PUBLIC HEALTH

เห็นชอบประกาศกำหนดชื่อ หรืออาการสำคัญของโรค เฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุม 4 กลุ่มโรค จาก PM2.5

วันนี้ (24 พ.ย. 66) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุม คณะกรรมการควบคุมโรค จากการประกอบอาชีพ และโรคจากสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 3/2566 โดยมี นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และคณะกรรมการ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ที่กระทรวงสาธารณสุข

ทั้งนี้จากการประชุมฯ คณะกรรมการควบคุมโรค จากการประกอบอาชีพฯ เห็นชอบประกาศกำหนดชื่อ หรือ อาการสำคัญของโรค จากการประกอบอาชีพ และโรคจากสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติม พร้อมรับทราบสถานการณ์โรค จากการประกอบอาชีพ และโรคจากสิ่งแวดล้อม เนื่องจากสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยให้กรมควบคุมโรค เตรียมมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรค จาก 4 กลุ่มโรคที่มากับฝุ่นพิษ ได้แก่ 1.กลุ่มโรคทางเดินหายใจ 2.กลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด 3.กลุ่มโรคตาอักเสบ 4.กลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ โดยเฉพาะในประชาชนกลุ่มเปราะบาง ได้แก่ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ และผู้มีโรคประจำตัว

นพ.โอภาสกล่าวว่า ในวันนี้ที่ประชุมฯ มีการทบทวนและพิจารณา กฎกระทรวงและประกาศกระทรวงจำนวน 8 ฉบับ ได้แก่

1.การกำหนดมาตรฐานการให้บริการ ของหน่วยบริการอาชีวเวชกรรม
2.การกำหนดมาตรฐานการให้บริการ ของหน่วยบริการเวชกรรมสิ่งแวดล้อม
3.การขึ้นทะเบียนของหน่วยบริการ
4.การตรวจสุขภาพของแรงงานนอกระบบ
5.การแจ้งข้อมูลที่จำเป็นเกี่ยวกับการเฝ้าระวัง การป้องกัน หรือการควบคุมโรค จากสิ่งแวดล้อมจากประชาชนที่ได้รับ หรืออาจได้รับมลพิษ
6.คุณสมบัติหน่วยงานอื่นใดของรัฐ ที่จะดำเนินการขึ้นทะเบียน
7.การแจ้งและการรายงานข้อมูล การตรวจสุขภาพของลูกจ้าง และแรงงานนอกระบบ หรือการเฝ้าระวังสุขภาพของประชาชน ที่ได้รับหรืออาจได้รับมลพิษ
8.การเข้าไปในสถานประกอบกิจการของนายจ้าง แหล่งกำเนิดมลพิษ ยานพาหนะ หรือสถานที่ใดๆ ของพนักงานเจ้าหน้าที่ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบทั้ง 8 ฉบับ

และมีมติเห็นชอบเพิ่มเติมใน 2 เรื่องสำคัญ ได้แก่

1.ร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชื่อหรืออาการสำคัญของโรค จากการประกอบอาชีพ พ.ศ. ….

2.ร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชื่อหรืออาการสำคัญของโรคจากสิ่งแวดล้อม พ.ศ. ….

นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังได้รับทราบสถานการณ์โรคและภัยสุขภาพ จากการประกอบอาชีพ และโรคจากสิ่งแวดล้อม พบว่า อัตราการป่วยด้วยโรค จากสารกำจัดศัตรูพืช โรคซิลิโคสิสจากฝุ่นซิลิกา โรคจากแอสเบสตอส โรคจากตะกั่ว ที่เกิดจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม มีแนวโน้มลดลง ส่วนโรคผิวหนังจากการทำงาน และโรคประสาทหูเสื่อม พบผู้ป่วยมากกว่าปีก่อนหน้าเล็กน้อย ส่วนสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 เนื่องจากเริ่มเข้าสู่ฤดูหนาว จึงส่งผลให้แนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น

รวมทั้งในปี 2567 กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า ปรากฏการณ์เอลนีโญ จะส่งผลกระทบให้เกิดปัญหาหมอกควันมากขึ้น กระทรวงสาธารณสุข จึงดำเนินการเฝ้าระวัง ป้องกันโรคให้กับประชาชนอย่างต่อเนื่องโดยมอบหมาย คณะอนุกรรมการด้านวิชาการ จัดทำระบบและแนวทางปฏิบัติ ในการเฝ้าระวัง การป้องกัน และการควบคุมโรคจากสิ่งแวดล้อม

ด้าน นพ.อภิชาต วชิรพันธ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ปัญหามลพิษทางอากาศจากฝุ่น PM2.5 สามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน โดยเฉพาะประชาชนกลุ่มเปราะบาง ได้แก่ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ และผู้มีโรคประจำตัว 4 กลุ่มโรค ได้แก่

1.กลุ่มโรคทางเดินหายใจ ได้แก่ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง และโรคหืด
2.กลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด ได้แก่ โรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน
3.กลุ่มโรคตาอักเสบ
4.กลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ ได้แก่ โรคผื่นลมพิษ และโรคผื่นผิวหนังอักเสบ

หากผู้ป่วยกลุ่มโรคดังกล่าว มีอาการรุนแรงมากขึ้นในช่วงฝุ่น PM2.5 มีค่ามากกว่า 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว

Related Posts

Send this to a friend