PUBLIC HEALTH

หน.ศูนย์จีโนมฯ รพ.รามา ยืนยัน ยังไม่พบ “Deltacron” ในไทย

หลังสื่อต่างชาติรายงาน พบผู้ติดเชื้อ 25 รายที่ไซปรัส จากเชื้อกลายพันธุ์ระหว่างเดลต้าผสมโอมิครอน อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ย้ำไม่อยากให้ตื่นตระหนก

วันนี้ (9 ม.ค. 65) ศ.เกียรติคุณ วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ยืนยันว่า ฐานข้อมูลกลางโควิด-19 โลก หรือ GISAID ยังไม่พบรายงานดังกล่าว เป็นเพียงการส่งต่อข้อมูลในสื่อต่างๆ โดยการส่งข้อมูลเข้า GISAID จะต้องเป็นข้อมูลที่ผ่านการตรวจสอบคุณภาพและได้รับการยืนยัน มีหน้างานที่ควบคุมคุณภาพรหัสพันธุกรรม ก่อนส่งเข้าไปในฐานข้อมูลกลาง

ศ.เกียรติคุณ วสันต์ ระบุว่า ไม่นานจากนี้คงจะได้ทราบแน่ชัดกันแล้วว่ามีการเกิดขึ้นของลูกผสม หรือไฮบริด ระหว่างเดลต้ากับโอมิครอน หรือที่ระบุชื่อกันว่า “เดลตาครอน” หรือไม่ หากมีจริงจะถือเป็นตัวแรกของโลกที่เป็นลูกผสมระหว่างโคโรนาไวรัสด้วยกัน

ศ.เกียรติคุณ วสันต์ เพิ่มเติมว่า จากการติดตามข้อมูลผ่านสื่อต่างๆ ขณะนี้มีทั้งระบุว่าเป็นลูกผสมหรือบางส่วนระบุว่าเป็นเพียงการมี 2 สายพันธุ์ในคนเดียวกัน แต่ไม่ใช่ลูกผสม ซึ่งประเทศไทยก็เคยเกิดกรณีที่แคมป์ก่อสร้าง จากการพบคนหนึ่งมีทั้งสายพันธุ์แอลฟาและเดลต้าในเวลาเดียวกัน เป็นไปได้ แต่มีไม่มาก ส่วนที่ระบุว่าพบเดลตาครอนถึง 25 ตัวอย่าง ก็ยังน่าสงสัย เพราะการเกิดลูกผสมเป็นเรื่องยากมาก แต่ก็ต้องรอความชัดเจนอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม เทคนิคการถอดรหัสพันธุกรรมไวรัส มีการถอดทั้งแบบสายสั้นที่สามารถถอดรหัสพันธุกรรมได้ประมาณ 300 ตำแหน่ง และแบบสายยาวที่สามารถถอดรหัสพันธุกรรมได้ถึง 2,000-3,000 ตำแหน่ง การถอดแบบสายสั้นอาจจะได้ข้อมูลไม่จำเพาะ บางครั้งตัวอย่างที่ส่งตรวจอาจปนเปื้อนของเชื้อทั้ง 2 สายพันธุ์ ทำให้การวิเคราะห์ผิดพลาดได้

ด้าน นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ขณะนี้ในประเทศไทยยังไม่มีข้อมูลเรื่องนี้ ขอเวลาตรวจสอบก่อนว่าเป็นข่าวจริง หรือรายงานอย่างเป็นทางการหรือไม่ ขอให้ทุกคนใจเย็น ไม่อยากให้ตื่นตระหนกเกินไป

Related Posts

Send this to a friend