TECH

กสทช. เผย การควบรวม TRUE-DTAC แนวโน้ม ค่าบริการพุ่ง-จีดีพี ลดลง

สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ วงจำกัด หรือ โฟกัสกรุ๊ป กรณีการควบรวมธุรกิจ ระหว่าง บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) และ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชัน (DTAC) ที่จะทำให้ผู้ประกอบการเหลือ 2 รายใหญ่ พบว่า แม้จะยังมีการแข่งขัน แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะผลทางเศรษฐศาสตร์เป็นไปในทางลบ

นายประถมพงศ์ ศรีนวล เศรษฐกรเชี่ยวชาญ กสทช. ระบุว่า การวิเคราะห์ผลกระทบการควบรวมที่มีต่อเศรษฐกิจโดยรวม พบว่า ในภาพรวมอัตราค่าบริการมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั้งหมด ทั้งบริการพรีเพดและโพสเพด โดยพรีเพดจะมีอัตราเพิ่มที่สูงกว่า ส่วนการประมาณการผลกระทบจากการรวมธุรกิจ พบแนวโน้มที่การรวมกิจการจะมีผลต่อราคา

ทั้งนี้ กรณีไม่มีการร่วมมือกัน ราคาจะเพิ่มขึ้นในช่วง 2.03-19.53% กรณีร่วมมือกันในระดับต่ำ ราคาเพิ่มขึ้นในช่วง 12.57-39.81% กรณีร่วมมือกันระดับสูง ราคาเพิ่มขึ้นในช่วง 49.30-244.50%

ส่วนการศึกษาผลกระทบของการรวมกิจการต่อการเติบโตของ GDP พบว่าระดับความรุนแรงของผลกระทบ ขึ้นอยู่กับระดับการร่วมมือของผู้ประกอบการหลังควบรวม โดยกรณีที่ร่วมมือกันในระดับสูง GDP จะลดลงในช่วง 94,427 – 322,892 ล้านบาท กรณีร่วมมือกันในระดับต่ำ GDP จะลดลงในช่วง 27,148 – 53,147 ล้านบาท กรณีไม่มีการร่วมมือกัน GDP จะลดลงในช่วง 8,244 – 18,055 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังพบว่า กรณีที่ร่วมมือกันในระดับสูง อัตราเงินเฟ้อจะสูงขึ้นในช่วง 0.60% – 2.07% กรณีร่วมมือกันในระดับต่ำ อัตราเงินเฟ้อจะสูงขึ้นในช่วง 0.17% – 0.34% กรณีไม่มีการร่วมมือกัน อัตราเงินเฟ้อจะสูงขึ้นในช่วง 0.05% – 0.12%

สำหรับโฟกัสกรุ๊ปครั้งนี้ เป็นรอบวิชาการครั้งที่ 3 หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้จัดในรอบภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องไป เมื่อวันที่ 9 พ.ค. 65 และกลุ่มคุ้มครองผู้บริโภคและสิทธิพลเมือง จัดไปเมื่อวันที่ 26 พ.ค.65 โดยสำนักงาน กสทช.ได้ตั้งคณะประสานงานอนุกรรมการ 4 คณะ ตามที่บอร์ดได้เคยมีมติไปก่อนหน้านี้ มีนายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการเลขาธิการกสทช.เป็นประธานเพื่อรวบรวมข้อเสนอแนะและความเห็นต่างๆ และรวบรวมผลสรุปจากการทำโฟกัสกรุ๊ปทั้ง 3 ครั้ง สรุปส่งเป็นรายงานให้บอร์ดพิจารณา คาดว่าจะนำเสนอในวาระแรกให้บอร์ดรับทราบได้ ในการประชุมวันที่ 15 มิ.ย. นี้

จากนั้น บอร์ดอาจจะมีข้อคิดเห็นหรือให้เพิ่มรายงานที่เกี่ยวข้องลงไป แต่ขั้นตอนทุกอย่าง จำเป็นต้องแล้วเสร็จภายในวันที่ 10 ก.ค. 65 ซึ่งเป็นกำหนดการทำงานที่บอร์ดได้มีมติไปก่อนหน้านี้ ขณะเดียวกัน บอร์ดยังได้ให้สำนักงาน กสทช.ส่งจดหมายไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อให้ตีความอำนาจของกสทช.ว่า กสทช. มีอำนาจและหน้าที่ในการพิจารณาสั่ง “อนุญาต” หรือ “ไม่อนุญาต” การควบรวมธุรกิจของผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมครั้งนี้หรือไม่ แม้จะมีระบุไว้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 และ พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 มาตรา 27 (11) รวมถึง พระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 มาตรา 21

Related Posts

Send this to a friend