กรมการแพทย์ ใช้หุ่นยนต์ฝึกเดิน ช่วยผู้ป่วยทางระบบประสาท-ผู้พิการ ฝึกทักษะการเคลื่อนไหว
วันนี้ (17 พ.ย. 66) แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการแพทย์ เผย กรมการแพทย์ ได้นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีหุ่นยนต์ฝึกเดิน (Robotic assisted gait training) มารักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพ เพื่อให้ผู้ป่วยทางระบบประสาท ตลอดจนผู้พิการ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะการเพิ่มการทรงตัว และความมั่นคงในขณะเดิน ซึ่งทำให้ผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าว มีส่วนร่วมในสังคมได้อย่างบุคคลทั่วไป ทั้งนี้ได้นำมาใช้ใน 2 หน่วยงาน ได้แก่ สถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพ ทางการแพทย์แห่งชาติ และโรงพยาบาลประสาทเชียงใหม่
แพทย์หญิงอัมพร กล่าวว่า ตามนโยบายสำคัญและเร่งด่วน “Quick Win” ของนายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในประเด็น High Medical Technology ที่มุ่งเน้นพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยี การดูแลรักษาผู้ป่วยโรคต่างๆ ซึ่งกรมการแพทย์มีภารกิจ ดูแลรักษาและฟื้นฟูด้านร่างกาย จึงมีความห่วงใยและเห็นความสำคัญ โดยเฉพาะการเจ็บป่วย จากโรคทางระบบประสาท
จึงได้นำเทคโนโลยีสารสนเทศด้านการแพทย์ มาปฏิรูประบบการทำงานของโรงพยาบาล เพื่อให้ผู้สูงอายุและคนพิการไทย ได้รับการดูแลอย่างเป็นระบบและทั่วถึง เข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพ และส่งเสริมการใช้บริการทางการแพทย์ ด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งหนึ่งในเทคโนโลยีที่นำมาใช้ คือ เครื่องหุ่นยนต์ฝึกเดิน (Robotic assisted gait training) เป็นเทคโนโลยีที่ใช้เพิ่มการทรงตัวและความมั่นคง ในขณะเดินให้แก่ผู้ป่วย คนพิการ โดยกรมการแพทย์มีการนำมาใช้ ใน 2 หน่วยงาน ได้แก่ สถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ และโรงพยาบาลประสาทเชียงใหม่
แพทย์หญิงภัทรา อังสุวรรณ ผู้อำนวยการสถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ กล่าวว่า การฝึกเดินด้วยเครื่องหุ่นยนต์ฝึกเดิน (Robotic assisted gait training) เป็นเทคโนโลยีที่ทันสมัย ในการฝึกทักษะการเคลื่อนไหวเรื่องการเดิน ใช้ฟื้นฟูผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ผู้ป่วยบาดเจ็บสันหลัง ผู้ป่วยเด็กสมองพิการ และผู้ป่วยพาร์กินสัน เป็นต้น โดยผู้ป่วยจะได้ฝึกเดินบนสายพานเลื่อนที่ มีโครงพยุงน้ำหนักตัวและมีขาของหุ่นยนต์ ปะกบกับขาของผู้ป่วย ซึ่งขาของหุ่นยนต์ จะขับเคลื่อนด้วยระบบคอมพิวเตอร์ คอยควบคุมการเคลื่อนไหว ของข้อสะโพกและข้อเข่า ทำให้ผู้ป่วยเดินด้วยจังหวะและท่าทาง
การเดินคล้ายธรรมชาติ ซึ่งคล้ายคลึงกับการทรงตัว ที่เกิดขึ้นจริงในชีวิตประจำวัน มีความถูกต้องตามรูปแบบการเดินมากที่สุด ปลอดภัย และสามารถฝึกฝนซ้ำๆ ได้อย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน เป็นการกระตุ้นการเรียนรู้การเคลื่อนไหว ทำให้ผู้ป่วยสามารถพัฒนารูปแบบ การเดินและเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อขาได้มากขึ้น โดยมีการฝึกเดิน 3-5 ครั้งต่อสัปดาห์ ระยะเวลาในการฝึกครั้งละ 30 -45 นาที โดยประมาณ 12-20 ครั้ง ของการรักษาจะเห็นการเปลี่ยนแปลง
แพทย์หญิงศศิธร ศิริมหาราช ผู้อำนวยการโรงพยาบาลประสาทเชียงใหม่ กล่าวว่า กรมการแพทย์ โดยโรงพยาบาลประสาทเชียงใหม่ ได้นำเทคโนโลยีหุ่นยนต์ฝึกเดิน (Robotic Gait Training) มาให้บริการเป็นแห่งแรกในภาคเหนือ เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือ ที่มีอัตราผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองสูงเป็นอันดับ 1 จาก 5 อันดับของโรคทางระบบประสาท สามารถเข้าถึงและรับบริการทางการแพทย์ที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมกัน โดยเปิดให้บริการเมื่อปี พ.ศ.2562 จนถึง ณ ปัจจุบัน มีผู้รับบริการ รวมทั้งสิ้น 2,391 ครั้ง และผู้รับบริการมีความพึงพอใจ คิดเป็นร้อยละ 97
ทั้งนี้การฝึกเดินด้วยหุ่นยนต์ฝึกเดิน ร่วมกับการฝึกทางกายภาพบำบัด มีแนวโน้มที่จะทำให้ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง กลับมาเดินได้เองมากกว่า การฝึกทางกายภาพบำบัดเพียงอย่างเดียว และทำให้การทรงตัวดีขึ้น นอกจากนี้ในกลุ่มผู้ป่วยบาดเจ็บไขสันหลัง ผู้ป่วยเด็กสมองพิการ มีผลทำให้การทรงตัวในการยืน และการย้ายตัวของผู้ป่วยดีขึ้น