PUBLIC HEALTH

กรมการแพทย์ เตือน โรคติดเชื้อเฉียบพลันระบบหายใจในเด็กช่วงหน้าหนาวอากาศเย็น

วันนี้ (29 พ.ย. 66) แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการแพทย์ แนะผู้ปกครองรับมือ โรคติดเชื้อเฉียบพลันระบบหายใจในเด็ก อาทิ เชื้อไข้หวัดใหญ่ เชื้อ RSV และไวรัสทางเดินหายใจอื่นๆ โดยหมั่นดูแลบุตรหลานใกล้ชิด ในช่วงอากาศหนาวเย็น เช่น การสวมหน้ากากอนามัย หรือการรับวัคซีนตามอายุ เพราะร่างกายอาจปรับตัวไม่ทัน เพราะเชื้อโรคอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นานขึ้น และแพร่กระจายได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะในสถานที่ ที่มีผู้คนอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก เช่น โรงเรียน สถานเลี้ยงเด็ก ซึ่งมีผลกระทบต่อสุขภาพของเด็กๆ ทำให้ป่วยได้ง่ายขึ้น อาจส่งผลต่อการเกิดโรคปอดบวม ปอดอักเสบ ที่เกิดเป็นกลุ่มเสี่ยงได้

แพทย์หญิงอัมพร กล่าวว่า เมื่อเข้าสู่ฤดูหนาว เด็กป่วยเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพราะโรคติดเชื้อเฉียบพลันระบบหายใจ ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสช่วงฤดูฝนที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการระบาดอย่างมาก ของเชื้อไข้หวัดใหญ่ เชื้อRSV และไวรัสทางเดินหายใจอื่นๆ เนื่องจาก 3 ปีที่ผ่านมา ในช่วงการระบาดของโรคโควิด 19 ผู้ใหญ่และเด็กๆ เข้มงวดในการใส่หน้ากากอนามัย ทำให้โรคที่เกิดจากไวรัสอื่นๆ น้อยลงไปด้วย แต่หลังจากมีการผ่อนคลายโรคโควิด 19 เด็กๆ ซึ่งยังไม่มีภูมิต้านทานต่อโรคทางเดินหายใจ หรือ ผู้ใหญ่มีภูมิต้านทานที่น้อย จึงทำให้ปีนี้มีผู้ป่วยโดยเฉพาะผู้ป่วยเด็ก มีการติดเชื้อและระบาดอย่างมาก ของไข้หวัดใหญ่ RSV และโรคทางเดินหายใจอื่นๆ และมีความรุนแรงเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ผู้ปกครองยังต้องเฝ้าระวัง การติดเชื้อไวรัสโควิด 19 ด้วย เช่นเดียวกับที่มีข่าวในประเทศจีน

ด้าน นายแพทย์อัครฐาน จิตนุยานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ กล่าวว่า แนะนำให้ผู้ปกครองเฝ้าระวังป้องกัน โรคติดเชื้อเฉียบพลันระบบหายใจในเด็ก ที่พบในฤดูหนาว โดยให้การดูแล ดังนี้

1.แนะนำให้ใส่หน้ากากอนามัยที่โรงเรียน เด็กเล็กหลีกเลี่ยงที่ชุมชน

2.เด็กทารกควรได้รับนมมารดา รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ สะอาด ปรุงสุกใหม่

3.ล้างมือด้วยสบู่และน้ำให้สะอาด ก่อนรับประทานอาหารทุกครั้ง

4.หลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิด กับผู้ป่วยติดเชื้อโรคระบบหายใจ ผู้ป่วยควรอยู่บ้าน พักรักษาตัวให้หาย ใช้ผ้าเช็ดหน้าปิดปาก ปิดจมูก เวลาไอ จาม

5.หมั่นดูแลรักษาสุขลักษณะที่บ้าน ของเล่น และอุปกรณ์เครื่องใช้ให้สะอาดอยู่เสมอ

6.รักษาร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ สวมเสื้อกันหนาวเพื่อให้ร่างกายอบอุ่น หมั่นดูแลสุขภาพของบุตรหลานให้แข็งแรง โดยการส่งเสริมให้เด็กออกกำลังกาย ให้เหมาะสมกับวัยและพักผ่อนให้เพียงพอ

7.ให้วัคซีนพื้นฐานตามอายุ และเสริมด้วยวัคซีนไข้หวัดใหญ่ วัคซีนป้องกันโควิด 19 ให้กับเด็ก

นายแพทย์ประวิทย์ เจตนชัย แพทย์เชี่ยวชาญระบบหายใจเด็ก ให้ข้อมูลเพิ่มเติม โรคหวัดจากการติดเชื้อไวรัส ในเด็กเล็กอาจมีไข้และน้ำมูก ส่วนในเด็กโตอาจไม่มีไข้ มีอาการไอ น้ำมูกใส และหายได้เอง ไม่ต้องให้ยาปฏิชีวนะ ส่วนโรคไข้หวัดใหญ่ เกิดจากการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ (influenza virus) อาการคล้ายไข้หวัด แต่อาการจะรุนแรงกว่า เช่น มีไข้สูง น้ำมูก ไอ เจ็บคอ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย ซึ่งอาจเกิดภาวะแทรกข้อนตามมาได้ เช่น โรคหอบหืดกำเริบ หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ ให้การรักษาด้วยยาต้านไวรัสเฉพาะ

สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง หรือผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงต่อโรครุนแรง เช่น อ้วน, อายุมากกว่า 2 ปี, มีโรคปอดเรื้อรังหรือโรคหืด, เด็กที่มีภาวะบกพร่อง ทางระบบประสาทอย่างรุนแรง เด็กที่มีพัฒนาการช้า รวมทั้งโรคลมชัก โรคติดเชื้อ RSV เกิดจากการติดเชื้อไวรัส RSV ในระยะแรกอาการจะคล้ายไข้หวัด ไข้ ไอ น้ำมูก ในเด็กโตที่แข็งแรงดีอาการจะไม่รุนแรงและหายได้เอง แต่สำหรับเด็กเล็ก (อายุมากกว่า 2 ปี) ที่มีการติดเชื้อไวรัส RSV มีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการหอบ และโรครุนแรงตามมาได้ เช่น หลอดลมฝอยอักเสบ ปอดอักเสบ

นอกจากนี้เด็กที่คลอดก่อนกำหนด มีโรคหัวใจ โรคปอดเรื้อรัง ก็เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรคที่รุนแรง ไม่ต้องให้ยาปฏิชีวนะ ให้การรักษาตามอาการ เช่น ให้ยาลดไข้ ให้สารน้ำให้เพียงพอ ให้ออกซิเจน พ่นยา ขยายหลอดลม พ่นน้ำเกลือเข้มข้นชนิดพิเศษในผู้ป่วยบางราย

Related Posts

Send this to a friend