SOCIAL RESPONSIBILITY

‘โคคา-โคล่า’ สานต่อความสำเร็จ 17 ปี โครงการรักน้ำ

กลุ่มธุรกิจโคคา-โคล่า ในประเทศไทย เดินหน้าสานต่อโครงการ “รักน้ำ” ที่ทาง “โคคา-โคล่า” ผลักดันแก้ไขปัญหาทรัพยากรน้ำของชุมชนต่าง ๆ ในไทย โดยใช้นวัตกรรมและความร่วมมือจากหลายภาคส่วน เพื่อให้ชุมชนได้มีส่วนร่วมกับการจัดการทรัพยากรน้ำแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน

โครงการ “รักน้ำ” ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 17 ปี โดยได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิโคคา-โคล่า และมูลนิธิโคคา-โคลา ประเทศไทย ดำเนินงานภายใต้ความร่วมมือกับหลายองค์กรพันธมิตร ปัจจุบันได้เข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาน้ำชุมชนใน 9 จังหวัดทั่วประเทษ ได้แก่ จ.บุรีรัมย์ ขอนแก่น สุราษฎร์ธานี มหาสารคาม และกระบี่ ได้รับทุนสนับสนุนจากมูลนิธิโคคา-โคล่าในแอตแลนตา สหรัฐอเมริกา รวมถึง จ.ลำปาง นครสวรรค์ เพชรบูรณ์ และปทุมธานี ได้รับทุนสนับสนุนจากมูลนิธิโคคา-โคลา ประเทศไทย

ภายในงานสัมมนา Sustrends 2025 ซึ่งอัปเดตเทรนด์สิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนประจำปี ผู้แทนจากองค์กรพันธมิตรในโครงการ “รักน้ำ” พร้อมด้วยผู้แทนชุมชนบ้านลิ่มทอง จ.บุรีรัมย์ หนึ่งในพื้นที่โครงการ “รักน้ำ” ร่วมพูดคุยบนเวทีภายใต้หัวข้อ “แลกเปลี่ยน เรียนรู้ กับโครงการ “รักน้ำ” การจัดการน้ำในชุมชนอย่างยั่งยืนด้วยนวัตกรรม” เพื่อแบ่งปันข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับแนวทางความสำเร็จของการจัดการน้ำที่สามารถช่วยให้ชุมชนให้มีทรัพยากรน้ำเพียงพอต่อการอุปโภค บริโภค รวมถึงสร้างความเปลี่ยนแปลงในชุมชนอย่างยั่งยืนต่อเนื่องมากว่า 17 ปี

ศรุต วิทยารุ่งเรืองศรี ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ การสื่อสาร และความยั่งยืน บริษัท โคคา-โคล่า ประจำประเทศไทย เมียนมา และลาว กล่าวว่า ตลอด 17 ปีที่ผ่านมา โครงการรักน้ำ เข้าไปพัฒนาแหล่งน้ำชุมชนซึ่งชาวบ้านในพื้นที่ใช้เพื่ออุปโภค บริโภค และเกษตรกรรม โครงการใช้นวัตกรรมเพื่อการจัดการน้ำในชุมชนอย่างยั่งยืน ซึ่งความสำเร็จของโครงการได้ช่วยให้ชาวบ้านสามารถจัดการน้ำ อนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ และพัฒนาแหล่งน้ำได้ด้วยตนเอง ในปีนี้ได้ต่อยอดความสำเร็จด้วยการขยายโครงการ “รักน้ำ” ไปสู่พื้นที่ใหม่ ๆ ในอีก 3 จังหวัด ได้แก่ จ.มหาสารคาม เพชรบูรณ์ และกระบี่

ดร.รอยล จิตรดอน กรรมการและเลขาธิการ มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า มูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ ร่วมโครงการ รักน้ำ ด้วยการส่งต่อความรู้ให้ชุมชนที่อยู่นอกเขตชลประทานได้ประยุกต์ใช้แนวพระราชดำริด้านน้ำไปพัฒนา ฟื้นฟู และบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน สนับสนุนให้เกิดความร่วมมือทั้งในชุมชน และหน่วยงานภายนอก เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาน้ำอย่างถูกต้องและเหมาะสม

ปัจจุบันสถานการณ์น้ำของประเทศไทยได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ชุมชนจึงจำเป็นต้องปรับตัว และสร้างภูมิคุ้มกันของตนเอง คือมีน้ำสำรองไว้ใช้ในยามขาดแคลน เพื่อลดผลกระทบต่อการทำเกษตรกรรม รวมทั้งส่งเสริมการทำเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ นอกจากนี้ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน. เข้าไปถ่ายทอดการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้านการสำรวจพื้นที่มาพัฒนาแหล่งน้ำ ทำให้น้ำกระจายได้ทั่วทั้งชุมชนตามแรงโน้มถ่วง และทำปฏิทินผลผลิต คำนวนปริมาณน้ำให้เหมาะสมกับการเพาะปลูก

มีชัย วีระไวทยะ ผู้ก่อตั้งและนายกสมาคม สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน (PDA) กล่าวว่า PDA เสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน โดยตระหนักว่าน้ำเป็นทรัพยากรที่สำคัญต่อการดำรงชีวิตของชุมชน เราได้ศึกษาแนวทางพัฒนาชุมชนรูปแบบใหม่ ๆ ที่จะนำไปสู่ความสำเร็จในการแก้ปัญหาน้ำ เช่น โครงการในจังหวัดขอนแก่น ช่วยพัฒนาให้ชุมชนเข้าถึงน้ำได้ดีขึ้น แก้วิกฤตภัยแล้ง และยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวบ้าน ส่งเสริมความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ด้วยการติดตั้งระบบจัดการน้ำที่ใช้พลังงานหมุนเวียน

นอกจากนี้ ยังส่งเสริมการสร้างศักยภาพให้ผู้คนในชุมชน โดยสนับสนุนให้ชุมชนเป็นเจ้าของโครงการ รวมทั้งผลักดันการมีส่วนร่วมและการลงทุนในพลังงานสะอาดของชุมชน ไปจนถึงการบริหารจัดการแหล่งน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อให้มั่นใจว่าโครงการนี้จะประสบความสำเร็จในระยะยาว และสามารถพลิกฟื้นพื้นที่ที่เคยประสบปัญหาภัยแล้งมาอย่างยาวนานให้กลับคืนสู่ความอุดมสมบูรณ์ได้

Related Posts

Send this to a friend