TECH

จุฬาฯ ผนึกเอไอเอส นำเทคโนโลยี 5G เสริมขีดความสามารถหุ่นยนต์อัจฉริยะ ดูแลเฝ้าระวังเชื้อไวรัสโควิด-19 ครั้งแรกของเมืองไทย

บุคลากรทางการแพทย์ และสาธารณสุข เป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ปฏิบัติหน้าที่ดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่ามกลางสถานการณ์ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ท่ามกลางความเสี่ยงต่อการติดเชื้อดังกล่าว

คณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ เอไอเอส โดยนายวสิษฐ์ วัฒนศัพท์ หัวหน้าฝ่ายงานปฏิบัติการและสนับสนุนด้านเทคนิคทั่วประเทศ ร่วมกันพัฒนาการนำเทคโนโลยี 5G และ 4G มาช่วยเสริมขีดความสามารถการทำงานของหุ่นยนต์บริการทางการแพทย์ เพื่อติดตามอาการกลุ่มผู้ถูกเฝ้าระวัง และดูแลรักษาผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นครั้งแรกของประเทศไทย คิดค้นและพัฒนา โดยศ.ดร.วิบูลย์ แสงวีระพันธุ์ศิริ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและหัวหน้าศูนย์ Regional Center of Robotics Technology ศ.พญ.นิจศรี ชาญณรงค์ ผู้อำนวยการศูนย์เชี่ยวชาญครบวงจรโรคหลอดเลือดสมอง ศ.ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หุ่นยนต์บริการทางการแพทย์นี้ เดิมทีคิดค้นขึ้นเพื่อสร้างนวัตกรรมที่จะยกระดับการให้บริการทางการแพทย์ ให้แพทย์สามารถเข้าถึงผู้ป่วยได้โดยไม่ต้องสัมผัสหรืออยู่ใกล้ผู้ป่วย สามารถให้การรักษาและให้คำปรึกษาผ่านทางไกลผ่านระบบ Telemedicine ที่ตัวหุ่นยนต์ เพื่อขยายขีดความสามารถในการดูแลและรักษา

จนปัจจุบันที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทวีความรุนแรงขึ้น จึงได้นำมาดัดแปลงเพื่อช่วยเหลือแพทย์และพยาบาลในการดูแลผู้ติดเชื้อ หรือกลุ่มเสี่ยงเฝ้าระวังการติดเชื้อ ช่วยลดความเสี่ยงให้กับบุคลากรทางการแพทย์ โดยได้ถูกนำไปใช้งานจริงแล้ว 3 แห่ง โดยแบบตั้งโต๊ะใช้ที่ โรงพยาบาลราชวิถี 2 ชุด และโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี 1 ชุด และแบบ Mobile Robot ใช้ที่โรงพยาบาลทรวงอก 1 ชุด โดยยังอยู่ในระหว่างการสร้างจำนวนมากขึ้นและการพัฒนาโปรแกรมใหม่โดยเฉพาะ รวมถึงอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมด้านเครือข่ายสัญญาณ 5G ไปยังสถานพยาบาลในพื้นที่ต่างจังหวัดเพิ่มเติมอีกด้วย

คุณสมบัติเด่นในการใช้งานหุ่นยนต์บริการทางการแพทย์ ในการติดตามอาการกลุ่มผู้ถูกเฝ้าระวังและดูแลรักษาผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้แก่

1. เป็นตัวกลางระหว่างแพทย์ และกลุ่มผู้ถูกเฝ้าระวังหรือผู้ป่วย ให้สามารถสื่อสารโต้ตอบผ่านระบบ VDO Conference ด้วยภาพความละเอียดสูง ช่วยให้แพทย์สามารถคัดกรอง ประเมินความเสี่ยง ตลอดจน การวินิจฉัยโรคเบื้องต้นได้
2. แพทย์ พยาบาล สามารถควบคุม สั่งการการทำงานของหุ่นยนต์ได้จากระยะไกล เช่น ติดตามอาการของผู้ถูกเฝ้าระวังผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยไม่ต้องเข้าไปสัมผัสกับผู้ถูกเฝ้าระวังด้วยตนเอง
3. เชื่อมต่อกับอุปกรณ์วัดและบันทึกสัญญาณชีพ (Vital sign) เช่น วัดความดัน, วัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG), วัดชีพจร, วัดอุณหภูมิ และส่งต่อข้อมูลไปยังแพทย์ เพื่อประเมินผลได้ทันที (ในส่วนของหุ่นยนต์ชุดแรกยังไม่ได้ติดเครื่องวัดสัญญาณชีพนี้)

ความร่วมมือในครั้งนี้ ถือเป็นการร่วมทำงานอย่างต่อเนื่องจาก 4G สู่ 5G ที่จะเสริมประสิทธิภาพการทำงานได้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะระบบการสื่อสารโต้ตอบผ่านกล้อง VDO ความคมชัดสูงที่ช่วยให้การทำงานมีเสถียรภาพ และการตอบสนองที่รวดเร็วของหุ่นยนต์ รองรับจำนวนหุ่นยนต์ที่ทำงานพร้อมกันได้มากขึ้น นับเป็นครั้งแรกของเมืองไทยในการพัฒนาหุ่นยนต์ เพื่อช่วยลดอัตราความเสี่ยงของบุคลากรทางการแพทย์ ในการติดตามเฝ้าระวังอาการ โดยคาดว่า การมาของเทคโนโลยี 5G จะมีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อวงการแพทย์และบริการทางการแพทย์ ในอนาคตอันใกล้นี้

Related Posts

Send this to a friend