กทม.ซักซ้อมจดทะเบียนสมรสเท่าเทียม 23 ม.ค.นี้ พร้อมให้บริการทั้ง 50 เขต คาดจูงมือจดทะเบียนมากกว่า 300 คู่
วันนี้ (4 ม.ค.68) นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ตรวจเยี่ยมการซักซ้อมเพื่อสร้างความเข้าใจและพัฒนาทักษะการสื่อสารในการปฏิบัติงานจดทะเบียนสมรส ตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 24) พ.ศ. 2567 ที่จะเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ 23 ม.ค.68 ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า)
โดยมีวิทยากรจากคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาเป็นผู้แนะนำ ให้แนวทางในการสื่อสารที่ไม่ทำให้คู่สมรสรู้สึกอึดอัด หรือคำพูดที่ทำให้รู้สึกเหมือนถูกดูถูก เหยียด หรือไม่ได้การอำนวยความสะดวกเพียง เพราะเพศสภาพ ซึ่งผู้เข้ารับการอบรมเป็นหัวหน้าฝ่ายทะเบียน และเจ้าหน้าที่ทะเบียนของสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต จำนวน 100 คน เพื่อเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติงานจดทะเบียนสมรสเท่าเทียม
นายศานนท์ เปิดเผยว่าตั้งแต่ที่ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เข้ารับตำแหน่ง สถานเอกอัครราชทูตหลายแห่งบอกว่า ไทยก้าวหน้าเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ แต่สิ่งที่ล้าหลังที่สุดคือ กฎหมาย วันนี้จึงเป็นโอกาสดีที่กฎหมายไทยจะก้าวหน้าขึ้น ซึ่งทะเบียนสมรสเท่าเทียมไม่ใช่แค่กระดาษเพียงอย่างเดียว เพราะต้องสร้างความเข้าใจให้แก่เจ้าหน้าที่ด้วย ซึ่งเปรียบเสมือนจิ๊กซอว์ตัวสุดท้าย เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่ คงต้องค่อย ๆ ขยับกันไป
ขณะนี้มีความเป็นห่วงเรื่องของระยะเวลาในการจดทะเบียน จึงอยากให้ประชาชนที่ต้องการจดทะเบียนสมรสเท่าเทียม กรอกรายละเอียดและส่งเอกสารล่วงหน้าผ่านลิงก์ https://form.jotform.com/Bangkokpride2024/equal-marriage-registration-confirm?
ปัจจุบันมีประชาชนลงทะเบียนมาแล้ว 100 คู่ แบ่งเป็นที่สยามพารากอน 67 คู่ ส่วนที่เหลือจะอยู่ที่สำนักงานเขต ตั้งเป้าว่าจะมีผู้มาจดทะเบียนสมรสเท่าเทียมในวันดังกล่าวราว 300 คู่ แต่ถ้ามามากกว่านั้นก็ยินดี กรุงเทพมหานครมีความพร้อมอยู่แล้ว
นางละไม อัศวเลิศศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานปกครองและทะเบียน กล่าวว่าเราอบรมเจ้าหน้าที่ 2 รอบ ตั้งแต่วันที่ 25 ธ.ค.67 เพื่อให้ความรู้ทางด้านวิชาการ ส่วนวันนี้เป็นการอบรมเรื่องการให้บริการและการสื่อสาร โดยเอกสารที่ต้องใช้สำหรับคนไทยที่ต้องการจดทะเบียนสมรสเท่าเทียมจะต้องเตรียมบัตรประชาชน หากเคยจดทะเบียนหย่ามาก่อนจะต้องมีหลักฐานการหย่า
ขณะที่ชาวต่างประเทศจะต้องเตรียมสำเนาหนังสือเดินทาง หนังสือรับรองสถานภาพบุคคลจากสถานเอกอัครราชทูต พร้อมแปล และจะต้องเตรียมพยานอย่างน้อย 2 คน ซึ่งการจดทะเบียนสมรสเท่าเทียมไม่มีค่าใช้จ่าย ยกเว้นการจดทะเบียนสมรสนอกสำนักทะเบียน โดยการจดทะเบียนสมรสเท่าเทียมที่สยามพารากอนจะเป็นกรณีพิเศษ มีการเก็บค่าธรรมเนียมจำนวน 20 บาท ต่อคู่
ผศ.ดร.อดิศร จันทรสุข คณบดี และอาจารย์ประจำคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่าสิ่งที่อบรมวันนี้เป็นความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ และวิธีการสื่อสาร หลายครั้งเจ้าหน้าที่มักระบุว่าทำตามหน้าที่ ทำตามกฏหมาย แต่ความจริงมนุษย์ไม่ได้สื่อสารในระดับกฎหมายเท่านั้นแต่มีเรื่องความรู้สึกอารมณ์และความเข้าใจเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ดังนั้นเจ้าหน้าที่ทะเบียนจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก การสื่อสารด้วยความเป็นมิตรการเข้าอกเข้าใจ จะช่วยทำให้การทำงานของกรุงเทพมหานครเป็นไปอย่างราบรื่น
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับคุณสมบัติในการจดทะเบียนสมรสเท่าเทียม ประกอบด้วย
1.บุคคลทั้งสองจะต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ กรณีผู้เยาว์ต้องนำบิดามารดา หรือผู้ปกครองมาให้ความยินยอมด้วย กรณีอายุต่ำกว่า 18 ปี จะต้องได้รับอนุญาตจากศาล
2.เป็นคนวิกลจริต หรือไร้ความสามารถ
3.เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดา หรือร่วมแต่บิดามารดา
4.ไม่เป็นคู่สมรสของบุคคลอื่น
5.ผู้รับบุตรบุญธรรมจะสมรสกับบุตรบุญธรรมไม่ได้
6.หญิงชายผู้เป็นสมรสตาย หรือการสมรสสิ้นสุดลงด้วยประการอื่น จะสมรสใหม่ได้ต่อเมื่อสิ้นสุดการสมรสไปแล้ว ไม่น้อยกว่า 310 วัน เว้นแต่
คลอดบุตรแล้วในระหว่างนั้น
ศาลมีคำสั่งให้สมรสได้
สมรสกับคู่สมรสเดิม
บุคคลที่มีอายุไม่ครบ 18 ปีบริบูรณ์
ศาลอาจอนุญาตให้สมรสได้
มีใบรับรองแพทย์ว่าไม่ได้ตั้งครรภ์