PUBLIC HEALTH

ผลสำรวจ ชี้ คนไทยส่วนใหญ่มอง ‘ความอ้วน’ เป็นเรื่องรูปลักษณ์มากกว่าปัญหาสุขภาพ ทั้งที่รัฐใช้เงินกว่า 4.9% ของ GDP รักษา

สมาคมเครือข่ายโรคไม่ติดต่อไทย ชี้ โรคอ้วนเป็นปัญหาเรื้อรังในไทย สร้างภาระทางเศรษฐกิจให้ประเทศถึง 4.9% ของ GDP หลังต้องจ่ายค่าเป็นค่ารักษา ขณะที่ผลสำรวจการรอบรู้ด้านสุขภาพของคนไทยปี 2566 พบว่าคนไทยมองความอ้วนเป็นเรื่องของรูปลักษณ์ ความงาม มากกว่าเข้าใจว่าเป็นเรื่องของโรคที่ส่งผลต่อสุขภาพระยะยาว

รศ.นพ.เพชร รอดอารีย์ นายกสมาคมเครือข่ายโรคไม่ติดต่อไทย (Association of Thai NCD Alliance) เปิดเผยในงานประชุมวิชาการประจำปี 2567 หัวข้อ Stop Obesity, Preventing NCDs: The Move to New Ecosystem เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และหาแนวทางในการป้องกันและควบคุมโรคอ้วนและโรค NCDs มุ่งผลักดันเชิงนโยบายและการจัดสรรงบประมาณเพื่อแก้ปัญหาอย่างเหมาะสม ว่า โรคอ้วนเป็นปัญหาที่เรื้อรังมาอย่างยาวนาน และยังสร้างภาระทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทย คิดเป็น 4.9% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) หรือประมาณ 8.52 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่ต้องรักษาโรคอ้วน ยิ่งเผชิญกับปัญหา Climate Change และฝุ่น PM 2.5 ซึ่งทำให้กลุ่มผู้ป่วยโรคอ้วนและกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ได้รับผลกระทบและอาจมีอาการทรุดหนักมากยิ่งขึ้น

นพ.ศุภฤกษ์ สื่อรุ่งเรือง ผู้อำนวยการกองนวัตกรรมบริการและสุขภาวะ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เปิดประเด็นจากผลสำรวจการรอบรู้ด้านสุขภาพของคนไทย (Health Literacy) ปี 2566 จากกลุ่มคนไทยที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป มีความรอบรู้ด้านสุขภาพเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ยาและสุขภาพน้อยที่สุด ขณะที่คนไทยส่วนใหญ่มองว่า ‘ความอ้วน’ เป็นเพียงแค่รูปร่างหน้าตา ความสวยงาม หรือรูปลักษณ์ภายนอก มากกว่าที่จะเข้าใจว่า ‘ความอ้วน’ คือ ‘โรค’ และส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาว ขณะที่บางรายอาจเริ่มกังวลถึงเรื่องสุขภาพเมื่อมีน้ำหนักตัวเกิน 100 กิโลกรัมขึ้นไป

นพ.กฤษฎา หาญบรรเจิด ผู้อำนวยการกองโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ให้ข้อมูลว่า กรมควบคุมโรครณรงค์สร้างการรับรู้ให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ว่า ‘ความอ้วน’ คือโรคภัย ก่อให้เกิดความเสี่ยงและนำมาสู่โรคร่วมและโรคแทรกซ้อนอีกหลายโรค ซึ่งมี อสม.หลายแห่งที่มีการพัฒนาสู่รูปแบบในการลดน้ำหนักที่ดีขึ้น เชื่อว่า อสม.จะเป็นอีกพลังสำคัญในการขับเคลื่อนงานด้านสาธารณสุขของประเทศในระดับชุมชนท้องถิ่น

ปัจจุบันกลุ่มบุคลากรด้านสาธารณสุขมีการรับรู้เรื่องโรคอ้วนมากขึ้น ที่ผ่านมามีหลายโครงการพูดถึง ‘ความอ้วนกับภาวะอินซูลิน’ แต่สิ่งที่อยากให้สร้างความตระหนักรู้เพิ่มขึ้น คือ ความอ้วนกับอันตรายต่าง ๆ ที่จะตามมา เช่น ความอ้วนที่สัมพันธ์กับโรคมะเร็ง โดยต้องการให้มีการเผยแพร่และสร้างการรับรู้ในวงกว้างมากขึ้น

รศ.นพ.ดิลก ภิยโยทัย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจและเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาล มอง 2 ประเด็นหลัก ในการดูแลโรคอ้วน คือ

1.การรับรู้ในเชิงทางคลินิก (clinical) มีการรับรู้มากขึ้นว่าโรคอ้วนเป็นสาเหตุก่อให้มีโรคร่วม ทั้งเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ความดัน และก่อให้เกิดโรคแทรกซ้อน ซึ่งคนไข้ต้องปฏิบัติเพื่อลดความเสี่ยงควบคู่กับการใช้ยา โดยแพทย์จะรักษาควบคู่กันไป แต่ต้องอาศัยสหสาขาวิชาชีพอย่างน้อย 5 สาขาหลักมีส่วนร่วมในการรักษา ทั้งนักโภชนาการ นักกายภาพบำบัด หมอกระดูก หมอหัวใจ และหมอโรคปอดและทางเดินหายใจ

2.การจัดสรรงบประมาณ (Budget Allocation) มองว่าการรักษาโรคในกลุ่มเมทาบอลิก (Metabolic Syndrome) จะมียอดค่าใช้จ่ายสูง และค่ายาจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค และมักพบปัญหาในการเบิกค่าใช้จ่ายไม่ได้ หรือต้องสำรองจ่ายเอง กลายเป็นปัญหาเนื่องจากค่าใช้จ่ายเฉพาะค่ายาในกลุ่มโรคดังกล่าวสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศ ดังนั้นรัฐควรมีนโยบายที่ชัดเจนในการจัดการกับปัญหาโรคอ้วน

รชตะ อุ่นสุข ผู้อำนวยการควบคุมงานกฎหมาย กรมบัญชีกลาง มองว่านโยบายเชิงสุขภาพไม่สามารถตอบโจทย์การควบคุมโรคอ้วนได้ทั้งหมด เนื่องจากส่วนใหญ่เกิดจากพฤติกรรมและไลฟ์สไตล์ของบุคคล ฉะนั้น ‘นโยบายด้านสุขภาพ’ ไม่สามารถอยู่ภายใต้กระบวนการของกระทรวงสาธารณสุข หรือกระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง ต้องทำในเชิงมหภาคเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมมนุษย์ ซึ่งภาครัฐควรมีนโยบายหรือกลไกเพื่อกระตุ้นให้คนไทยอยากมีสุขภาพดี

รศ.นพ.ดิลก กล่าวว่า ภาครัฐควรแก้ปัญหาให้ตรงกลุ่ม แบ่งเป็น 3 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มที่มีสุขภาพดี มีเงินคืน, กลุ่มที่มีภาวะโรคที่สามารถจะช่วยตัวเองได้ ให้ความรู้และแนวทางการปฏิบัติ และกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง ต้องเข้าถึงการรักษาและเข้าถึงยาให้ได้ หากภาครัฐใช้แนวทางนี้ จะเกิดความยุติธรรมและเกิดความสมดุล เช่น กำหนดใช้ค่า BMI ที่สูงเพื่อเป็นตัวชี้วัดสำหรับผู้ป่วยโรคอ้วน จะทำให้ผู้ป่วยโรคอ้วนเข้าถึงการรักษาได้และยังช่วยลดความเสี่ยงของโรคต่าง ๆ ได้

Related Posts

Send this to a friend

Thailand Web Stat