TECH

‘ดีอี’ ผนึก กสทช.-ตร.-ค่ายมือถือ เปิดแอปฯ ‘DE-fence’ ป้องกันโทร-SMS หลอกลวง ดีเดย์ 1 พ.ค.

วันนี้ (25 เม.ย. 68) นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยถึงการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MoU) สนับสนุนโครงการ “DE-fence platform” (แพลตฟอร์มกันลวง) ระหว่างกระทรวงดีอี, สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.), สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.), ผู้ให้บริการโทรคมนาคม และหน่วยงานพันธมิตรรวม 16 หน่วยงาน เพื่อป้องกันและสกัดกั้นการโทรศัพท์และส่งข้อความสั้น (SMS) หลอกลวงประชาชนจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์

การเปิดตัวแพลตฟอร์มดังกล่าวเกิดขึ้นท่ามกลางสถานการณ์อาชญากรรมทางเทคโนโลยีที่รุนแรง โดยข้อมูลจาก ตร. ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2566 – 31 มีนาคม 2568 มีการแจ้งความคดีออนไลน์ถึง 5.19 แสนคดี มูลค่าความเสียหายกว่า 5.07 หมื่นล้านบาท ซึ่งกลุ่มมิจฉาชีพยังคงพัฒนารูปแบบการหลอกลวงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะผ่านการโทรศัพท์และ SMS

โครงการ DE-fence platform นี้ได้รับการเห็นชอบจากที่ประชุมร่วมหลายหน่วยงานเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2567 เพื่อพัฒนาเป็นเครื่องมือแจ้งเตือนประชาชน ช่วยคัดกรองสายเรียกเข้าและ SMS ที่น่าสงสัย และยืนยันหมายเลขโทรศัพท์จากหน่วยงานสำคัญ เช่น ตำรวจ หรือสถาบันการเงิน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันอาชญากรรมทางเทคโนโลยี

นายประเสริฐ กล่าวว่า แพลตฟอร์มนี้เป็นมาตรการป้องกันการหลอกลวงผ่านการโทรและ SMS ควบคู่ไปกับการบังคับใช้การลงทะเบียนผู้ส่ง SMS แนบลิงก์ ซึ่งต้องระบุตัวตนและรายละเอียดลิงก์ให้เครือข่ายตรวจสอบก่อนส่ง นอกจากนี้ การแยกแยะหมายเลข Blacklist และ Whitelist ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งสถาบันการเงิน ผู้ให้บริการมือถือ กสทช. และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) โดย DE-fence จะทำงานร่วมกับ พ.ร.ก. ป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีฯ และ พ.ร.ก. การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลฯ ฉบับล่าสุด เพื่อลดความเดือดร้อนของประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ

ด้าน นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (สดช.) กล่าวเสริมว่า แพลตฟอร์มนี้จะเชื่อมโยงฐานข้อมูลระหว่างผู้ให้บริการโทรคมนาคม, ตร., ปปง., ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ (AOC) 1441 และกระทรวงดีอี เพื่อแจ้งเตือนความเสี่ยงของสายเรียกเข้าหรือ SMS และตรวจสอบลิงก์ที่แนบมา โดยจะแบ่งการแจ้งเตือนเป็น 3 ระดับ: Blacklist (เบอร์คนร้าย ยืนยันแล้ว), Greylist (เบอร์ต้องสงสัย เช่น โทรจากเน็ต/ต่างประเทศ หรือถูกรายงาน) และ Whitelist (เบอร์หน่วยงานที่ลงทะเบียนและยืนยันแล้ว)

การพัฒนา DE-fence platform ระยะแรกจะเน้นการป้องกันเบอร์โทรและ SMS โดยเฉพาะการขึ้นทะเบียน Whitelist ของหน่วยงานรัฐ ก่อนจะขยายขอบเขตในระยะต่อไป ขณะนี้แพลตฟอร์มอยู่ระหว่างการทดสอบเพื่อรองรับผู้ใช้งานจำนวนมาก โดยจะเปิดให้ประชาชนดาวน์โหลดเวอร์ชันทดลอง (BETA version) ภายใต้ชื่อ “DE-fence” ผ่าน Google Play Store และ Apple App Store ได้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2568 เป็นต้นไป

Related Posts

Send this to a friend

Thailand Web Stat