กทม.สามารถระบายน้ำฝั่งธนฯ ได้เร็วขึ้น แม้ฝนตกหนัก เกิน 60 มม.
กทม.โชว์ศักยภาพ สามารถระบายน้ำฝั่งธนฯ ได้เร็วขึ้น แม้ฝนตกหนัก เกิน 60 มิลลิเมตร
วันนี้ (5 ส.ค. 67) นายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกของกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า เมื่อคืนวันที่ 3 ส.ค. – 4 ส.ค.67 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ฝั่งธนบุรี มีฝนตกหนักในปริมาณค่อนข้างมาก โดยตั้งแต่เวลา 19.45 น. ของวันที่ 3 ส.ค.67 เรดาร์ตรวจพบฝนเล็กน้อยถึงปานกลางปกคลุม จ.นครปฐม จ.ราชบุรี เคลื่อนตัวทิศทิศตะวันออก เข้าปกคลุมพื้นที่เขตทวีวัฒนา หนองแขม ต่อมากลุ่มฝนขยายตัวปกคลุมพื้นที่ฝั่งธนบุรีทั้งหมด ฝั่งพระนครทั้งหมด และหยุดตก เมื่อเวลา 03.20 น. ของวันที่ 4 ส.ค. 67
จากเหตุการณ์ฝนตกดังกล่าวได้ตรวจวัดปริมาณฝนตามจุดต่าง ๆ พบปริมาณฝนสูงสุดที่สถานีคลองดาวคะนอง เขตธนบุรี 79.5 มิลลิเมตร รองลงมาที่สถานีคลองบางจาก เขตบางแค 72 มิลลิเมตร สำนักงานเขตภาษีเจริญ 72 มิลลิเมตร สำนักงานเขตทวีวัฒนา 67 มิลลิเมตร และ สถานีคลองสี่บาท เขตจอมทอง 62 มิลลิเมตร ตามลำดับ ซึ่งจะพบว่าภาพรวมเชิงพื้นที่ฝนในคืนนั้นในพื้นที่ฝั่งธนบุรีล้วนเกิน 60 มิลลิเมตรที่ลักษณะทางกายภาพจะรองรับการระบายน้ำได้ทัน ทำให้หลายพื้นที่เจอปัญหาน้ำท่วมขัง โดยมีรายงานน้ำท่วมขังในถนนสายหลัก จำนวน 4 รายการ คือ ถนนเอกชัย ถนนเพชรเกษม หมู่บ้านเศรษฐกิจ และซอยเพชรเกษม 63 นอกจากนี้ยังได้รับรายงานว่า มีกระแสไฟฟ้าดับที่กระทบต่อสถานีสูบน้ำหรือประตูระบายน้ำ จำนวน 1 รายการ คือ สถานีสูบน้ำข้างธนาคารนครหลวงไทย เขตธนบุรี ไฟฟ้าดับ เวลา 20.40 – 20.50 น.
อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์ดังกล่าวกลับพบว่ามีการเร่งสูบระบายน้ำออกไปได้อย่างรวดเร็วโดยสถานีสูบน้ำคลองพระยาราชมนตรี ซึ่งได้พร่องน้ำรอรับสถานการณ์ไว้ล่วงหน้า ด้วยการพร่องระดับน้ำก่อนฝนตก รักษาระดับน้ำไว้ -1.08 ม.รทก. ซึ่งพอฝนตกลงมาระดับทำให้ระดับน้ำสูงขึ้นมา -0.84 ม.รทก. (น้ำขึ้นมา 20 เซนติเมตร) และสามารถเร่งสูบออกได้ภายใน 30 นาที ซึ่งระดับน้ำก็อยู่ในระดับควบคุมที่ -1.10 ม.รทก.
ดังนั้นจะเห็นได้ว่าในส่วนจุดบริเวณถนนเพชรเกษมนั้น แม้เกิดเหตุเครื่องสูบน้ำมีปัญหา เจ้าหน้าที่สำนักการระบายน้ำก็ได้เร่งเข้าแก้ไขพร้อมกับนำรถสูบน้ำเคลื่อนที่ (รถ Mobile Unit) เข้าสนับสนุนเร่งช่วยสูบน้ำด้วย ทำให้สามารถระบายน้ำได้รวดเร็วและสามารถบรรเทาความเดือดร้อนจากน้ำท่วมขัง