TECH

เตรียมเปิดทดสอบระบบแจ้งเตือนภัยพิบัติผ่าน Cell Broadcast

ปภ. จับมือ 3 ค่ายมือถือ – กสทช. – ดีอี เตรียมเปิดทดสอบระบบแจ้งเตือนภัยพิบัติผ่าน Cell Broadcast แบ่งเป็น 3 ระดับหลายพื้นที่ทั่วประเทศ เริ่มต้น 2 พ.ค. นี้ เชื่อ รวดเร็วและครอบคลุมทุกพื้นที่

วันนี้ (23 เม.ย. 68) นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย แถลงข่าวการทดสอบระบบแจ้งเตือนภัยผ่านสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือ Cell Broadcast เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมของระบบที่จะใช้เป็นช่องทางหลักในการแจ้งเตือนภัยสู่ประชาชน ร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กรมประชาสัมพันธ์ และผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ประกอบด้วย AIS TRUE และ NT

นายภาสกร กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี และรัฐบาลมีความห่วงใยในเรื่องสาธารณภัยที่เกิดขึ้น โดยสาธารณภัยที่ผ่ามามีความแรงตามลำดับ ทางกระทรวงดีอี กสทช. กระทรวงมหาดไทย หน่วยงานต่าง ๆ และผู้บริการค่ายมือถือทั้ง 3 ค่าย ประกอบด้วย AIS TRUE และ NT ได้ร่วมกันพัฒนาระบบการแจ้งเตือนภัยผ่านสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ ที่เรียกว่า Cell Broadcast เพื่อใช้เป็นช่องทางแจ้งเตือนภัยประชาชนให้เป็นไปด้วยความรวดเร็ว โดยเป็นเทคโนโลยีที่เพิ่มประสิทธิภาพของระบบการแจ้งเตือนที่เข้ามาช่วยแก้ปัญหาเรื่องระยะเวลาในการส่งที่รวดเร็ว และครอบคลุมพื้นที่ในการแจ้งเตือน ทำให้ประชาชนได้รับข้อความแจ้งเตือนจากภาครัฐ และภัยธรรมชาติภายในด้านความมั่นคง หรือการให้ข้อมูลต่าง ๆ ที่จำเป็นได้อย่าวรวดเร็ว เป็นการสร้างความเชื่อมั่นเรื่องเตือนภัยในประเทศให้ประชาชน นักท่องเที่ยว ช่วยให้ประชาชนในพื้นที่ที่แจ้งเตือนภัย สามารถเตรียมความพร้อมรับมือ และวิธีการปฏิบัติตนได้อย่างเหมาะสม โดยการเตรียมความพร้อมของระบบ Cell Broadcast โดยกำหนดวันในการทดสอบระบบแจ้งเตือนภายผ่านระบบสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ในสามระดับ

1.ระดับเล็ก เริ่มทดสอบวันศุกร์ที่ 2 พ.ค. 68 เวลา 13:00 น. ในพื้นที่ศาลากลางจังหวัดเชียงราย ศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี ศาลากลางจังหวัดสุพรรณบุรี ศาลากลางจังหวัดสงขลา และอาคารศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ

2.ระดับกลาง (ระดับอำเภอ) เริ่มทดสอบในวันพุธที่ 7 พ.ค. 68 เวลา 13:00 น. อำเภอเมืองลำปาง อำเภอเมืองขอนแก่น อำเภอเมืองนครสวรรค์ อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี และเขตดินแดง กทม.

3.ระดับใหญ่ (ระดับจังหวัด) จะมีการทดสอบในวันวันอังคารที่ 13 พ.ค. เวลา 13:00 น. เชียงใหม่ อุดรธานี พระนครศรีอยุธยา นครศรีธรรมราช และ กทม. โดยจะมีการกระจายข้อความผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบทุกอำเภอ ทุกจังหวัดเต็มพื้นที่ โดยกำหนดส่งข้อความเป็นสองภาษาคือภาษาไทย และภาษาอังกฤษ

นายภาสกร กล่าวอีกว่า วันนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้เห็นชอบให้ทดสอบระบบ Cell Broadcast ในห้วงเวลาดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 2 พ.ค. เพื่อให้ผู้ให้บริการทั้ง 3 ค่ายมือถือหลัก จะได้ทดสอบทั้ง 3 ระดับ และติดตามประเมินผลปัญหา และอุปสรรคของการส่งสัญญาณในพื้นที่จำกัด หรือพื้นที่ขนาดอำเภอ พื้นที่ขนาดใหญ่ ว่ามีปัญหาอย่างไรบ้าง ก่อนที่ทาง ปภ. จะนำระบบของ Cell Broadcast ไปแจ้งเตือนพี่น้องประชาชนในโอกาสต่อไป

ทั้งนี้ ยังมีการเปิดภาพวิดีโอตัวอย่างของการทดสอบการแจ้งเตือนภัย ซึ่งจะมีการโชว์ข้อความทั้งภาพ และเสียงผ่านจอโทรศัพท์มือถือ

นายภาสกร ยังยอมรับว่า เราก็มีความกังวล เนื่องจากเป็นครั้งแรกที่จะทดสอบ ซึ่งกังวลทั้งการใช้รถ ใช้ถนน โรงพยาบาล โดยได้มีการทำหนังสือแจ้งเตือนไปยังส่วนราชการที่เกี่ยวข้องทั้งหมดให้รับทราบแล้ว และเชื่อว่าในระหว่างนี้ ขอให้ช่วยกันประชาสัมพันธ์ระบบการแจ้งเตือน

นายภาสกร กล่าวอีกว่า ระยะเวลาในการแจ้งเตือน หากเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว โดยหน่วยแรกที่จะรับเรื่องแผ่นดินไหว คือกรมอุตุนิยมวิทยา กองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว ซึ่งจะมีเซ็นเซอร์ภายในประเทศในการรับแรงสะเทือน เมื่อได้รับข้อมูลมายืนยันชัดเจนทางกรมอุตุนิยมวิทยาจะเป็นผู้ส่งสัญญาณไปให้ผู้บริการทั้ง 3 ค่ายหลักของประเทศ โดยใช้ระยะเวลาประมาณ 10 นาที เรามีช่องทางพิเศษระหว่างกัน ซึ่งหากรับข้อมูลได้เร็ว ก็จะแจ้งเร็ว และหลังจากนั้น เป็นหน้าที่ของทาง ปภ. ในการส่งข้อแนะนำการปฎิบัติตนหากเกิด After shock หรือถ้าได้รับการยืนยันว่าปลอดภัยแล้วก็จะส่งข้อมูลแจ้งประชาชนอีกครั้ง พร้อมย้ำว่า แผ่นดินไหวเท่านั้นที่ทางกรมอุตุนิยมวิทยาจะต้องเป็นผู้แจ้งเหตุให้ประชาชนรับทราบเบื้องต้น แต่เหตุการอื่น จะเป็นหน้าที่ของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย

เมื่อถามว่าระบบปฏิบัติการที่ต่างกันของโทรศัพท์มือถือจะสามารถรับการแจ้งเตือนได้ทั้งหมดหรือไม่ นายภาสกร กล่าวอีกว่า ผู้ใช้บริการมือถือทั่วประเทศมี 120 ล้านเลขหมาย เป็นแอนดรอยด์ 70 ล้านเลขหมาย และ IOS 50 ล้านเลขหมาย ซึ่งโทรศัพท์ที่เป็นเวอร์ชั่นใหม่ สามารถใช้ตัว Cell Broadcast Service (CBS) ได้ทันที แต่กรณีที่เป็น 2G หรือ 3G ยังมีพี่น้องประชาชนอยู่ในกลุ่มนี้ประมาณ 2 – 3 ล้านลขหมาย โดยตั้งแต่ตอนนี้หากเกิดภัยพิบัติขึ้นมากองป้องกันบรรเทาสาธารณะภัยจะใช้ระบบ Virtual ซึ่งก่อนหน้านี้จะเห็นข้อจำกัดในการใช้ส่ง SMS ที่จะส่งได้ไม่เกิน 70 ตัวอักษร และระยะเวลาในการส่งค่อนข้างช้า แต่ CBS ส่งค่อนข้างเร็ว และไม่จำกัดตัวอักษร สามารถส่งได้หลายภาษา และเชื่อว่าจะสามารถส่งข้อความแจ้งเตือนได้ภายใน 15 นาที

ส่วนจะควบคุมสาธารณภัยประเภทไหนบ้างนั้นทาง ปภ. มี 7 ประเภทภัย ทั้งอุทกภัย วาตภัย แผ่นดินไหว สึนามิ ภัยหนาว ฝุ่นพีเอ็ม 2.5 เพราะฉะนั้น การตัดสินใจใช้ Cell Broadcasts เพื่อแจ้งเตือนประชาชน หมายถึงเกณฑ์ต้องเป็นไปตามที่มีก่อน ไม่ใช่แจ้งทุกเหตุประเทศไทยเลยส่วนในอนาคตจะมีภัยประเภทต่าง ๆ ทั้งภัยไซเบอร์ ด้านความมั่นคงอาชญากรรมต่าง ๆ เราก็จะเปิดในกรณีนี้ด้วยเช่นเดียวกันให้พี่น้องประชาชนรับทราบ

นายภาสกร กล่าวว่า ปภ. เป็นหน่วยงานกลางของประเทศ ไม่ใช่หน่วยงานผู้เชี่ยวชาญในทุกสาธารณภัย โดยจะมีหน่วยงานต่าง ๆ ในเรื่องดินฟ้าอากาศ อีกหลายงานที่เป็นส่งข้อมูล ตามระเบียบปฏิบัติประจำ (SOP) ที่ทุกหน่วยงานกำหนดร่วมกันมาให้เรา และเราจะออกการแจ้งเตือนทันที ดังนั้น เราจะเป็นการรับช่วงต่อจากส่วนราชการที่แจ้งเตือนต่อ

สำหรับนักท่องเที่ยวที่เปิดโรมมิ่งในประเทศไทย ก็จะเกาะสัญญาณในประเทศ ดังนั้น หากเกาะสัญญาณของเครือข่ายไหน ก็จะได้รับสัญญาณของเราด้วย แต่เนื่องจากเป็นการทดสอบในที่สาธารณะครั้งแรก

ด้านตัวแทนของ AIS กล่าวว่า การแจ้งเตือนแบบ CBS ไม่ได้เป็นการจำกัดหมายเลขที่ใช้ แต่เป็นการตีกรอบพื้นที่ โดยผู้ใช้ที่อยู่ในพื้นที่จะได้รับข้อมูลพร้อม ๆ กันทันที ส่วนระบบปฏิบัติการในมือถือที่แตกต่างกันนั้น ในการทดสอบจะแจ้งเตือนเฉพาะมือถือในระบบ 4G และ 5G ส่วนระบบปฏิบัติการ iOS จะเป็นตั้งแต่ iOS 18 ขึ้นไป ซึ่งหลังจากมีการทดสอบไปแล้ว จะต้องมีการประชาสัมพันธ์ให้มีการอัพเกรดซอฟต์แวร์ ส่วนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์จะเป็นเวอร์ชั่น 11 ขึ้นไป จึงจะสามารถใช้งานได้เลย ส่วนผู้ใช้บริการที่ยังไม่ได้รับการอัพเดทซอฟต์แวร์เราจะช่วยกันประชาสัมพันธ์ให้มีการอัพเดท

ในที่ประชุมยังมีการหารือกับทาง Facebook Thailand และ LINE Thailand เพื่อขึ้นข้อความประชาสัมพันธ์หากเกิดเหตุภัยพิบัติ โดยแสดงผ่านแบนเนอร์ ซึ่งถือเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่เราจะนำมาเสริมในครั้งนี้

Related Posts

Send this to a friend

Thailand Web Stat