AIS จับมือ สช. ขยายผลหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ ปักหมุดโรงเรียนเอกชนกว่า 4,000 แห่ง

AIS พร้อมด้วยภาคีเครือข่ายภาครัฐ ประกอบด้วย กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จับมือกับ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ขยายผล “หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์” ยกระดับจากองค์ความรู้สู่หลักสูตรการเรียนรู้ออนไลน์ สร้างภูมิคุ้มกันภัยไซเบอร์ครั้งแรกของไทย ได้รับรองจากกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมส่งต่อแก่นักเรียน ครู บุคลากรทางการศึกษาในสังกัด สช. มากกว่า 2 ล้านคน ซึ่งเป็นโรงเรียนเอกชนกว่า 4,000 แห่งทั่วประเทศ ให้มีทักษะดิจิทัล และมีความรู้เท่าทันการใช้สื่อโซเชียลอย่างถูกต้อง ปลอดภัย สร้างเด็ก เยาวชนและคนไทยเป็นพลเมืองดิจิทัลที่มีคุณภาพ ยกระดับดัชนีสุขภาวะดิจิทัลให้เป็นไปตามมาตรฐาน
นายมณฑล ภาคสุวรรณ์ เลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการศึกษาเอกชน กล่าวว่า สช.กำหนดแผนยุทธศาสตร์การจัดการศึกษาของโรงเรียนเอกชนให้พร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลโดยตรงต่อการศึกษา โดยเฉพาะความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีที่เด็กและเยาวชนรุ่นใหม่จะต้องใช้ชีวิตอยู่บนโลกออนไลน์ตลอดเวลา ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการใช้งาน และอาจตกเป็นเหยื่อของภัยคุกคามทางไซเบอร์ ดังนั้นจะต้องสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีให้นักเรียนมีองค์ความรู้ในการรับข้อมูลข่าวสารบนโลกออนไลน์ และรู้จักหลีกเลี่ยงภัยไซเบอร์ต่าง ๆ
การจัดอบรมการเรียนรู้หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ เป็นการให้ความรู้แก่ครูและบุคลากรทางการศึกษาในสังกัด สช.ทั่วประเทศ ผ่านระบบ Online และ Onsite เพื่อให้บุคลากรทางการศึกษานำหลักสูตรดังกล่าวไปบูรณาการผ่านการเรียนการสอนแก่นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 และจะขยายผลให้ครู บุคลากรทางการศึกษาและนักเรียนในโรงเรียนสังกัด สช.กว่า 4,000 แห่งทั่วประเทศ รวม 2 ล้านคน เริ่มเรียนรู้เนื้อหาหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ภายในภาคเรียนของปีการศึกษา 2/2566
นางสายชล ทรัพย์มากอุดม หัวหน้าหน่วยธุรกิจประชาสัมพันธ์และธุรกิจสัมพันธ์ AIS กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ AIS ขยายผลนำหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ ส่งต่อไปยังเยาวชน นักเรียน นักศึกษาและประชาชนทั่วประเทศ ทั้งความร่วมมือกับ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ผ่านโรงเรียนในสังกัดกว่า 29,000 แห่งทั่วประเทศ โรงเรียนในสังกัด กทม.ทั้ง 437 แห่ง ขยายไปยังภาคอุดมศึกษา ทั้งมหาวิทยาลัยมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ภาคประชาชนผ่าน สกมช. รวมทั้งกลุ่มผู้สูงวัยในสหพันธ์ชมรมผู้สูงอายุ กทม.และชมรมอินเทอร์เน็ตและคอมพิวเตอร์เพื่อผู้สูงวัย มีผู้เข้าอบรมหลักสูตรแล้วกว่า 3 แสนคน
“การทำงานร่วมกับสำนักงานส่งเสริมการศึกษาเอกชนในครั้งนี้ จะเป็นอีกก้าวสำคัญที่จะทำให้กลุ่มนักเรียนในโรงเรียนเอกชนเข้าถึงเนื้อหาหลักสูตรด้านดิจิทัล เพื่อสร้างทักษะดิจิทัลให้คนไทยมีภูมิคุ้มกัน ไม่ตกเป็นเหยื่อภัยไซเบอร์ และเป็นพลเมืองดิจิทัลที่ดีและมีคุณภาพ” นางสายชล กล่าว