทุกช่วงวัย ในวันนี้เราคุยกันเรื่องเด็ก ซึ่งต้องขอขอบคุณกรุงเทพมหานคร DGA สสส.และสวน.ที่ร่วมกันให้ข้อมูลและนำดิจิทัลเข้ามาใช้จนเกิดเป็นแพลตฟอร์ม “เติมเต็ม” ที่สามารถเชื่อมระบบการจัดการ ของเขตเข้ากับระบบของพม. โดยในส่วนของพม.จะมีระบบที่เรียกว่า CPIS (Child Protection Information System) หรือระบบสารสนเทศเพื่อการคุ้มครองเด็ก เพื่อเชื่อมให้เด็กถูกเติมเต็มอย่างแท้จริง ด้วยการใช้ดิจิทัลเข้าไปดูภาวะครอบครัวและประเมินใน 4 มิติ ได้แก่ การเรียนรู้ อาชีพ สุขภาพ และด้านสังคม สิ่งเหล่านี้เป็นพื้นฐานที่จะแก้ปัญหา ทั้งนี้แพลตฟอร์มเติมเต็ม เป็นการเข้ามาลดช่องว่าง ลดเวลาการสูญเสีย และเพิ่มโอกาสของเด็กเหล่านี้ ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งจะทำให้เราได้ประชากรที่ดี ของสังคมในอนาคต”
“สำหรับในภาพรวมประเทศ ระบบ CPIS ในกรุงเทพมหานคร อาจจะเริ่มเพียงไม่กี่หน่วย แต่ระบบ CPIS ในต่างจังหวัดได้มีการคัดกรองเด็กออกเป็นเขียว เหลือง แดง เพื่อแก้ไขปัญหาให้แก่เด็กที่มีความเสี่ยงในมิติครอบครัว และมิติความเสี่ยงที่จะเกิดกับเด็ก นอกจากนี้ยังมีระบบสมุดพกอิเล็กทรอนิกส์ ที่จะมีข้อมูลรายงานการช่วยเหลือปัญหา และบุคคลในครอบครัว บรรจุไว้ประมาณ 700,000 ครอบครัว ซึ่งในอนาคตจะมีการขยายผล เชื่อมกับกรุงเทพมหานครด้วย”
ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการ DGA กล่าวว่า “DGA เป็นหน่วยงานกลางที่พัฒนา เรื่องระบบเพื่อขับเคลื่อนให้เป็นรัฐบาลดิจิทัล บทบาทของ DGA ในความร่วมมือครั้งนี้ จึงเป็นการเข้ามารับทราบปัญหา เกี่ยวกับการดูแลครอบครัวเปราะบาง และร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำนวัตกรรมมาพัฒนา เป็นระบบในลักษณะ Bottom Up คือ แก้ปัญหาจากคนหน้างาน ให้ได้รับประสิทธิผลก่อน จากนั้นนำข้อมูลที่รวบรวมได้ จากกรณีต่างๆไว้บนแพลตฟอร์ม เพื่อให้ พม.และกรุงเทพมหานคร นำไปใช้สำหรับการวางแผนเรื่องทรัพยากร ในการพัฒนาครอบครัวเปราะบางต่อไป เป็นการบูรณาการการทำงาน กับทุกหน่วยงานแบบไร้รอยต่อ ซึ่งจะทำให้นักสังคมสงเคราะห์และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง สามารถแบ่งปันและวางแผนร่วมกัน เพื่อตอบสนองความต้องการของคนในชุมชน และให้การช่วยเหลือแบบรอบด้านได้”
ดร.ประกาศิต กายะสิทธิ์ รองผู้จัดการ สสส. กล่าวว่า “ความยากในการทำงานในเรื่องของเด็ก คือ การทำงานส่วนใหญ่ไม่ได้ทำกับตัวเด็ก เด็กเป็นเพียงกลุ่มเป้าหมาย แต่ลักษณะการทำงานจะต้องทำงานรอบๆตัวเด็ก ซึ่งทำให้มีส่วนงานที่เกี่ยวข้องมากมาย แพลตฟอร์มเติมเต็มจึงเป็นแพลตฟอร์ม ที่ทำให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้รับข้อมูลชุดเดียวกัน เพื่อทำให้การบูรณาการแก้ไขปัญหาของเด็กเกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น”
“การที่เราเริ่มดำเนินการที่ลาดกระบัง ถือว่าเป็น Sanbox ส่วนในลำดับต่อไปจะเป็นการทำ Pilot คือขยายพื้นที่ให้มากขึ้นดูว่าปัญหา แต่ละเขตแตกต่างกันหรือไม่ หากแตกต่างกันก็จะต้องมีการปรับปรุงตัวระบบเพื่อให้ตอบรับและใช้งานได้ดียิ่งขึ้น จากนั้นจึงจะขยายผลให้ครอบคลุมทั่วพื้นที่กรุงเทพฯ และหากประสบผลสำเร็จ ในกรุงเทพมหานครแล้ว ก็สามารถขยายผลไปใช้ทั่วประเทศต่อไป ทั้งนี้แพลตฟอร์มเติมเต็ม มีหลักในการแบ่งปันข้อมูล ระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้องให้สามารถเข้าถึงข้อมูลเดียวกัน มองเห็นปัญหาแบบองค์รวม และเสนอวิธีแก้ไขปัญหา ได้อย่างทันท่วงที เพื่อทำให้ชีวิตของประชาชนได้รับการดูแลอย่างรวดเร็ว และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งในอนาคตก็อาจจะสามารถขยายผลไปด้านอื่นๆได้โดยไม่ยาก”