“ในการนำทารกที่คลอดก่อนกำหนดส่งต่อไปยังโรงพยาบาลประจำจังหวัดนั้น ทางโรงพยาบาลแก่งกระจานต้องเตรียมถุงถั่วเขียวสำหรับรักษาอุณหภูมิไม่ให้ต่ำกว่า 36.5 องศาเซลเซียส โดยนำถุงถั่วเขียวไปเข้าไมโครเวฟ 1 นาที แล้วนำมารองไว้ด้านล่างของเตียงทารก นำผ้ามาปูทับอีกชั้น จากนั้นนำผ้าห่อตัวเด็กแล้วย้ายมาไว้ที่เตียง แล้วจึงนำขึ้นรถพยาบาล พร้อมพยาบาลอีก 2 คน เพื่อเดินทางไปโรงพยาบาลพระจอมเกล้า ซึ่งอยู่ห่างไป 50 กิโลเมตร ระยะเวลาประมาณ 45 นาที” นพสิทธิ์ เล่า
ปัญหาหลักที่พบ คือการใช้ถุงถั่วเขียวเพื่อรักษาอุณหภูมิทารกนั้นไม่สามารถให้ความร้อนที่สม่ำเสมอ ที่สำคัญ ยังไม่สามารถควบคุมความร้อนได้ดี อาจทำให้ผิวหนังของทารกไหม้ได้ ยิ่งไปกว่านั้น ในการเดินทางแต่ละครั้ง พยาบาล 2 คนต้องช่วยกันประคับประคองเตียงของทารกไม่ให้ลื่นไถลขณะรถขับไปยังจุดหมาย เพราะด้วยความที่เตียงไม่ได้ออกแบบมาโดยเฉพาะและไม่มีระบบล็อก จึงอาจทำให้เกิดอาการบาดเจ็บได้ทั้งทารกและพยาบาลที่พาไป
“ที่ผ่านมา เราเล็งเห็นถึงความสำคัญของการมีตู้อบเด็กทารกแรกเกิด แต่เมื่อเทียบกับความจำเป็นอื่นๆ ในโรงพยาบาล ก็จำเป็นต้องนำงบประมาณไปจัดสรรในส่วนอื่นก่อน บวกกับปัจจุบันเทคโนโลยีก็ดีขึ้น สามารถตรวจสุขภาพคุณแม่ได้แม่นยำยิ่งขึ้น แต่แก่งกระจานก็ยังเป็นพื้นที่เฝ้าระวังที่มีชนกลุ่มน้อย มีคุณแม่อายุน้อยอยู่มาก ทำให้ปัญหาทารกแรกเกิดยังคงมีอยู่” รอง ผอ.โรงพยาบาลแก่งกระจานกล่าว