PUBLIC HEALTH

‘รพ.พระปกเกล้า’ ยกระดับศูนย์รักษามะเร็งครบวงจร

เปิดจุดปฏิบัติการจีโนมิกส์ไทย พร้อมพัฒนาตั้งเป็นศูนย์จีโนมแห่งแรกของภาคตะวันออก

“การแพทย์จีโนมิกส์ (Genomic Medicine)” หรือ การแพทย์แม่นยำ เป็นการนำเทคโนโลยีมาใช้อ่านลำดับสารพันธุกรรม เพื่อช่วยให้แพทย์ประเมินความเสี่ยง วินิจฉัย และพยากรณ์โรคจากรหัสพันธุกรรมของมนุษย์ (Human Genome) เพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยโรค ติดตามอาการ การค้นหาเชื้อที่เป็นสาเหตุของโรคได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการคัดเลือกยา การออกแบบการรักษา หรือการเฝ้าระวังความรุนแรงของโรค ซึ่งจะช่วยให้แต่ละคนรู้ว่าควรจะดูแลร่างกายตนเองอย่างไร รวมถึงรู้ความเสี่ยงที่จะนำไปสู่การเกิดโรค ป้องกัน และหลีกเลี่ยงผลที่จะเกิดขึ้น โดยองค์ประกอบของการแพทย์จีโนมิกส์จะประกอบไปด้วย 5 องค์ประกอบ คือ การเก็บตัวอย่าง การหาลำดับชุด DNA การวิเคราะห์ การแปลผล และการประยุกต์ใช้ ซึ่งทั้งหมดจะสามารถต่อยอดไปถึงการแพทย์แม่นยำที่ช่วยให้รักษาผู้ป่วยได้ตรงจุดมากขึ้นในอนาคต

สำหรับการแพทย์จีโนมิกส์ในไทย จะเห็นได้ว่า กำลังมีพัฒนาการที่เป็นรูปธรรมมากขึ้นในปีนี้ โดยได้รับความร่วมมือจากทั้งภาครัฐ และเอกชน ซึ่งการถอดรหัสพันธุกรรมคนไทย โดยการแพทย์จีโนมิกส์ในไทยเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2562 ภายหลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบ “แผนปฏิบัติการบูรณาการจีโนมิกส์ไทยแลนด์ พ.ศ. 2563-2567 (Genomics Thailand)” สนับสนุนการจัดทำข้อมูลพันธุกรรมของคนไทย 50,000 ราย มาประยุกต์ใช้ทางการแพทย์และสาธารณสุข โดยมีกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เป็นหน่วยงานกลาง ในการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการบูรณการจีโนมิกส์ประเทศไทย โดยจะมุ่งเป้าถอดรหัสพันธุกรรมในกลุ่มอาสาสมัครตัวอย่าง 50,000 ราย ซึ่งการถอดรหัสพันธุกรรมครั้งนี้มุ่งเป้าใน 5 กลุ่มโรคนำร่องในการถอดรหัสพันธุกรรม ประกอบด้วย กลุ่มโรคมะเร็ง โรคที่ไม่ได้รับการวินิจฉัยและหายาก โรคติดเชื้อ โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง และกลุ่มเภสัชพันธุศาสตร์ (กลุ่มผู้ป่วยที่มียีนแพ้ยา) ซึ่งเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศ

จากการเริ่มโครงการที่ผ่านมา สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) มีการจ้างถอดรหัสพันธุกรรม ภายใต้โครงการพัฒนาศูนย์บริการทดสอบทางการแพทย์จีโนมิกส์ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งจัดตั้งขึ้นภายในคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา และจัดจ้างร่วมกับการค้าไทยโอมิกส์ หลังจากนั้นข้อมูลดีเอ็นเอจะถูกบรรจุอยู่ในระบบที่จัดเตรียมเอาไว้ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และจะถูกส่งต่อไปที่ธนาคารชีวภาพแห่งชาติ (National Biobank of Thailand: NBT) ของสำนักงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เพื่อทำการจัดเก็บ วิเคราะห์ และประมวลผลรหัสพันธุกรรมที่ได้มาไปประยุกต์ใช้ทางการแพทย์และสาธารณสุข โดยในขณะนี้เงินลงทุนส่วนใหญ่ของรัฐบาล จะมุ่งเน้นไปที่เทคโนโลยีการจัดเรียงและจัดเก็บคลังข้อมูล DNA โดยมีเป้าหมาย 50,000 ราย ในการถอดรหัสพันธุกรรมใน 5 กลุ่มโรค

ด้าน นพ.ภาสกร วันชัยจิระบุญ ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านศูนย์ความเชี่ยวชาญระดับสูง สาขามะเร็ง ศูนย์ความเป็นเลิศด้านมะเร็ง โรงพยาบาลพระปกเกล้า จ.จันทรบุรี กล่าวถึงการร่วมเป็นส่วนหนึ่งในโครงการจิโนมิกส์ไทยว่า เนื่องจากเดิมทีมีการจัดตั้งศูนย์มะเร็งทีโรงพยาบาลพระปกเกล้าอยู่แล้ว ซึ่งปริมาณผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งพบว่ามีปริมาณที่เพิ่มสูงขึ้นทุกปี และพบมีผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งตั้งแต่ยังอายุน้อย เช่น มีผู้ป่วยโรคมะเร็งตั้งแต่อายุ 15 ปี หลายราย ซึ่งการที่จะทำให้ทราบได้ถึงสาเหตุการเกิดมะเร็งหนึ่งในนั้นคือเกิดจากพันธุกรรม และต้องได้รับการตรวจยีนเพื่อให้ทราบผล แต่ปัญหา คือ ค่าใช้จ่ายในการตรวจยีนมีราคาที่สูง โดยเฉพาะในคนต่างจังหวัดถือว่าเป็นราคาที่สูงมาก

ดังนั้น เมื่อโครงการจิโนมิกส์ไทย ได้รับงบประมาณจากรัฐบาล และมีเทคโนโลยีที่พร้อม ทำให้มีความสนใจและต้องการเข้าร่วม ซึ่งโรงพยาบาลพระปกเกล้าเป็นหนึ่งในโรงพยาบาลที่มีความพร้อมด้านบุคลากร แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และมีห้องแล็ปที่สามารถเก็บข้อมูลได้ จึงทำให้มีห้องปฏิบัติการจีโนมิกส์ของตนเองขึ้นมา โดยบทบาทหลักของโรงพยาบาลพระปกเกล้า คือ เป็นศูนย์เก็บเลือดและให้คำแนะนำแก่คนไข้ และเดิมทีเป็นศูนย์ที่ใช้ตรวจพันธุกรรมในโรคมะเร็งที่ตรวจไม่ยากนักเป็นของตนเอง (เช่น โรคมะเร็งปอด มะเร็งเม็ดเลือด มะเร็งลำไส้) ทั้งนี้ โครงการพัฒนาศูนย์บริการทดสอบทางการแพทย์จีโนมิกส์ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก จะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงระบบสาธารณสุขไทยครั้งสำคัญ ซึ่งจะเกิดประโยชน์กับประเทศในเชิงของการศึกษาวิจัย และการนำเทคโนโลยีขั้นสูงมาใช้ในทางการแพทย์ เพื่อช่วยในการวินิจฉัย รักษา และป้องกันโรค ได้อย่างแม่นยำมากขึ้น โดยในอนาคตจะจัดตั้งศูนย์จีโนมแห่งแรกของภาคตะวันออก ณ โรงพยาบาลพระปกเกล้า จ.จันทรบุรี

ทั้งนี้ ตัวอย่าง DNA ที่ทำการถอดรหัสพันธุกรรมแล้วจะถูกส่งไปยังธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เพื่อทำการจัดเก็บ และแปลงเป็นข้อมูลที่พร้อมสำหรับการนำไปใช้ในการวิเคราะห์ วิจัย และการพัฒนาต่อยอด เพื่อประโยชน์ทางด้านการแพทย์และสาธารณสุข การวินิจฉัย การเลือกวางแผนการรักษาให้แก่ผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมไปถึงการทำนาย โอกาสการเกิดโรคต่างๆ ได้อย่างแม่นยำและมีคุณภาพมากขึ้นต่อไป

Related Posts

Send this to a friend