กรมวิทย์ฯ เผยผลถอดรหัสพันธุกรรมเชื้อก่อโรคโควิด 19 ในไทย พบสายพันธุ์ JN.1 มีแนวโน้มระบาดเพิ่มขึ้น
วันนี้ (23 ก.ค. 67) นายแพทย์ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ดำเนินการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด 19 ด้วยการถอดรหัสพันธุกรรมจีโนมอย่างต่อเนื่อง โดยขอความร่วมมือจากทุกโรงพยาบาล ให้ส่งตัวอย่างผู้ที่มีผลตรวจเป็นผลบวก 5-10 ตัวอย่างต่อสัปดาห์ เพื่อดำเนินงานเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด 19 แสดงสัดส่วนสายพันธุ์กลายพันธุ์ระดับประเทศ และตรวจจับสายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงต่อระบบสาธารณสุข
ทั้งนี้ สถานการณ์สายพันธุ์โควิด 19 ทั่วโลกจากฐานข้อมูลกลาง GISAID ณ ปัจจุบัน พบสายพันธุ์ JN.1 มากที่สุดในสัดส่วน 47.1% มีอัตราการพบที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ KP.2 และ KP.3 พบสัดส่วน 22.7% และ 22.4% ตามลำดับ ซึ่งมีอัตราการพบที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยทั้งสองสายพันธุ์นี้ เป็นสายพันธุ์ที่องค์การอนามัยโลกกำหนดให้เป็นกลุ่มที่ต้องจับตามอง ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2567 เป็นต้นมา
สำหรับประเทศไทย สายพันธุ์ JN.1 มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น และกลายเป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดในปัจจุบัน เป็นสายพันธุ์ย่อยของสายพันธุ์ BA.2.86 ซึ่งกลายพันธุ์เพิ่มเติมบนโปรตีนส่วนหนามตำแหน่ง L455S และ F456L เพิ่มความสามารถในการหลบภูมิคุ้มกันอย่างมีนัยสำคัญ โดยทั่วโลกมีรายงานพบสายพันธุ์ JN.1 จำนวน 181,628 ราย จาก 115 ประเทศ ขณะที่ประเทศไทยพบสายพันธุ์ JN.1 จำนวน 716 ราย คิดเป็นสัดส่วนสะสม 41.10% ของสายพันธุ์ทั้งหมดที่พบในประเทศไทย
นายแพทย์ยงยศ กล่าวต่อว่า ข้อมูลการถอดรหัสพันธุกรรมเชื้อก่อโรคโควิด 19 จากห้องปฏิบัติการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข ในรอบ 30 วัน ระหว่างวันที่ 24 พฤษภาคม – 26 มิถุนายน 2567 จำนวน 182 ราย พบสายพันธุ์ JN.1 จำนวน 110 ราย คิดเป็นสัดส่วน 60.4% สายพันธุ์ KP.2 และ KP.3 (สายพันธุ์ย่อย JN.1.11.1) จำนวน 37 ราย และ 22 ราย คิดเป็นสัดส่วน 20.3% และ 12.1% ตามลำดับ และพบสายพันธุ์ JN.1.7 และ JN.1.18 สายพันธุ์ละ 2 ราย คิดเป็นสัดส่วน 1.1%
นอกจากนี้ ข้อมูลจากห้องปฏิบัติการในรอบ 6 เดือน (เดือนมกราคม-มิถุนายน 2567) พบว่าสายพันธุ์ JN.1 เป็นสายพันธุ์หลัก โดยสายพันธุ์ KP (KP.1, KP.2, KP.3, KP.4 และ KP.5) ซึ่งเป็นสายพันธุ์ย่อยของสายพันธุ์ JN.1 ที่ต้องจับตามอง พบในสัดส่วนน้อยกว่า 10% สำหรับสายพันธุ์ EG.5 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ย่อยของ XBB.1.9.2 พบสัดส่วนลดลงอย่างต่อเนื่อง กระทั่งเดือนพฤษภาคมถึงปัจจุบันไม่พบสายพันธุ์ EG.5