TECH

ถึงเวลาคนตัวเล็กช่วยประเทศ พัฒนานวัตกรรม เตรียมรับการกักตัวที่บ้าน

คนละไม้คนละมือ เพื่อผ่านวิกฤตไปด้วยกัน … บริษัทเอกชน พัฒนาระบบ SelfCheck บันทึกอาการและสัญญานชีพด้วยตัวเอง ไม่มีเงื่อนไข ไม่มีค่าใช้จ่าย ลดภาระบุคลากรทางการแพทย์ เพิ่มประสิทธิภาพการจัดการข้อมูลได้เอง บันทึกข้อมูลผ่านทางไลน์ หรือเว็บไซต์ เริ่ม 16 กรกฎาคม 2564

วรวุฒิ ชุณหพงษ์ (มาร์ค) ผู้ก่อตั้ง บริษัท เวอร์นิตี้ จำกัด ผู้ให้บริการด้าน Health Tech พัฒนาระบบ Selfcheck ให้ผู้ติดเชื้อโควิด-19 หรือผู้กักตัวเพื่อสังเกตอาการสามารถบันทึกอาการ และสัญญานชีพด้วยตนเอง และส่ไปยังโรงพยาบาลที่ดูแลโดยตรง และช่วยลดภาระของโรงพยาบาล โรงพยาบาลสนาม หรือ Hospitel ในการจัดทำ หรือคีย์ข้อมูล

วรวุฒิ เปิดเผยว่า ไอเดียในการทำ SelfCheck เกิดจากการพูดคุยกับ นายแพทย์ ธนวัฒน์ เต็งศิริโกมล โรงพยาบาลบางพลี ที่คิดว่าหากมีระบบที่คนไข้สามารถบันทึกข้อมูลได้เอง และถ่ายโอนมายังโรงพยาบาลได้อย่างรวดเร็ว ก็จะช่วยแบ่งเบาการทำงานของบุคลากรได้มาก และผู้ป่วยเองก็จะสามารถเก็บข้อมูลของตนเองได้ง่าย และเป็นระบบมากขึ้น

“เราจึงลงมือทำในสิ่งที่เราถนัด และเชี่ยวชาญทันที แม้จะเป็นเพียงส่วนเล็กๆ แต่ก็หวังว่าจะช่วยอะไรได้บ้างในสถานการณ์ที่เลวร้ายลงเรื่อยๆ ในปัจจุบัน เพื่อช่วยลดภาระงานของทุกฝ่าย โดยเฉพาะเมื่อเรากำลังจะเข้าสู่จุดที่ต้องทำ Home Isolation ซึ่งการเก็บข้อมูล บันทึกข้อมูลของผู้ป่วย และบุคลากรทางการแพทย์เพื่อประเมินอาการ และช่วยเหลือได้ทันท่วงที มีความซับซ้อนและจำเป็นมากขึ้น” วรวุฒิ กล่าว

ข้อมูลที่สามารถบันทึกผ่าน SelfCheck เป็นข้อมูลจำเป็นสำหรับผู้ติดเชื้อ ได้แก่ ข้อมูลการรักษาทั่วไป เช่นผลการตรวจโควิด ผลฟิล์มเอกซเรย์ บันทึกการทานยา ข้อมูลที่ต้องบันทึกเป็นรายวัน เช่นอาการต่างๆ และ ข้อมูลสัญญานชีพที่ต้องบันทึกทุก 4 ชั่วโมง ซึ่งได้แก่อุณหภูมิร่างกาย อัตราการเต้นของหัวใจ ความดันโลหิต อัตราการหายใจ และระดับออกซิเจน และประมวลผลออกมาตามระดับอาการ ที่จะทำให้เจ้าหน้าที่ของแต่ละโรงพยาบาลสามารถจำแนกผู้ป่วยได้ตามระดับอาการอย่างง่ายดายผ่านแถบสี และสามารถพิมพ์ฟอร์มปรอทได้ทันที ทำให้สะดวก รวดเร็ว ลดภาระการทำงาน และสามารถบันทึกข้อมูลได้จากทุกที่ ทั้งการกักตัวที่บ้าน โรงพยาบาลสนาม Hospitel หรือในโรงพยาบาลเอง

การทำงานของ SelfCheck แบ่งออกเป็น 2 แบบ

  • แบบแรก บุคคลทั่วไปที่ยังไม่ได้เข้าระบบการรักษา อยู่ระหว่างการกักตัว หรือต้องการเก็บข้อมูลอาการของตนเอง สามารถเข้าระบบเพื่อทำการบันทึกข้อมูล และสามารถนำส่งประวัติที่บันทึกไว้ให้กับโรงพยาบาลที่จะเข้าทำการรักษาได้ทันทีเมื่อต้องใช้
  • แบบที่สอง คือการเชื่อมต่อผู้ป่วยกับโรงพยาบาล ซึ่งการทำงานในระบบนี้ โรงพยาบาลจะต้องติดต่อเข้ามาเปิดระบบ (ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ) จากนั้นแจ้งให้ผู้ป่วย เข้าระบบและระบุหมายเลขประจำตัวผู้ป่วย (HN) ให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบอนุมัติ เพื่อถ่ายโอนข้อมูลระหว่างกัน (โดยผู้ป่วยสามารถบันทึกอาการได้เลยระหว่างการรออนุมัติถ่ายโอน

ผู้ใช้งานสามารถเข้าใช้งานโดย Add ไลน์ @SelfCheck และบันทึกข้อมูลผ่านไลน์ได้เลย หรือจะเข้าผ่านทาง Website ก็ได้เช่นกัน โดยแนะนำให้ทำผ่านไลน์เพราะสะดวก และใช้งานง่ายกว่า

“เราห่วงเรื่องความสามารถในการรองรับของ Server เหมือนกันครับ หากมีผู้เข้าใช้งานพร้อมกันในเวลาเดียวกันจำนวนมาก จึงต้องค่อยๆ เปิดเพื่อทดลองระบบ และปรับปรุงไปครับ โดยจะเปิดระบบในวันพรุ่งนี้ (ศุกร์ที่ 16 ก.ค. 64) เวลา 09.00 น. เป็นต้นไป โดยจะเริ่มจากผู้ป่วยของโรงพยาบาลก่อน ซึ่งหากในช่วงแรกมีความติดขัดก็ต้องขออภัยไว้ด้วยครับ เราจะพยายามให้ดีที่สุด เรียนรู้ และปรับปรุงไปพร้อมๆ กันครับ” วรวุฒิ กล่าว

ในส่วนของความปลอดภัย และความเป็นส่วนตัวของข้อมูล วรวุฒิยืนยันว่า ข้อมูลทั้งหมดอยู่บนระบบ Cloud ที่มีมาตรฐานความปลอดภัยสูง เพราะเวอร์นิตี้ทำงานด้าน Health Tech มา 6 ปีแล้ว และได้พัฒนาซอฟต์แวร์ด้านการศึกษาทางการแพทย์ โซลูชั่นสำหรับโรงพยาบาล และการดูแลสุขภาพที่บ้าน ทั้งระดับประเทศ และระดับนานาชาติมาแล้วกว่า 30 โครงการ

โรงพยาบาลที่สนใจสามารถติดต่อผ่านทางไลน์ @SelfCheck หรือ www.vernity.com/selfcheck

หากคนตัวเล็กหลายๆ คนร่วมกันขยับ จับมือกันช่วยเหลือเพื่อหยุดความรุนแรงของสถานการณ์แพร่ระบาด หรือใช้ความถนัดของตนเองมาช่วยแก้ปัญหา เราก็มีความหวังที่จะผ่านสถานการณ์วิกฤตนี้ไปด้วยกัน

Related Posts

Send this to a friend