TECH

Sasin ชี้เทคโนโลยี ChatGPT ไม่ทำให้คนตกงาน หากรู้จักใช้อย่างถูกวิธี

สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ (Sasin School of Management) เผย ข้อมูล และวิเคราะห์ว่า จะมีงานประเภทไหนบ้างที่จะได้รับผลกระทบ จาก ChatGPT เทคโนโลยี ปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งพัฒนาโดยบริษัทโอเพนเอไอ (OpenAI) ซึ่งกำลังเป็นที่นิยม ผู้ใช้เติบโตเร็วที่สุด มียอดคนเข้าถึงมากที่สุดทั่วโลก โดยมีผู้สมัครใช้งานมากกว่า 100 ล้านผู้ใช้งานในระยะเวลาเพียง 2 เดือนหลังจากมีการเปิดตัว และมีผู้เข้าชมถึง 590 ล้านครั้งในระยะเวลา 1 เดือน เอาชนะ TikTok ที่ใช้เวลา 9 เดือน และ Instagram ที่ใช้เวลาถึง 2 ปี บ้าง หรือไม่

ChatGPT เป็นโมเดลการเรียนรู้ที่มีความสามารถในการสร้างข้อความภาษาธรรมชาติที่คล้ายคลึงกับมนุษย์เขียน ด้วยการใช้เทคนิค Natural Language Generation (NLG) โดย ChatGPT สามารถตอบคำถาม สร้างข้อความ แปลภาษา และทำงานในรูปแบบสนทนาจำลองได้ดี

สำหรับ Chatbot มาจาก “Chat” และ “Robot” หรือซอฟแวร์ที่ทำหน้าที่เหมือนหุ่นยนต์ที่สามารถพูดคุยตอบคำถามได้เหมือนกับการคุยกับคนที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนั้น ๆ ส่วนคำว่า “GPT” มาจาก Generative Pre-trained Transformer ซึ่งเป็น “สมอง” ของโปรแกรม Chatbot นี้ นอกจากนี้คำว่า GPT รวมองค์ประกอบสำคัญ 3 สิ่ง คือ

Generative สะท้อนถึงการเป็น Generative Artificial Intelligence ที่มีความสามารถในการสร้างคำพูด ข้อความ หรือรูปภาพใหม่ ๆ ที่แตกต่าง และไม่ได้อยู่ในชุดข้อมูลที่ใช้สอนซอฟแวร์ปัญญาประดิษฐ์ โดยอ้างอิงการรับคำสั่งจากผู้ใช้งาน ทำให้ ChatGPT เป็นซอฟแวร์ที่มีความ “ครีเอทีฟ” หรือสามารถช่วยงานในด้านที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ได้ดี

Pre-trained สะท้อนถึงลักษณะการสร้างซอฟแวร์ปัญญาประดิษฐ์ที่ถูก “สอนไว้ล่วงหน้า” หรือ “Pre-trained” แทนการสร้างซอฟแวร์ปัญญาประดิษฐ์จากศูนย์ นำไปใช้งานง่ายและรวดเร็ว โดย GPT-3 ซึ่งแบบจำลองปัญญาประดิษฐ์เชิงภาษาและเป็นสมองของ ChatGPT ถูกสอนด้วยข้อมูลมากมายในอินเตอร์เนตในรูปแบบของข้อความที่มากถึง 570 กิกะไบต์ เทียบเท่ากับการนำคำมากกว่า 3 แสนล้านคำมาใช้ในการสอน สมองของ ChatGPT จึง “รู้มาก” และสามารถใช้งานโต้ตอบกับผู้ใช้ได้หลากหลายบริบท

Transformer ซึ่งสะท้อนถึงรูปแบบการ “เรียนรู้เชิงลึก” หรือ Deep Learning หนึ่งในลักษณะเด่นคือความสามารถในการ “รู้จักเลือกจุดสนใจ” ซึ่งจะมีความสำคัญในการสร้างปัญญาประดิษฐ์เชิงภาษา เพราะการที่คนเราจะเข้าใจภาษาได้ดี ต้องรู้จักเลือกจุดสนใจ ตัวอย่างเช่น ในประโยคที่กล่าวว่า “หนังสือที่ฉันซื้อมาเมื่อวาน มันได้หายไปแล้ว” การที่เราจะเข้าใจคำว่า “มัน” ให้ถูก จะต้องรู้จักเลือกจุดสนใจและรู้ว่า “มัน” หมายถึง “หนังสือ” ดังนั้นปัญญาประดิษฐ์เชิงภาษาจึงมีความสามารถทางภาษาที่สูงขึ้นกว่าปัญญาประดิษฐ์เชิงภาษารุ่นก่อน ๆ ค่อนข้างมาก

คำถามต่อมาคือ งานประเภทไหนบ้างที่จะได้รับผลกระทบจากซอฟแวร์ปัญญาประดิษฐ์นี้ บทความนี้อาศัยกรอบแนวคิดจากงานวิจัยของ Erik Brynjolfsson อาจารย์จากมหาวิทยาลัย Stanford (Brynjolfsson and Mitchell, 2017) ที่ถูกตีพิมพ์ในวารสาร Science ซึ่งเป็นวารสารที่มี CiteScore สูงเป็นอันดับที่ 25 ของโลก ซึ่งงานวิจัยชิ้นนี้ สร้างเกณฑ์การประเมินเพื่อพิจารณาว่าซอฟแวร์ปัญญาประดิษฐ์ที่ใช้ Machine Learning (ซึ่ง ChatGPT จัดอยู๋ในประเภทนี้) จะสามารถทำงานหรือกิจกรรมประเภทใดได้ โดยบทความนี้คัดเลือกเกณฑ์การประเมินหลัก 8 ข้อในรูปแบบคำถาม

หากอ้างอิงจากการสำรวจของกรมการจัดหางานถึงสถานการณ์การทำงานในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ.2565 ไตรมาสที่ 3 จะพบว่าประเทศไทยมีผู้ทำงาน 39.6 ล้านคน อยู่ในภาคบริการและการค้า 18.6 ล้านคน ภาคเกษตรกรรม 12.5 ล้านคน และภาคการผลิต 8.5 ล้านคน ซึ่งอาชีพตัวอย่างที่เป็นที่นิยมอย่างมากใน 3 อุตสาหกรรมนี้ ได้แก่ พนักงานขายออนไลน์ เกษตรกร และเจ้าหน้าที่วางแผนการผลิต

อาชีพค้าขายออนไลน์ มีกิจกรรมงานเกี่ยวกับการจัดการกับข้อมูลสินค้าในอินเทอร์เน็ต และการทำหน้าที่ดึงดูดให้คนมาสนใจซื้อสินค้า ซึ่งจากการให้คะแนนตามเกณฑ์นั้น พนักงานขายออนไลน์ได้คะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 3.85 จากคะแนนเต็ม 5 คะแนน และเมื่อลองถาม ChatGPT โดยตรงว่าทำกิจกรรมเหล่านี้ได้หรือไม่ ปรากฏว่า ChatGPT สามารถช่วยรวบรวมข้อมูลที่สำคัญทั้งข้อมูลของผลิตภัณฑ์ การวิเคราะห์ตลาด การเตรียมคอนเทนท์สำหรับการโฆษณาสินค้าหรือการช่วยตอบคำถามลูกค้า อย่างไรก็ดีการเชิญชวน โน้มน้าวใจให้ลูกค้าตัดสินใจเลือกซื้อสินค้านั้นเป็นสิ่งที่ ChatGPT ยังทำไม่ได้ โดยสรุป ChatGPT สามารถทำกิจกรรมงานของอาชีพพนักงานขายออนไลน์ได้ถึง 4 จาก 5 หน้าที่หลัก

อาชีพเกษตรกร ซึ่งจำเป็นต้องใช้แรงงานในการปลูก ดูแลพืช และการจัดการบ้านเรือนกระจก กิจกรรมงานของอาชีพนี้ส่วนใหญ่ใช้แรงงานและงานฝีมือที่ต้องมีการขยับร่างกายเป็นอย่างสูงสำหรับการดูแลผลิตผล โดยคะแนนเฉลี่ยที่ออกมานั้นเท่ากับ 3.07 และเมื่อพูดคุยกับ ChatGPT นั้น มีกิจกรรมที่ ChatGPT ทำได้เพียง 2 จาก 5 กิจกรรมที่เป็นการรวบรวมข้อมูลเพื่อการพัฒนาการปฏิบัติงาน

อาชีพสุดเจ้าหน้าที่วางแผนการผลิต คะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 4.02 และมีกิจกรรมถึง 4 จาก 5 กิจกรรมที่ ChatGPT สามารถช่วยปฏิบัติงานได้เมื่อถาม ChatGPT โดยตรง ซึ่งหนึ่งกิจกรรมที่ ChatGPT ไม่สามารถทำแทนผู้ปฏิบัติงานได้ คือการสื่อสารกับเพื่อนร่วมงาน

จากที่กล่าวมา ChatGPT สามารถช่วยงานได้หลายประเภท อย่างไรก็ดี ความสามารถของ ChatGPT นั้นไม่สามารถทำได้ทุกอย่างตาม job description ดังนั้น มนุษย์ยังคงเป็นผู้ขับเคลื่อนที่สำคัญ แต่ขณะเดียวกัน เราทุกคนควรมองปัญญาประดิษฐ์เป็นเหมือนตัวช่วยเสริมสติปัญญาของเรา และเรียนรู้ที่จะใช้เทคโนโลยีอย่างถูกต้อง โดยไม่ต้องกลัว หรือตกใจกับความสามารถของเทคโนโลยีเลย

Related Posts

Send this to a friend